Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

5 เทคโนโลยีน่าจับตาเพื่อแก้ไขมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

6 พ.ย. 2020
SHARE

ปัญหามลพิษทางอากาศ (Air Pollution) กลายเป็นสิ่งที่แทบทุกคนบนโลกจำเป็นต้องเผชิญกับมันในทุกๆ วัน ทั้งปัญหาจากมนุษย์ เช่น ฝุ่นควันจากรถยนต์ การเผาขยะ และโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนมลพิษที่เกิดจากธรรมชาติอย่างไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟ หรือการหมักหมมของก๊าซในพื้นที่ต่างๆ

สาเหตุนั้นเองทำให้นานาชาติต่างต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขมลพิษทางอากาศนี้ให้ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนทั่วไปทั้งทางตรงและทางอ้อม จะมีอะไรบ้างลองมาดูกัน

เทคโนโลยีสากลเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

ยานยนต์ไฟฟ้า

ชื่อของยานยนต์ไฟฟ้านั้นอาจดูไม่ว้าว ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ แต่ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงแล้วการทำให้คนทั่วไปใช้งานเทคโนโลยีนี้เป็นวงกว้างจนส่งผลดีได้ชัดเจน (Critical Mass) นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก 

ทว่าก็มีบางประเทศที่สามารถทำได้ เช่น ประเทศจีน ที่ดำเนินการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแข็งขัน โดยลดการจัดเก็บภาษียานพาหนะไฟฟ้าและเพิ่มภาษีรถยนต์ใช้น้ำมัน รวมถึงสนับสนุนกระบวนการต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการจัดการพาหนะไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า สถานีสลับแบตเตอรี่ โดยมีผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าช่วงปี 2562 ไปถึง 1.2 ล้านคัน จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่จีนจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

มลพิษทางอากาศ

อีกหนึ่งประเทศที่โดดเด่นคือ ประเทศไต้หวัน กับการเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์แทบทั้งเมืองให้กลายเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สร้างมาตรฐานขับขี่ของผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับสนับสนุนการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะอีกด้วย

รองลงมาคือประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่แม้ว่าจะมีผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง Tesla แต่ก็ยังไม่สามารถกระจายการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าออกไปได้มากนัก อาจจะด้วยสาเหตุต้นทุนราคาที่สูงอยู่

สำหรับประเทศไทยเองก็มีแนวคิดการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายว่าไทยจะเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2578 และมีรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 15.5 ล้านคัน และปัจจุบันมีการสนับสนุนแท่นเติมพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง

Autonomous vehicles พาหนะอัตโนมัติ 

ระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในแง่ความสะดวกสบาย แต่รู้หรือไม่ว่าระบบนี้ก็ส่งผลกระทบต่อพลังงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานฟอสซิล

โดยการทำงานของรถยนต์ระบบอัตโนมัตินั้นมีข้อดีที่ความเสถียรในการขับขี่ ไม่จำเป็นต้องเร่งความเร็วกะทันหันเพื่อเผาผลาญพลังงานมาก ส่งผลให้การจราจรในระบบมีความไหลลื่นมากขึ้น โดยคาดว่าการขับขี่ของระบบอัตโนมัติจะช่วยประหยัดพลังงานที่รถยนต์ใช้งานไม่น้อย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาอย่างแน่นอน

โดยการทำงานของรถยนต์ระบบอัตโนมัตินั้นมีข้อดีที่ความเสถียรในการขับขี่ ไม่จำเป็นต้องเร่งความเร็วกะทันหันเพื่อเผาผลาญพลังงานมาก ส่งผลให้การจราจรในระบบมีความไหลลื่นมากขึ้น โดยคาดว่าการขับขี่ของระบบอัตโนมัติจะช่วยประหยัดพลังงานที่รถยนต์ใช้ 15-40% เลยทีเดียว ซึ่งส่งผลโดยตรงกับมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาอย่างแน่นอน 

ต้นไม้เทียมเพื่อการฟอกอากาศ

แนวคิดนี้ถูกพัฒนาด้วย BiomiTech สตาร์ทอัพจากเม็กซิโก ที่สร้างเครื่องฟอกอากาศในรูปแบบคล้ายคลึงกับต้นไม้ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่าต้นยูคาลิปตัส 368 ต้น รวมทั้งมีความสามารถดักจับฝุ่นในตัวด้วย

โดยทางผู้พัฒนาระบุว่าไม่ได้ต้องการให้เจ้าต้นไม้เทียมนี้มาแทนที่ต้นไม้แต่อย่างใด แต่อุปกรณ์ดังกล่าวตอบโจทย์การติดตั้งในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด และมีการใช้งานรถยนต์รวมถึงการสร้างมลพิษมาก

ในตอนนี้มีการติดตั้งต้นไม้ฟอกอากาศในเพื่อการทดลองแล้ว 3 ต้น ในเม็กซิโก โคลอมเบีย และปานามา คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้มากขึ้นและกลายเป็นอีกเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคต

เทคโนโลยีหลังคาดักฝุ่น

บริษัทด้านอุตสาหกรรมอย่าง 3M ก็มีเทคโนโลยีเพื่อสู้กับควันพิษเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทได้ทำการดีไซน์หลังคารูปแบบใหม่ที่เคลือบสารพิเศษซึ่งทำปฏิกริยากับแสงยูวี เมื่อกระทบกับแสงอาทิตย์จะทำให้เกิดการดักจับสารเคมีจากหมอกควันรอบๆ และเปลี่ยนเป็นของเหลว โดยของเหลวดังกล่าวจะสามารถชำระล้างได้ในภายหลัง

ปัจจุบันหลังคาชนิดดังกล่าวยังอยู่ในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยทางทีมพัฒนากล่าวว่าโดยเฉลี่ยแล้วบ้านหนึ่งหลังจะสามารถขจัดมลพิษได้เทียบเท่ากับต้นไม้สามต้นเลยทีเดียว

Biosolar Leaf

ผลงานจากการจับมือกันของสตาร์ทอัพ Arborea และ มหาวิทยาลัย Imperial College จากลอนดอน ในการสร้างแผงฟอกอากาศรูปร่างใบไม้ที่ใช้ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนเป็นออกซิเจนโดยเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืชร่วมกับการใช้งานของเหลวที่สกัดจากสาหร่ายและแพลงตอน

มลพิษทางอากาศ

ขอบคุณรูปจาก atlasofthefuture.org

ในการพัฒนานี้ไม่ใช่แค่การ “สร้างใบไม้เทียม” แต่เป็นการ “เพิ่มประสิทธิภาพ” ซึ่งทางทีมงานระบุว่าการใช้งาน BioSolar ขนาด 2.5 ไร่ สามารถสร้างอากาศที่ดีขึ้นได้เทียบเท่ากับป่าพื้นที่ 250 ไร่เลยทีเดียว

“มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ในลอนดอนที่ต้องเร่งแก้ไข” ศาสตราจารย์ Neil Alfrod จากทาง Imperial College กล่าว “ด้วยแผนการของเรา เราจะต้องสร้างวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทำให้ลอนดอนตะวันตกมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ขยายไปจนทั่วสหราชอาณาจักร และทั่วทั้งโลก”

สรุป

เห็นได้ชัดเลยว่าทั่วโลกต่างมองมลพิษทางอากาศเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ซึ่งในประเทศไทยเราก็ได้พบกับฝุ่น pm 2.5 มาเป็นระยะๆ รวมถึงปัญหาควันรถในทุกๆ วัน 

หลังจากนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องปรึกษาหารือกัน รวมถึงใช้ความรู้งานวิจัยและองค์ความรู้ภายในประเทศให้มากขึ้น ปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงในสภาพแวดล้อมของบ้านเรามากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทำแผนชั่วคราว แต่มุ่งไปสู่แผนงานระยะยาวที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราจะเผชิญในอนาคตอาจเป็นวิกฤตการณ์เลวร้ายมากกว่าปัจจุบันมากมายนัก 

PTT_ebook-EV

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo