ปัญหาด้านพลังงานคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สำคัญสำหรับโลกของเรา ทั้งในแง่พลังงานสำรอง พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดการพลังงาน ซึ่งถ้าหวังพึ่งมนุษย์เพียงอย่างเดียว คงใช้เวลาแก้ไขนับร้อยปี
ทำให้ในปัจจุบันหน่วยงานของประเทศต่างๆ เลือกจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เฉพาะด้านขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางพลังงานอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
เข้าใจ Artificial Intelligence
โดยปกติแล้วคนทั่วไปคงรู้จักกับ AI ในฐานะปัญญาประดิษฐ์ในเกมต่างๆ ที่คอยโต้ตอบกับผู้เล่นในรูปแบบต่างๆ หรือจะเป็น AI ในโทรศัพท์มือถือที่ช่วยเหลือผู้ใช้ เช่น Google Assistant
ต้นกำเนิดที่แท้จริงของ AI เกิดจากความคิดที่จะสร้างสมองให้เครื่องจักรกล ทำให้มีการโต้ตอบในรูปแบบต่างๆ ทั้งการโต้ตอบแบบง่ายๆ ไปจนถึงการโต้ตอบในแนวทางคล้ายคลึงกับมนุษย์ และถูกต่อยอดด้วยการเพิ่มความสามารถเข้าไป ทั้งความจำ ความรวดเร็วในการทำงาน และการเชื่อมโยงปัญหา
ความเร็วและความจำที่เหนือกว่ามนุษย์นั่นเองที่กลายเป็นเครื่องมือชั้นยอดสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือปัญหาพลังงานของมนุษยชาติ
เมื่อ AI มีบทบาทด้านการแก้ปัญหาพลังงาน
มนุษย์ใช้ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร ?
เดิมทีแล้วระบบพลังงานทุกอย่างจะถูกจัดการโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดพลังงานภายในบ้าน ไปจนถึงการตั้งค่าโรงงานใหญ่ๆ แต่ด้วยความที่การดำเนินงานด้านพลังงานในปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนมากเกินไป มนุษย์จึงมีแนวคิดในการเพิ่มระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามา แน่นอนว่าบางส่วนก็ใช้ AI ในการบริหารจัดการด้วย
ลองพิจารณาก่อนว่าหลักๆ แล้ว AI มีอะไรที่เหนือกว่าคนปกติบ้าง
1. ความแม่นยำ – AI สามารถคำนวณตัวเลข ตรวจสอบ และกำหนดค่าต่างๆ ได้แม่นยำกว่ามนุษย์
2. ความอดทน – AI ไม่ต้องการน้ำ อาหาร สามารถทำงานต่อเนื่องได้ในระยะเวลานานๆ แม้ว่าจะทิ้งให้ทำงานเป็นปีก็ตาม
3. ความรวดเร็ว – AI นอกจากความแม่นยำและอดทนแล้วแล้ว AI ยังสามารถจัดการข้อมูลมากมาย และคำนวณค่าต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานได้ในระยะเวลาอันสั้น
ดังนั้นบทบาทของ AI จะเน้นไปในการ
- รวบรวมข้อมูล เช่น ข้อมูลในโรงไฟฟ้า ข้อมูลการผลิตน้ำมัน ข้อมูลผู้ใช้งานในแต่ละช่วงเวลา
- กำหนดค่าต่างๆ ในเครื่องจักร หรือสถานที่นั้นๆ เช่น กำหนดการทำงานอัตโนมัติในโรงไฟฟ้า โรงงาน หรือออฟฟิศ
- ประมวลผลข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น ประมวลผลการใช้งานพลังงานภายในประเทศ นอกประเทศ คำนวณค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงาน
- พยากรณ์การใช้พลังงานในแง่มุมต่างๆ คาดเดาการใช้พลังงานในภาคส่วนของประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า เป็นต้น
ซึ่งความสามารถทั้งหมดจำเป็นมากในการสร้าง Smart City (เมืองอัจฉริยะ) ที่มีการจัดการพลังงานแบบอัตโนมัติภายในเมือง และ Smart Grid (ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ) ที่ยกระดับการใช้ไฟฟ้า มีการคำนวณพลังงานไฟฟ้าทั้งการใช้งานและการผลิตก่อนปรับเปลี่ยนการผลิตพลังงานให้สอดคล้องกับการใช้งาน
นอกเหนือจากการใช้ AI เพื่อประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้า ยังมีการใช้ AI เพื่อหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ บนโลก เช่น แหล่งแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันใต้ทะเล รวมถึงมีการสำรวจว่าในแถบนั้นมีระบบนิเวศเป็นอย่างไร สมมติหากเจาะหาน้ำมันจะคุ้มค่ากับธรรมชาติที่เสียไปหรือไม่ ทำให้โลกได้พลังงานที่คุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย
ตัวอย่าง AI ทางพลังงานในปัจจุบัน
ดังที่เห็นครับว่าการประยุกต์ใช้ AI ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่แปลกเกินเข้าใจอีกต่อไป นอกเหนือจากการยกตัวอย่างไปสั้นๆ ก่อนหน้านี้ ยังมีตัวอย่างของการใช้งาน AI ในอุตสาหกรรมพลังงานอยู่ เช่น
ระดับสากล
Duke Energy : ใช้ AI ในการคำนวณและพยากรณ์ด้านพลังงานล่วงหน้า เพื่อลงทุนและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในโรงงานต่างๆ
North Star AI : บริษัท AI ในเอสโตเนียร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณการใช้งานไฟฟ้า พัฒนาระบบในประเทศ อีกทั้งยังประเมินสภาพอากาศในการพยากรณ์สภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันอีกด้วย
Google & Deepmind : ทั้งสองบริษัทร่วมกันใช้งาน AI เพื่อคำนวณพลังงานที่ได้จากฟาร์มกังหันลม และส่งพลังงานเข้าสู่ระบบได้แม่นยำมากขึ้น
Plasma Physic Lab : มหาวิทยาลัย Harvard และ มหาวิทยาลัย Princeton ร่วมกับกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาในการจำลองพลังงานฟิวชันของดวงอาทิตย์ และสร้างอุปกรณ์เก็บกักพลังงานที่ควบคุมด้วย Deep learning AI
ในประเทศไทย
ระบบ Smart Grid ในแม่ฮ่องสอน : แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีปัญหาด้านระบบไฟฟ้า ดังนั้นทางการไฟฟ้าจึงต้องพัฒนาระบบ Smart Grid ใช้เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าส่วนเกิน
ระบบ Smart Grid ในพัทยา : โครงข่าย Smart Grid ของพัทยาเป็นโครงการแรกๆ ที่การไฟฟ้าให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเมืองเศรษฐกิจ มีการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น และเป็นพื้นที่เป็นเกาะปิด ซึ่งเมื่อพัฒนาไประดับหนึ่งแล้ว การไฟฟ้ามีแผนจะพัฒนาพัทยาเป็น Smart City ของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
Sertis : บริษัทจากประเทศไทยที่พัฒนาระบบ Smart Grid โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain และ AI เข้าด้วยกัน โดยตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการจัดการพลังงาน ทั้งการส่งพลังงานปกติและการใช้โซล่าเซลล์ รวมถึงใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อต่อยอดการลงทุนในพลังงานทางเลือกต่างๆ
นอกเหนือจากนั้นประเทศไทยยังมีแผนการในการพัฒนาระบบ Smart Grid และ Smart City กระจายไปตามเขตเศรษฐกิจต่างๆที่จะจัดตั้งเพิ่มเติมขึ้นในอนาคตอีกด้วย ซึ่งทางรัฐบาลคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและดึงดูดคนทั้งไทยและนอกประเทศให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น
ทิศทางของ AI และพลังงานในอนาคต
หากพูดถึงพลังงานและ AI การพัฒนาที่เราเห็นภาพที่ชัดเจนสุดคงหนีไม่พ้นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานที่ทุกคนได้ใช้
พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันจะเป็นการรวมศูนย์พลังงาน มีโรงไฟฟ้าในการจ่ายพลังงานไปตามบ้านเรือนประชาชนเป็นหลัก ทำให้สามารถจัดการพลังงานในครัวเรือนได้ยาก และไม่สามารถใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานอื่นได้ (เช่น โซล่าเซลล์) หากยังเชื่อมต่ออยู่ในระบบไฟฟ้าเดิม
แต่พลังงานไฟฟ้าในอนาคต ผู้ใช้งานทั่วไปจะมีโอกาสผลิตพลังงานได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจากพลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงสามารถขายพลังงานเข้าไปในระบบได้
ยิ่งสามารถบริหารไฟฟ้าภาคครัวเรือนเท่าไหร่ ยิ่งต่อยอดไปสู่ไฟฟ้าระดับจังหวัด หรือ ประเทศได้ดีเท่านั้น การบริหารจัดการไฟฟ้าด้วย AI จะช่วยลดการอัตราการใช้งานไฟฟ้าโดยรวมได้ และตรวจสอบข้อมูลจากระบบได้ และแก้ปัญหาเสถียรภาพการไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตพลังงานในระยะยาวด้วย
คงเห็นแล้วนะครับว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยก็มีการพัฒนาด้าน AI ร่วมกับพลังงานไม่น้อยหน้าประเทศ
เพื่อนบ้านเลย ไม่แน่ว่าในอนาคต บ้านในประเทศไทยอาจถูกเปลี่ยนเป็น Smart Home ที่จัดการพลังงานต่างๆ ในบ้านด้วย AI ก็ได้ครับ