อะไรคือไบโอพลาสติก ?
กระแสรักษ์โลกที่ผ่านมา (และเราหวังว่าคงไม่ผ่านไปง่ายๆ) ทำให้หลายต่อหลายฝ่ายให้ความสนใจกับนวัตกรรมที่ส่งผลกับโลกใบนี้เป็นอย่างมาก และนวัตกรรมที่เข้ามาทดแทนพลาสติกอย่าง ‘ไบโอพลาสติก’ ก็เช่นเดียวกัน
ด้วยคำว่าไบโอ (Bio) ที่นำหน้า ทำให้หลายต่อหลายคนมองว่าเจ้าถุงพลาสติกนี้สามารถย่อยสลายได้เพียงแค่เราทิ้งหรือฝังดิน แต่จริงๆ นั้นไม่ใช่
มาทำความรู้จัก Bioplastic หรือ พลาสติกชีวภาพให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ใช้งานมันอย่างถูกวิธี ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของโลกใบน้อยๆ ที่เรารักกันเถอะ
รู้จักกับไบโอพลาสติกให้มากขึ้น
ไบโอพลาสติก (Bioplastic)
คำว่าไบโอพลาสติกเป็นคำเรียกรวมๆ พลาสติกที่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากธรรมชาติไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีกว่า Petroleum-base plastic หรือพลาสติกธรรมดาที่เราใช้กันในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่…
“ไม่ใช่ไบโอพลาสติกทุกชนิดที่จะย่อยสลายตามธรรมชาติ”
ความเข้าใจผิดหลายประการถูกส่งต่อได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อต่างๆ จนหลายฝ่ายคิดว่าการได้ใช้ถุงไบโอพลาสติกหรือแก้วไบโอพลาสติก พวกเขาสามารถทิ้งที่ไหนก็ได้ มันจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยไปเอง
ซึ่งความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น
การทำไบโอพลาสติกบางชนิดมีการใช้วัตถุดิบที่เกิดจากธรรมชาติก็จริง แต่ในส่วนของการผลิตแล้วยังมีส่วนประกอบบางอย่างที่ไม่ย่อยสลายและบางส่วนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเสียด้วยซ้ำ
ไบโอพลาสติกถูกแบ่งประเภทไว้หลากหลายตามผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายให้ข้อมูล ซึ่งในบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบตามนิยามของสมาคมพลาติกชีวภาพแห่งสภาพยุโรป คือ Biodegradable plastic และ Bio-based plastic
- Biodegradable plastic พลาสติกที่มีการกำเนิดจากวัตถุดิบชีวมวลหรือทางเคมี ที่สามารถย่อยสลายได้อย่างหมดจดภายใต้การหมักทางชีวภาพที่เหมาะสม ไม่หลงเหลือสารพิษไว้บนโลก เช่นพลาสติกประเภท Polylactic Acid (PLA) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA)
- Bio-based plastic พลาสติกที่เกิดจากแหล่งวัตถุดิบชีวมวลเช่นกัน แต่มีสัดส่วนการผสมผลิตภัณฑ์และสารประกอบอื่นๆ แตกต่างกับพลาสติกประเภท Biodegradable ซึ่งพลาสติกชนิด Bio-based นี้จะมีทั้งสามารถย่อยสลายได้ และไม่สามารถย่อยสลายได้ เช่น Bio-PET ไนลอน พิลิเอทีลีนจากเอทานอล
ไบโอพลาสติกไม่ใช่วายร้าย เขาประสบเหตุการณ์เช่นเดียวกับถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นมาจากการป้องกันการตัดต้นไม้ การใช้งานผิดๆ ของผู้คนทำให้ภาพจำที่แย่ๆ เกิดขึ้นไปในแนวทางเดียวกัน
ย่อยได้? รีไซเคิลดี? ความเข้าใจผิดที่ต้องแก้ไข
หนึ่งในการกลายเป็นวายร้ายคือการใช้งานอย่างผิดๆ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไบโอพลาสติกนั้นแพร่หลายเกิดจากสื่อและข้อความชวนเชื่อที่เราได้รับกันมากมาย ไม่ว่าจากโซเชียลมีเดียหรือช่องทางอื่นๆ
ไบโอพลาสติกโดยส่วนมากไม่สามารถแยกออกด้วยตาเปล่า เช่นเดียวกับพลาสติกชนิดอื่นๆ ที่ไม่มีจุดสังเกตที่ชัดเจน ยังไม่นับว่าไบโอพลาสติกที่ถูกกล่าวถึงตามห้างร้านต่างๆ นั้นมีหลายประเภททั้งสามารถย่อยสลายได้จริงไปจนถึงการย่อยเป็นไมโครพลาสติกที่มีอันตรายต่อสุขภาพของเรา
“ไบโอพลาสติกหลายประเภทไม่เหมาะกับการรีไซเคิล”
สาเหตุเพราะการสร้างไบโอพลาสติกบางส่วนทำให้อายุการใช้งาน และความทนทานน้อยลง จึงทำให้ไม่สามารถใช้งานในระยะยาวได้
ในความเป็นจริงแล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีความรู้ควรมีการทำความเข้าใจประชาชนให้มากกว่านี้ ทั้งการแยกชนิดของพลาสติก ทำความเข้าใจการใช้งานพลาสติกรูปแบบต่างและการสังเกตสัญลักษณ์บนขวดหรือถุงพลาสติกว่าสามารถนำไปรีไซเคิลได้ไหม หากเข้าใจกันเป็นวงกว้างแล้วการจัดการพลาสติกในสังคมไม่ว่าจะเป็นไบโอพลาสติกหรือไม่ ก็จะสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
จัดการไบโอพลาสติกอย่างถูกวิธี
เราสามารถจัดการไบโอพลาสติกได้อย่างง่ายๆ ด้วยการ ‘แยกขยะ’ ตั้งแต่ก่อนที่จะทิ้ง อาจเริ่มด้วยการแยกพลาสติกออกจากขยะอย่างอื่นก่อนให้เป็นนิสัย แล้วพัฒนาไปเป็นการแยกขยะพลาสติกชนิดต่างๆ ออกจากกันเป็นกลุ่ม
ซึ่งพลาสติกในชีวิตประจำวันที่สามารถย่อยสลายได้ (Biodegradable) มีสองประเภทคือ
1. Polylactic acid (PLA) พลาสติกที่ทำจากแป้งธรรมชาติ เช่น แป้งมัน แป้งข้าวโพด ก่อนผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น PLA นั้นสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
2. Polyhydroxyalkanoates (PHA) เกิดจากการสังเคราะห์จุลินทรีย์ในสภาวะที่เหมาะสม ก่อนสกัดให้ได้ PHA จำนวนมาก ซึ่ง PHA นี้สามารถย่อยสลายได้หากมีสภาวะที่เหมาะสม
แม้ว่าจะย่อยสลายได้ แต่พลาสติกทั้งสองประเภทก็ยังใช้เวลานานระดับหนึ่งเพื่อดำเนินการ อีกทั้งยังต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการ สังเกต และจัดการพลาสติกเหล่านี้อย่างถูกวิธีครับ
เราสามารถสังเกตไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการสังเกตสัญลักษณ์รีไซเคิลที่มีหมายเลข 7 บนขวด หรือภาชนะพลาสติกนั้นๆ ก่อนรวบรวมแล้วส่งไปยังโรงงานเพื่อการ การจัดการให้ย่อยสลายที่เหมาะสม เพราะพลาสติก Biodegradable ไม่สามารถจัดการด้วยการรีไซเคิลธรรมดาได้
สำหรับถุงพลาสติกหรือพลาสติกชนิดต่างๆ ที่ไม่ได้มีสัญลักษณ์บอกแน่นอน ขอให้แยกถุงเป็นขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ก่อนทิ้ง ไม่ปนกับเศษอาหารหรือขยะอื่นๆ เพื่อที่การรีไซเคิล ณ ปลายทางจะทำได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น
สรุป
จริงๆ แล้วไบโอพลาสติกจะเป็นตัวช่วยหรือวายร้าย ก็คงขึ้นอยู่กับผู้ใช้อย่างเราๆ ว่าจะใช้งานไปในแนวทางไหน รีไซเคิล ปล่อยย่อยสลาย หรือโยนทิ้งไปตามทาง เพราะหากการจัดการของทุกคนยังคงเป็นแบบเดิม ทิ้งกันแบบเดิม ต่อให้ไบโอพลาสติกจะย่อยสลายเร็วแค่ไหนก็สามารถรองรับสิ่งที่มนุษย์กระทำได้อยู่ดี
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
