Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เปลี่ยนชีวิตให้ง่าย ด้วย Battery Swapping สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

21 ก.ย. 2020
SHARE

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า คือยานพาหนะพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ โดยมีกระแสรักษ์โลกเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ ทว่าประเด็นสำคัญสำหรับการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านอกเหนือจากราคาแล้วยังอยู่ที่ “ความเร็วในการชาร์จพลังงาน” ที่ใช้เวลาราวสองชั่วโมง แนวคิดของ Battery Swapping จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

Battery Swapping กับอนาคตในการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 

Battery Swapping คือการสลับแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจนใกล้หมดกับแบตเตอรี่ที่สถานีหรือตู้ชาร์จซึ่งได้รับการชาร์จพลังงานจนเต็มแล้ว ช่วยลดระยะเวลาในการชาร์จแบตที่ใช้เวลาหลักชั่วโมง เหลือเพียงแค่การสลับแบตไม่กี่นาทีเท่านั้น 

คอนเซปต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 พร้อมๆ กับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยเทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่ได้ถูกประยุกต์มาเรื่อยๆ 

สำหรับพาหนะที่ได้รับความนิยมในการใช้เทคโนโลยี Battery Swapping นั้นมักเป็นพาหนะขนาดเล็กเช่นมอเตอร์ไซค์ ที่สามารถเปลี่ยนแบตได้ง่าย สามารถเก็บแบตสำรองไว้ในคันรถได้ง่าย ผู้ใช้งานต้องการความรวดเร็วในการขับไปไหนมาไหน 

แล้วทำไมเราไม่ค่อยได้เห็นหรือรู้จัก Battery Swapping มากนัก แม้ว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะเข้ามาในไทยนานแล้ว เรื่องนี้อาจต้องย้อนไปดูการสนับสนุนของเทคโนโลยีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันยังน้อยและไม่ทั่วถึง รวมถึงขาดการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้ที่จริงจังจากภาครัฐ ทำให้ Battery Swapping ยังคงอยู่แค่ใน “แผน” หรือมีอยู่อย่างจำกัด

แนวคิดนี้ใช้ได้จริงแค่ไหน ? ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้เห็นจะเป็นประเทศไต้หวัน ที่มีการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และแบรนด์สำคัญของเรื่องนี้คือ Gogoro 

Gogoro เป็นแบรนด์สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในไต้หวันที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีจุดสลับแบตอยู่มากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศไต้หวัน และมีแผนขยายเกือบ 2,000 ภายในปี 2563 แบรนด์ดังกล่าวสามารถขยายสถานีแบตได้มากขนาดนี้นอกจากประสิทธิภาพการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการทำงาน

นอกจากประเทศไต้หวันแล้ว จีน และอินเดียก็เป็นอีกประเทศที่มีการสนับสนุนเทคโนโลยีการสลับแบตเตอรี่ โดยหวังว่าจะเปลี่ยนยานพาหนะในประเทศให้กลายเป็นยานพาหนะไฟฟ้า เพิ่มความต้องการใช้งานพลังงานสะอาดให้มากขึ้น

ข้อดีของ Battery Swapping 

Battery Swapping คือแนวคิดที่มีข้อดีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะใช้งานกับมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม โดยข้อดีที่เด่นชัดของระบบดังกล่าวมีดังนี้

สามารถเปลี่ยนแบตได้แบบรวดเร็ว ไม่ต้องรอการชาร์จ การชาร์จไฟโดยทั่วไปของแบตเตอร์รี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะกินระยะเวลาราว 2 ชั่วโมงต่อการวิ่ง 50-80 กิโลเมตร ทว่าด้วยรูปแบบการสลับแบตเตอรี่นี้จะช่วยย่นระยะเวลาให้การชาร์จพลังงานเหลือเพียง 2-3 นาทีต่อครั้งเท่านั้น

สามารถตรวจสอบคุณภาพแบตได้จากแท่นชาร์จ การสลับแบตเตอรี่ไม่ใช่แค่การดึงแบตออกมาจากแท่นชาร์จเฉยๆ แต่มีการยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงการตรวจสอบแบตเตอรี่ภายในแท่นชาร์จ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าการใช้งานแบตเตอรี่ทั้งหมดจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่ 

ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน การต่อสายชาร์จและรอจ่ายเงินจะไม่จำเป็นอีกต่อไป ในเมื่อเราสามารถใช้มือถือเพื่อยืนยันตัวตนและดึงแบตเตอรี่ออกมาเปลี่ยนได้เลย 

แนวคิดของ Battery Swapping ไม่เพียงมีการใช้งานในมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเท่านั้น ยังรวมไปถึงการใช้งานร่วมกับรถยนต์อีกด้วย ซึ่งล่าสุดบริษัท NIO จากประเทศจีนได้มีการโชว์เทคโนโลยีเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรถยนต์ด้วยระบบอัตโนมัติ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้งานมากขึ้นไปอีก ซึ่งน่าสนใจว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีการต่อยอดอย่างไรในอนาคต

Battery Swapping กับการแก้ปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืน

แม้ว่าบริการ Battery Swapping จะเปิดให้บริการมาแล้วหลายประเทศ ทว่าผลของการใช้งานระบบดังกล่าวนั้นกลับมีความแตกต่างกันออกไป 

ปัจจัยที่สามารถเห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือการสนับสนุนจากรัฐบาล และความนิยมในการใช้รถประเภทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Gogoro ที่ได้เอ่ยถึงก่อนหน้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ทำให้ประสบความสำเร็จด้านการขยายสถานีชาร์จพลังงานและสลับแบตเตอรี่ จนกลายเป็นแบรนด์เดียวที่สามารถเติบโตได้อย่างเห็นได้ชัดเจน

กลับกันในประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะมีการวางระบบ Battery Swapping เอาไว้ แต่กลับติดปัญหาในแง่ของการใช้รถต่างแบรนด์ที่ไม่รองรับประเภทของแบตเตอรี่ การขาดการสนับสนุนจากรัฐ ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่นัก

เรื่องดังกล่าวถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ ว่าในการการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาพลังงานนั้น การแข่งขันอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป การที่บริษัทใหญ่จับมือบริษัทเล็ก หรือหลายๆ บริษัทร่วมกับพัฒนาเทคโนโลยีโดยมีภาครัฐสนับสนุน และตั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างเข้มงวดจะสามารถ “ช่วย” โลกใบนี้ได้มากกว่า ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศไต้หวันมาแล้ว 

สำหรับประเทศไทย ปตท. ให้ความสนับสนุนการขยายตัวของการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า จึงริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go Co.,Ltd.) เป็นหนึ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเครือข่ายแบตเตอรี่สวอพ (Battery Swapping) แก่ผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

มุ่งเน้นให้บริการแบตเตอรี่โดยเฉพาะ ซึ่งน่าจับตามองว่าการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดในประเทศไทย

PTT_ebook-EV

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo