การวางโมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวสำหรับยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องมีปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด BCG Model คือหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจที่ประเทศไทยนำมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง
BCG Model คืออะไร ทำไมไทยจึงให้ความสำคัญ
โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG คือ โมเดลที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งสามด้านพร้อมกันเพื่อผลักดันความสามารถในการแข่งขันของคนในประเทศ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และพร้อมพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างยั่งยืน
ซึ่งรายละเอียดของเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านมีดังต่อไปนี้
Bioeconomy
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ทางด้านชีวภาพ เช่น พันธุวิศกรรม ชีววิทยาเชิงระบบ (การแก้ไขด้านชีววิทยาความซับซ้อนสูง) และจีโนมิกส์ (ชีววิทยาด้านการจัดเรียงสารพันธุกรรม) มาเพิ่มมูลค่า ประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
Circular economy
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการวางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญในด้านการลดความสูญเปล่าของทรัพยากรจนเหลือศูนย์ (Zero Waste) การออกแบบ ผลิต จนถึงขั้นตอนการกำจัดสิ่งต่างๆ ต้องมีการหมุนเวียนเป็นวงกลมเสมอ
การใช้งาน BCG Model ในไทย
สาเหตุที่ภาครัฐมีการใช้งาน BCG Model นี้ เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรต่างๆ ในระยะยาว รวมถึงการกระจายรายได้ในชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โมเดลที่ใช้จึงต้องครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญภายในประเทศและพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน
โดยโมเดลดังกล่าวครอบคลุม 4 อุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีการปรับใช้ดังนี้
อุตสาหกรรมเกษตร
นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางชีวภาพ เทคโนโลยีการเกษตรและการเก็บข้อมูลเข้ามาปรับใช้ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เช่น Smart Farmer พัฒนาองค์ความรู้บุคลากร พร้อมกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต
อุตสาหกรรมพลังงาน
เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สนับสนุนการผลิตพลังงานของชุมชนและการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อทำให้ภาคประชาชนได้เข้าถึงพลังงานกันทั่วถึงในราคายุติธรรม และช่วยลดความเสี่ยงในด้านการเกิดวิกฤตพลังงาน
อุตสาหกรรมการแพทย์
ส่งเสริมการผลิตยา วัคซีน และชุดตรวจต่างๆ เพื่อได้มาซึ่งกระบวนการที่ได้คุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลแนวทางการผลิต ใช้ และจัดการวัสดุต่างๆ หลังใช้เสร็จ ส่งผลทำให้เกิดการกำจัดสิ่งของเสียอย่างเหมาะสม
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
พัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีเข้าสนับสนุนเพื่อช่วยบริหารจัดการการท่องเที่ยว สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวพร้อมกับรักษาอัตลักษณ์และแก้ปัญหาทรัพยากรในการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
เห็นได้ชัดเลยว่า BCG Model เป็นอีกโมเดลที่ช่วยกำหนดภาพรวมเศรษฐกิจทั้งใหญ่และเล็ก ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนพร้อมทั้งดีต่อสิ่งแวดล้อม มีการให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนทรัพยากร เพิ่มมูลค่าของผลผลิตต่างๆ และลดต้นทุนไปในเวลาเดียวกัน
สรุป
BCG Model เป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเศรษฐกิจแบบชีวภาพ การจัดการทรัพยากร วัตถุดิบแบบหมุนเวียน รวมถึงการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามากกว่าหลักการคือการปรับใช้จริงจากหน่วยงานต่างๆ และการได้รับการตอบรับโมเดลนี้จากภาคเอกชนและคนธรรมดา เนื่องจาก BCG Model เป็นโมเดลที่มองจากภาพรวมและพึ่งพาบุคลากรจำนวนมาก หากไม่ได้มีการดำเนินนโยบายชัดเจนเพียงพอ รวมถึงการทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ โมเดลการทำธุรกิจนี้ก็อาจเป็นไปได้ยากในเวลาอันสั้น