เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) คือการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ เชื่อหรือไม่ว่าความรู้เรื่องนี้อยู่กับเรามาเนิ่นนาน ตั้งแต่เทคนิคการถนอมอาหารชนิดต่างๆ จนถึงการสร้างยารักษาโรคเลยทีเดียว
บทบาทของเทคโนโลยีชีวภาพปรากฎชัดเจนในปัจจุบัน การผลิตวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคระบาดอย่าง Covid-19 รวมถึงการรักษาโรคระยะยาวต่างจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้าช่วยแทบทั้งสิ้น
เทคโนโลยีชีวภาพรูปแบบต่างๆ
ภายใต้กรอบของเทคโนโลยีชีวภาพก็มีการแบ่งรูปแบบออกไปตามการใช้งาน ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในอนาคตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้น โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีชีวภาพ 4 ประเภทหลัก ดังนี้
1. เทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ (Medical Biotechnology)
การประยุกต์ใช้เทคโยโลยีชีวภาพเข้าสู่การแพทย์เป็นหัวข้อที่แทบทุกประเทศให้ความสำคัญกัน โดยเฉพาะกับการใช้มันรับมือกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Covid-19 นั่นเอง
โดยเทคโนโลยีชีวภาพจะมีบทบาทในการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบปัจจัยต่างๆ ที่มีผลในการจัดการกับเจ้าไวรัสชนิดนี้ได้ สุดท้ายก็จะถูกวิจัยออกมาเป็นวัคซีนและยารักษาโรคอย่างที่ทุกๆ คนได้เห็นกัน
นอกเหนือจาก Covid-19 แล้ว เทคโนโลยีชีวภาพยังถูกใช้งานในการจัดการโรคระบาดและโรคภัยที่มีคนเป็นอย่างกว้างขวาง เช่น มะเร็ง เชื้อ HIV โรคหัวใจ ทั้งในการออกยารักษาโรคตัวใหม่ที่ดีกว่าเดิม และการทำให้ยารักษาโรคที่มีอยู่แล้วมีต้นทุนที่ถูกลงเพื่อให้คนจำนวนมากเข้าถึงยาเหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย
2. เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร
พันธุ์พืชในประเทศไทยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้ทนร้อน ทนฝน ทนต่อโรคระบาด และทนต่อศัตรูพืช ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรภายในประเทศ
เทคโนโลยีชีวภาพยังมีบทบาทในการปรับปรุง ช่วยผสมพันธ์ุสัตว์ คัดเลือกพันธุ์ทีดีที่สุด เพื่อนำมาเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ให้กับเกษตรกรในการขยายพันธุ์ปศุสัตว์ต่างๆ และช่วยในการรักษาโรคระบาดภายในสัตว์ต่างๆ เช่น การรับมือโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดที่กำลังขยายวงกว้างในประเทศไทยช่วงกลางปี 2564 นี้ด้วย
3. เทคโนโลยีชีวภาพด้านอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีชีวภาพรูปแบบนี้จะเจาะลึกเข้าไปในส่วนประกอบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต เช่น เซลล์ เอนไซม์ ต่างๆ การสกัดสารจากวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นต้น
แม้จะดูไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเทคโนโลยีชีวภาพด้านอุตสาหกรรมนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ตั้งแต่การค้นคว้าปุ๋ยและอาหารสัตว์เพื่อทำให้มีสารอาหารคุณภาพ เหมาะกับพืชและสัตว์ การหาแนวทางจัดการมูลสัตว์ให้ดีที่สุด
เทคโนโลยีชีวภาพด้านอุตสาหกรรมยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาพลังงานสะอาดประเภทต่างๆ รวมถึงวิจัยการปล่อยของเสียในการเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อปรับปรุงวิธีเลี้ยงให้มีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย
4. เทคโนโลยีชีวภาพด้านสิ่งแวดล้อม
การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบันและจำเป็นที่จะต้องมีการต่อยอดอย่างมีคุณภาพไปยังอนาคต และเทคโนโลยีชีวภาพก็เป็นกุญแจสำคัญ
เทคโนโลยีชีวภาพด้านสิ่งแวดล้อมจะเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีชีวภาพด้านอุตสาหกรรมพอสมควร เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่คอยควบคุมดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดของเสียอย่างไรให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะเศษอาหาร ไปจนถึงการค้นหาแบคทีเรียเพื่อกำจัดของเสีย
เห็นได้ชัดเลยว่าเทคโนโลยีชีวภาพมีการนำมาใช้ได้อย่างหลากหลาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แล้วประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีชนิดนี้แบบไหนบ้าง มาดูกัน
อนาคตไทยกับเทคโนโลยีชีวภาพ
ประเทศไทยก้าวไปไกลขนาดไหนกับเทคโนโลยีชีวภาพ? สิ่งที่น่าสนใจคือ ไทยมีการใช้เทคโนโลยีรูปแบบนี้อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม และบางเรื่องเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่คนไม่น้อยมองข้าม โดยเฉพาะการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- การปรับปรุงพันธุ์ข้าว พันธุ์พืช ให้ทนโรค ทนต่อศัตรูพืช ออกผลผลิตให้ดีขึ้น
- ปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ให้ทนร้อน ทนฝน เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
- การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพชนิดต่างๆ และวิจัยปุ๋ยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
- การตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ และหาวิธีรับมือ
- การผลิตยารักษาโรคจากเทคโนโลยีชีวภาพ
นอกเหนือจากการใช้งานที่แพร่หลายแล้วไทยยังมีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติเป็นของตัวเองอีกด้วย และมีการร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้ก้าวไกลมากขึ้น
ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพในอนาคตที่น่าจับตามอง ได้แก่ การผลิตเนื้อเทียม การผลิตยาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล (Personalized Medicine) พันธุวิศกรรม (Genetic Engineering) โดยแผนพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีชีวภาพเข้าสู่หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากนั้นยังสนับสนุนการกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสนับสนุนการแพทย์และการเกษตรให้มากขึ้น
แม้ตัวเลขเชิงสถิติต่างๆ ยังไม่ชัดเจน แต่การที่มีชื่อของเทคโนโลยีชีวภาพในแผนการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีนี้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ทำให้มั่นใจระดับหนึ่งแล้วว่าเทคโนโลยีชีวภาพนี้จะเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างแน่นอน
สรุป
เทคโนโลยีชีวภาพเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระดับสากล หลายประเทศทั่วโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพรูปแบบต่างๆ ประเทศไทยเองก็เช่นกันโดยมีการพัฒนาในด้านการเกษตรและการแพทย์ และการผสานองค์ความรู้เข้ากับด้านอื่นๆ อย่างมีคุณภาพ
สิ่งที่น่าสนใจคือการต่อยอดองค์ความรู้ในหลังจากนี้ เมื่อโรคระบาดนั้นเริ่มคลี่คลายความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพย่อมถูกผลักดันให้ก้าวไกลมากขึ้นไปอีก แต่ประเทศไทยจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนกันแน่ คงเป็นเรื่องที่เราต้องดูกันในอนาคต
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
