ย้อนกลับไปในยุค 90 เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกยุคนั้นต้องนึกถึง “อินเทอร์เน็ต” แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีต่างๆ ก็เปลี่ยน ในยุคนี้เราจะได้ยินคำว่า “บล็อกเชน (Blockchain)” กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมบนโลกมากมาย
ในบทความนี้เราจะมารู้จักและเข้าใจบล็อกเชนกันมากขึ้น รวมถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกในอนาคตอย่างมหาศาล
Blockchain คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร
“Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บข้อมูล ซึ่งมีการเชื่อมต่อกันระหว่างคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง”
ลองจินตนาการภาพบล็อกเชนเป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยห่วงโซ่ต่อกันยาวเหยียด ซึ่งแต่ละห่วงโซ่เปรียบเป็นบล็อกสำหรับเก็บข้อมูล และแต่ละห่วงโซ่เชื่อมต่อกันโดยไม่ผ่านคนกลาง
จะเห็นได้เลยว่าการที่ข้อมูลถูกเก็บไว้ในบล็อก (ห่วงโซ่) ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันไปมา ทำให้การแก้ไขข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก และหากส่วนใดในระบบมีปัญหาจะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบรวม เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ยิ่งทำให้ข้อมูลมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่ถูกควบคุมโดยคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเป็นการยกระดับความปลอดภัย และ เพิ่มความน่าเชื่อถือในการรับส่งข้อมูล
นอกจากนี้เนื่องจากบล็อกเชนไม่ต้องอาศัยคนกลาง แตกต่างจากการทำธุรกรรมทั่วไปที่ต้องมีบุคคลที่สามยืนยันความน่าเชื่อถือ (ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครกล้ากรอกข้อมูลสำคัญอย่างบัตรเครดิต) บล็อกเชนจึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมให้มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดมากขึ้น เพราะตัวกลางที่หายไปทำให้ต้นทุนในการกระจายข้อมูลลดลง
เรารู้จักเทคโนโลยีบล็อกเชนกันไปแล้ว มาดูกันต่อว่าบล็อกเชนถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง
ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
ในตอนเริ่มต้นบล็อกเชนถูกคิดค้นเพื่อนำไปใช้กับข้อมูลสกุลเงินบนโลกดิจิทัล (Digital Currency) อย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) เนื่องจากมีความปลอดภัยและความสะดวกในการรับส่งข้อมูล ต่อมาสถาบันการเงินหลายๆ แห่งก็ได้ลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้การทำธุรกรรมยากๆ อย่างเช่นการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งต้องเสียค่าโอนแพงและใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงิน ก็สามารถทำออนไลน์ได้ง่ายดายเหมือนส่งอีเมลเลยทีเดียว
แต่ใครที่คิดว่าบล็อกเชนถูกใช้งานในด้านการเงินเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็ ต้องบอกว่าคุณคิดผิด เพราะจริงๆ แล้วเราสามารถประยุกต์ใช้บล็อกเชนได้หลากหลายอุตสาหกรรม ปัจจุบันบล็อกเชนจึงยิ่งกลายเป็นกระแส และกำลังถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างการใช้บล็อกเชนในงานอื่นๆ เช่น ด้านอสังหาริมทรัพย์ นำบล็อกเชนมาใช้ในการทำสัญญาเพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตรงกัน, บัตรประชาชนและใบขับขี่ออนไลน์, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การซื้อขายหุ้น เป็นต้น
และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้ประยุกต์ใช้บล็อกเชนด้วยคือ “อุตสาหกรรมด้านพลังงาน” หลายๆ คนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าบล็อกเชนกับพลังงานจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร เรามีตัวอย่างโครงการให้คุณหายสงสัย แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักที่มาที่ไปของโครงการนี้กันก่อน
การร่วมมือกันเพื่อพัฒนาระบบจัดการข้อมูลพลังงาน
เราเข้าใจดีกว่าปัญหาเรื่องพลังงานเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ต้องช่วยกันแก้ไข ExpresSo จึงได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาระบบจัดการพลังงานบนบล็อกเชน
การร่วมมือกับ EWF
ExpresSo เป็นสมาชิก (Founding Members) กับองค์กรระหว่างประเทศ “EWF” หรือ “Energy Web Foundation” ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมมือกับบริษัทพลังงานชั้นนำของโลกและ Startup ที่มีความพยายามในการลดโลกร้อน โดยพัฒนาบล็อกเชนแพลตฟอร์มเพื่อประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านพลังงานโดยเฉพาะ
การร่วมมือกันระหว่าง ExpresSo และ Sertis
ทีมแรกคือ “Express Solutions” หรือ “ExpresSo” ทีมงานรุ่นใหม่จากปตท. ซึ่งเราจะเน้นที่การสนับสนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ไปจนถึงต่อยอดให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) ในขณะที่ “Sertis” มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่น ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบระบบโครงข่ายและระบบ Smart Contract หรือ สัญญาอัจฉริยะ เพื่อควบคุมการใช้งานแพลตฟอร์ม
ExpresSo ร่วมพัฒนาต้นแบบกับ Sertis นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence – AI) มาช่วยบริหารจัดการข้อมูลพลังงาน (Energy Management)
แล้ว Blockchain จะช่วยจัดการพลังงานได้อย่างไร?
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ExpresSo ได้จับมือร่วมกับ Sertis เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล ในชื่อโครงการ “Smart Energy Platform by ExpresSo x Sertis” ซึ่งเป็นระบบที่จะพลิกโฉมการจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนผสมผสานกับปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence – AI) เพื่อรองรับ Smart City ในประเทศและภูมิภาค
โครงการนี้พัฒนาระบบจัดการข้อมูลพลังงาน ให้ผู้ใช้ระบบสามารถประเมินทิศทางการใช้ไฟฟ้าในอนาคต (Load Forecasting) ได้แม่นยำมากขึ้น รวมถึงคาดการณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอย่าง Solar Cell ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนและเอไอทำหน้าที่เป็นระบบบันทึกและจัดการข้อมูลพลังงานไฟฟ้าอัตโนมัติว่ามีพลังงานพร้อมใช้เหลือเท่าไร ราคาเท่าไร พลังงานอยู่ที่ไหนและมันต้องไปที่ใด ระบบจะถูกพัฒนาในอนาคตให้ผู้ใช้จะสามารถซื้อขายพลังงานสะอาดได้ด้วย
สรุป
Blockchain เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บและรับส่งข้อมูลของโลก ด้วยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ทำให้ Blockchain ถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมบนโลก เช่น การเงิน อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง อาหาร เป็นต้น รวมไปถึงภาคธุรกิจพลังงาน
ExpresSo ได้จับมือร่วมกันกับ Sertis ผสมผสานเทคโนโลยี Blockchain และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลพลังงาน นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้แล้ว ยังเป็นการช่วยโลกจากการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) อีกด้วย
ในอนาคตการใช้พลังงานจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปตท.จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับการจัดการพลังงาน (Energy Management) และเตรียมพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดต่อไป