โลกยุคปัจจุบันกำลังหมุนไปด้วยข้อมูลมหาศาล การเก็บข้อมูลจากผู้คนเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยปัจจุบันจนดูกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจ แต่รู้หรือไม่ว่าแนวทางนี้มีการใช้งานมาแล้ว ซึ่งนั่นก็คือ Business Intelligence หรือระบบธุรกิจอัจฉริยะ นั่นเอง
Business Intelligence ธุรกิจและข้อมูลที่ขาดกันไม่ได้
Business Intelligence (BI) คือการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่ได้มาเพื่อใช้ในการทำธุรกิจ ทั้งการบริหารจัดการ เสนองาน ไปจนถึงการวางแผนงานในช่วงเวลาจำกัด
สาเหตุที่ Business Intelligence นั้นสำคัญ เนื่องจากการทำงานปัจจุบันล้วนมีการอิงข้อมูลภายนอกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของลูกค้า สถิติต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แนวคิดทางธุรกิจที่มีความเปิดกว้างทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น จึงต้องหา “สิ่งนำทาง” ที่นำบริษัทไปสู่จุดสูงสุด
หลักการของ Business Intelligence
การทำงานของ Business Intelligence มีความซับซ้อนมากขึ้นตามยุคสมัย แต่หลักการดั้งเดิมของมันก็ไม่ได้หายไปตามกาลเวลา ซึ่งก็คือ
- การเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูล เช่น เก็บข้อมูลจากการออเดอร์ของลูกค้า ข้อมูลเพศ อายุ และอื่นๆ
- นำข้อมูลมาประมวลผล ด้วยเครื่องมือด้าน Business Intelligence ว่าใช้งานข้อมูลที่ประมวลผลแล้ว
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือปริมาณข้อมูลมหาศาลที่ไหลเวียนเข้ามาในระบบธุรกิจ จากที่ต้องเก็บข้อมูลหลักร้อย หลักพัน ก็แปรเปลี่ยนเป็นหลักแสน หลักล้าน ทำให้ Business Intelligence ต้องมีการปรับตัวตาม และเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาเพื่อรับมือข้อมูลมหาศาลและความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุด
การพัฒนาของ Business Intelligence ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ในปัจจุบัน Business Intelligence ให้ความสำคัญกับข้อมูลตั้งแต่แรกเริ่ม การเก็บข้อมูลของบริษัทต้องมีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล จะมีการทำการคัดแยกข้อมูลเบื้องต้น (ETL) โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ก่อน
ซึ่ง ETL คือ
- Extract – ดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูล และนำมาคัดแยกว่าข้อมูลตรงกับการใช้งานหรือไม่
- Transform – เปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ตรงกับความต้องการ ตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกเพื่อข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้น
- Load – นำเข้าข้อมูลไปเก็บยังคลังข้อมูลที่กำหนดไว้
โดยคลังข้อมูลนี้อาจเป็นคลังข้อมูลขนาดเล็ก หรือเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ระดับ Big Data ก็ได้ ตามแต่การจัดการของแต่ละบริษัท
ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลข้อมูลก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม เพิ่มรูปแบบในการวิเคราะห์มากขึ้น เช่น การประมวลผลเชิงวิเคราะห์แบบออนไลน์ หรือ OLAP (Online Analytical Processing) ที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลหลายมิติ หรือการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining)
หลังจากนั้นก็จะมีการนำข้อมูลต่างๆ ที่ประมวลผลแล้วมานำเสนอในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจ เช่น กราฟ พร้อมคำอธิบาย ไปจนถึงภาพการกระจายของข้อมูล เพื่อง่ายต่อการนำเสนอต่อฝ่ายต่างๆ
ตัวอย่างการวิเคราะห์ที่ Business Intelligence สามารถทำได้ในปัจจุบัน ได้แก่
- วิเคราะห์สินค้าและบริการ เพื่อวางแผนการขาย การผลิต และการลงทุน
- วิเคราะห์ช่วงเวลา ผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เพื่อประเมินการขายสินค้า
- วิเคราะห์นโยบายบริษัท ว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไรกับการทำงานในภาพรวม
ซึ่งในปัจจุบัน Business Intelligence ถูกพัฒนาและรวมขายเป็นชุดเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียเงิน โดยแต่ละเจ้าก็จะมีความสามารถในการวิเคราะห์แตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างการใช้งาน Business Intelligence ที่เห็นกันได้แก่
- Coca-Cola ใช้ Business Intelligence ดูแลการซื้อขายแบบ Real-Time และติดต่อลูกค้าเพื่อสร้างความมั่นใจ
- REI ร้านขายอุปกรณ์ตั้งแคมป์และสินค้าท่องเที่ยว ใช้ Business Intelligence ในการเก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้าและนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ตามการความต้องการของลูกค้าแต่ละคน
- ร้านอาหารเม็กซิกัน Chipotle ใช้ Business Intelligence ในการควบคุมดูแลการทำร้านของตัวเอง ทั้งบริการเดลิเวอร์รี่ และการจัดการโดยรวม
เริ่มต้นธุรกิจด้วย Business Intelligence
เครื่องมือด้าน Business Intelligence มีหลากหลายมากมายให้เลือกสรร แม้แต่บริษัทที่เพิ่งเริ่มทำความเข้าใจด้าน Business Intelligence ก็สามารถทดลองได้ แต่ก่อนหน้าที่จะก้าวเข้าไปก็ควรจะทราบสิ่งเหล่านี้เสียก่อน
- ต้องการสิ่งใดจาก Business Intelligence
Business Intelligence เป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำงานเท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มทำงานทางผู้ใช้งานต้องมีการกำหนดเสียก่อนว่า จะใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่ออะไร ลูกค้าเพิ่มขึ้น ขายสินค้าได้ดีขึ้นในช่วงเทศกาล หรือเพิ่มจำนวนลูกค้าประจำ เป็นต้น
- เก็บข้อมูลของลูกค้าอย่างไร
หลังจากกำหนดเป้าหมายได้แล้ว ก็ต้องมีการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูล ซึ่งต้องมีการพิจารณาเส้นทางว่าเราเก็บข้อมูลลูกค้าได้อย่างไร จากการสอบถามการใช้งาน จากการบันทึกข้อมูลในแอปพลิเคชั่น หรือการขอข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ
- ประมวลผลในแง่มุมใดบ้าง
การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทั้งหมด แต่เลือกจะใช้ข้อมูลเพียงบางประการเพื่อนำมาพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- เราพร้อมที่จะ “เริ่ม” ขนาดไหน
บริษัทที่อยากจะใช้ Business Intelligence ต้องการการเปลี่ยนแปลงของบริษัทมากแค่ไหน มีบุคลากรที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลหรือไม่ ก่อนหน้าจะใช้ Business Intelligence ควรมีการประเมินเบื้องต้นว่าเราสามารถใช้เต็มที่หรือไม่
ก้าวต่อไปของ Business Intelligence
Business Intelligence ถูกคิดค้น นำไปใช้ และพัฒนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของคนในสังคม ซึ่งอิงตามปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม – สังคมปัจจุบันก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ Business Intelligence สามารถปรับใช้กับธุรกิจได้มากขึ้นกว่าเดิม อนาคตการใช้งาน BI อาจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป
2. ทัศนคติของผู้บริโภค – แม้จะมีความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลมากขึ้น แต่การแลกข้อมูลเพื่อการบริการและสินค้าที่ดีขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ละแบรนด์จึงมีโอกาสนำข้อมูลลูกค้ามาใช้งานเพื่อการทำงานที่ดีขึ้นได้ง่ายมากขึ้น
3. คู่แข่งในตลาด – คู่แข่งในตลาดจะมีมากขึ้นเนื่องจากมีการสร้างแบรนด์ใหม่ๆ รวมถึงปริมาณของ Startup ที่เพิ่มขึ้นมากในสังคม จะต้องมีการใช้ Business Intelligence เพื่อสังเกตการณ์คู่แข่ง
4. เทคโนโลยี – เทคโนโลยีการประมวลผล ความเร็วอินเทอร์เน็ต และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Business Intelligence จะมีคุณภาพมากขึ้น และราคาถูกมากขึ้น ทำให้บริษัทเล็กๆ สามารถใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อการดำเนินงานของตัวเอง
การประยุกต์ใช้ Business Intelligence ควบคู่กับธุรกิจถือเป็นวิธีการที่น่าสนใจสำหรับการทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัท Startup ที่มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็น ทว่า สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าคือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของบุคลากรในบริษัท เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีนั้นๆ ให้มากที่สุด