Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

CSR ปลูกป่าชายเลนช่วยรักษ์โลกจริงหรือไม่ อย่างไร

22 ธ.ค. 2022
SHARE

CSR ปลูกป่าชายเลนเป็นหนึ่งวิธีรักษ์โลกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะถ้าระบบนิเวศป่าชายเลนสมบูรณ์ จะส่งผลดีต่อโลกหลายด้าน ทั้งเรื่องความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ความสะอาดและความสมบูรณ์ของน้ำ ความสะอาดของอากาศ และความแข็งแรงของแนวชายฝั่ง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายองค์กรทำ CSR ด้วยการปลูกป่าชายเลน ซึ่ง ปตท. ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยเรามีการกำหนดเป้าหมายปลูกป่าชายเลนจำนวน 5,000 ไร่ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับมาสมบูรณ์

หากปลูกป่าชายเลนได้ครบ 5,000 ไร่ตามที่ตั้งไว้ คาดว่าจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ไม่น้อยกว่า 95,000 ตัน และเพิ่มจำนวนสัตว์หน้าดินในพื้นที่ป่าได้ร้อยละ 25 ในปี 2573 อีกด้วย

นอกจากนี้ เรายังได้สร้างเครือข่ายราษฎรพิทักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของ ปตท.สผ. เพื่ออนุรักษ์และปกป้องป่าชายเลนที่เพิ่งปลูกและฟื้นฟู นับเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทั้งของเดิมและของใหม่ในคราวเดียวกัน

ปลูกป่าชายเลนมีประโยชน์อย่างไร

American Museum of Natural History พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงความสำคัญของป่าชายเลนเอาไว้ดังนี้

1. รักษาความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ

ป่าชายเลนช่วยรักษาระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี โดยระบบรากที่ซับซ้อนของมันจะช่วยกรองไนเตรตและฟอสเฟตจากแม่น้ำและลำธารก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดแพลงก์ตอนบลูมที่สามารถปล่อยสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์

ในขณะเดียวกัน ป่าชายเลนก็ยังป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลไปปะปนกับแหล่งน้ำจืด ซึ่งเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของผู้คนอีกด้วย

2. สร้างความมั่นคงให้กับแนวชายฝั่ง

รากของพืชป่าชายเลนจะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่พัดพาเข้ามา และยังดักจับตะกอนกับสารพิษต่าง ๆ ที่มากับกระแสน้ำ จนเกิดการทับถมเป็นหน้าดินใหม่ที่มีความแข็งแรง อีกทั้งแนวหญ้าทะเลยังเป็นเกราะป้องกันตะกอนและโคลนที่อาจกลบแนวปะการังได้ ในทางกลับกัน แนวปะการังก็จะปกป้องหญ้าทะเลและป่าชายเลนจากคลื่นทะเลที่รุนแรงเช่นกัน

3. เป็นที่กำบังพายุและคลื่น

เมื่อเกิดพายุ คลื่นซัด และลมแรง ป่าชายเลนที่หนาแน่นและมีพืชค้ำยันเป็นจำนวนมากซึ่งจะช่วยยึดดินให้อยู่กับที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ดินพังทลายและเสียหายหนัก

ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการให้กับผู้คน เพราะช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งได้ ถือว่าช่วยลดความรุนแรงได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการไม่มีป่าชายเลน

4. เป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด

ใบไม้ที่ร่วงหล่นจากพื้นที่ป่าชายเลนจะกลายเป็นสารอาหารของสัตว์เล็ก ๆ ที่ไม่มีกระดูกสันหลังและสาหร่าย ซึ่งสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ก็เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของนก ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน กุ้ง และลูกปลานั่นเอง

อีกทั้งกระแสน้ำยังช่วยหมุนเวียนสารอาหารไปตามพื้นโคลน ปากแม่น้ำ และแนวปะการังอีกด้วย ทำให้สัตว์อื่น ๆ ได้รับสารอาหารไปตาม ๆ กัน อย่างหอยนางรมที่อาศัยอยู่ก้นทะเล เป็นต้น

5. เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อาศัยของสัตว์น้ำ

ป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดีของปลา กุ้ง ปู และหอยต่าง ๆ ซึ่งบางชนิดจะอาศัยตามรากไม้ตั้งแต่ยังเล็กก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในทะเล และบางชนิดก็อยู่ในป่าชายเลนตลอดช่วงชีวิต

ที่สำคัญ คือ สัตว์ทะเลเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยนางรม หอยแครง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลากระบอก ปูม้า และปูแสม เป็นต้น

6. ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูงกว่าป่าประเภทอื่น

ไม้ในป่าชายเลน เช่น แสมทะเล ตะบูนขาว โกงกางใบใหญ่ และโกงกางใบเล็ก มักมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง จึงต้องการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก และช่วยเพิ่มออกซิเจนได้ในเวลาเดียวกัน

อีกทั้งป่าชายเลนยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเก็กกักเก็บคาร์บอนชั้นดีอีกด้วย เนื่องจากมีการเปลี่ยนตะกอนให้อยู่ในรูปของเนื้อเยื่อใบ ทำให้สะสมคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากนั่นเอง

7. เป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์

ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง เมื่อน้ำลง ผู้คนสามารถเดินไปเก็บหอย จับปู และกุ้งได้ เมื่อน้ำขึ้น ปลาก็ว่ายเข้ามาหาอาหาร คนในพื้นที่ก็สามารถจับปลาได้ง่ายโดยไม่ต้องออกเรือไปไกล ถือเป็นแหล่งประมงอีกหนึ่งแห่งที่อุดมสมบูรณ์

สรุป

การปลูกป่าชายเลนช่วยรักษ์โลกได้จริง และยังเป็นระบบนิเวศที่มีห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง หากไม่มีป่าชายเลน ระบบนิเวศก็จะพังทลาย ไร้ความหลากหลายทางชีวภาพ และขาดความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล

น่าเสียดายที่ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างน่าใจหาย แม้การปลูกป่าชายเลนจะช่วยฟื้นฟูได้ แต่ก็ไม่อาจเทียบกับการหยุดพฤติกรรมที่ทำร้ายป่าชายเลน เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนและถ่านในเชิงพาณิชย์ การทำเหมืองแร่ในป่าชายเลน การสร้างท่าเรือและเขื่อน การบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการขยายพื้นที่เมืองและชุมชนอุตสาหกรรม

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo