Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Carbon Credit มีบทบาทมากแค่ไหนกับการรับมือภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

22 เม.ย. 2020
SHARE

กระแสของสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ซึ่งจากความสนใจเหล่านี้เองทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามว่า แล้วหนทางการแก้ไขที่ผ่านๆ มาไม่มีอะไรตอบโจทย์เลยหรือ ตัวแปรสำคัญที่ถูกตั้งความหวังอย่าง Carbon Credit ล่ะ ทำไมไม่ถูกพูดถึงมากนัก

บทความนี้จะพาคุณเข้าใจเกี่ยวกับ Carbon Credit ให้มากขึ้น ทั้งบทบาทและความคาดหวัง รวมถึงปัจจัยที่ว่าทำไมในสายตาคนทั่วไปสิ่งนี้จึงดูไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก

Carbon Credit คืออะไร มีบทบาทอย่างไรกับโลกร้อน

พิธีสารเกียวโต ต้นกำเนิด Carbon Credit

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น เราคงต้องรู้จักที่มาทั้งหมดเกี่ยวกับ Carbon Credit อย่าง ‘พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ก่อน

พิธีสารเกียวโตเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2540 เพื่อสร้างข้อกำหนดพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 4 ได้แก่

  • คาร์บอนไดออกไซด์
  • มีเทน
  • ไนตรัสออกไซด์
  • ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออกไซด์

และก๊าซที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น

  • ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน
  • เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน

โดยการปล่อยก๊าซทั้งหมดจะมีการระบุว่าจะปล่อยได้ขนาดไหนในแต่ละปีตามข้อตกลงของประเทศนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าการที่ประเทศอุตสาหกรรมจะทำการหยุดการปล่อยก๊าซแบบกะทันหันนี้แทบเป็นไปไม่ได้ ในพิธีสารจึงมีการระบุกลไกยืดหยุ่นขึ้นมา เพื่อรองรับให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้วสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ซึ่งก็คือ

  1. Joint Implementation (JI) การดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด
  2. Emissions Trading (ET) การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อลดภาระของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ
  3. Clean Development Mechanism (CDM) คือโครงการพัฒนาที่สะอาด เช่น การปรับเปลี่ยนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมให้ใช้พลังงานสะอาด การทำงานพลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงการบำบัดน้ำเสียและขยะ ซึ่งตัวเลขจากโครงการทั้งหมดสามารถนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อซื้อขายได้หากมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง

สรุปแล้ว Carbon Credit คืออะไร

Carbon Credit คือการนำปริมาณการลดใช้ก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละประเทศหรือแต่ละหน่วยงานมาเปลี่ยนแปลงให้สามารถซื้อ-ขายได้ เปรียบเหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง เพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อ Carbon Credit ไปสำหรับการขยายขอบเขตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง 

ผลของการกำหนด Carbon Credit นั้นส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกไปในตัวหากไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เพราะราคาของคาร์บอนเครดิตจะแปรผันขึ้นลงตามปัจจัยต่างๆ หากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกของปีนั้นเพิ่มขึ้นสูงก็มีโอกาสที่ราคาของคาร์บอนเครดิตจะพุ่งขึ้นเช่นกัน  

Carbon Credit ช่วยเหลือด้านใดบ้าง

“จูงใจให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา” นั่นคือประโยชน์หลักๆ จากการมีอยู่ของ Carbon Credit

โดยอาศัยแนวคิดที่ว่าหากมีการจำกัดการปล่อยก๊าซด้วยเครดิตแล้ว คนที่ปล่อยก๊าซเยอะจะกังวลว่าตัวเองต้องเสียเงินเพิ่ม ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากตามมา จนต้องลดการปล่อยหรือเลิกการปล่อยก๊าซที่ส่งผลให้เกิดมลพิษกับโลกไปเลย หรือต่อให้มีการปล่อยก๊าซ ผู้ปล่อยก็ต้องจ่ายเงินออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ หรือประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย

ซึ่งโครงการเหล่านั้นหลักๆ คือโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ป่าไม้ เกษตร แม้แต่การจัดการขยะ ขึ้นอยู่กับว่าในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้นจะมีการตกลงกันอย่างไร

Carbon Credit ทำงานได้จริงหรือ

ประเด็นของ Carbon Credit ในปัจจุบันที่หลายฝ่ายให้ข้อสังเกตไว้คือวิธีดังกล่าวมันดูไม่เวิร์กเอาเสียเลย เพราะต่อให้มีเครดิตหรือไม่ ตัวประเทศยักษ์ใหญ่ บริษัทใหญ่ๆ ก็สามารถปล่อยก๊าซอันตรายขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อยู่ดี ยังไม่รวมการเผาในระดับย่อยๆ ของภาคประชาชน ที่บางแห่งนั้นร่วมกันเผาจนสร้างก๊าซเรือนกระจกออกมามากว่าโรงงานเสียอีก

รวมถึงการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่บางส่วนเห็นว่าเราสามารถพัฒนาโครงการเพื่อช่วยโลกได้โดยไม่ต้องอ้างอิงจากคาร์บอนเครดิต หรือความคิดที่ว่าการซื้อขายเครดิตช่างยุ่งยาก ก็ทำให้ความสำคัญของสิ่งนี้ลดลงเช่นกัน 

ไม่นับว่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหญ่ๆ อย่างอเมริกาก็ไม่ได้ให้สัตยาบันอะไรในพิธีสารเกียวโต ยิ่งทำให้น้ำหนักของคาร์บอนเครดิตน้อยลงจนน่าตกใจ ประเด็นสำคัญต่อมาจึงกลายเป็นคำถามที่ว่า ถ้าหากมันไม่เวิร์ก เราจะปรับปรุงอย่างไร หรือจะมีตัวช่วยอื่นมั้ยนอกจากเจ้าเครดิตนี้เพื่อให้สถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกดีขึ้น

โลกใบใหม่ที่ก้าวข้าม Carbon Credit 

ปัจจุบันประชาชนทั่วโลกล้วนใส่ใจธรรมชาติกันมากขึ้น เพราะการสะสมมลพิษในสิ่งแวดล้อมจากอดีตจนถึงปัจจุบันเริ่มก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากที่มีการประท้วงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนคงทำให้เราเห็นแล้วว่ามาตรการควบคุมมลพิษอย่างคาร์บอนเครดิตอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป หากไม่ได้รับความใส่ใจหรืออัปเกรดให้มีหลักการที่ดียิ่งขึ้น สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นการบังคับกลายๆ ให้รัฐบาลแต่ละประเทศออกนโยบายมาเพื่อช่วยโลกของเราอย่างจริงจัง ลดก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ต้องพึ่งพาคาร์บอนเครดิตหรือปัจจัยใดๆ 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ? เพราะโลกเราในปัจจุบันอยู่ในจุดที่ ‘รอไม่ไหว’ อีกต่อไปแล้ว ทั้งประเด็นภัยธรรมชาติ มลภาวะที่ผิดปกติ ที่ส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มนุษย์จำเป็นต้องหาสิ่งอื่นที่มีความยั่งยืน มองหาแผนการใหม่ พลังงานชนิดใหม่ และใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างพอเหมาะ เพื่อลดการเกิดมลพิษอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นยุคต่อไปของมนุษย์อาจะเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่ไม่มีวันหวนกลับ อากาศบริสุทธิ์จะกลายเป็นสินค้าที่หาได้ยากยิ่งในอนาคตแทน

New call-to-action

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo