Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Carbon Offset กับความท้าทายในการสร้างสังคม Carbon Neutral

31 พ.ค. 2022
SHARE

Carbon Offset กับความท้าทายในการสร้างสังคม Carbon Neutral

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หลายประเทศถึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากมาย แม้ว่าจะมีการเจรจาทำข้อตกลงเพื่อสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังขนาดไหนก็ตาม หนึ่งในสาเหตุของเรื่องนั้นคือการมีอยู่ของ Carbon Offset ที่เปิดโอกาสให้บุคคลและองค์กรสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อหักล้างกิจกรรมการปล่อยคาร์บอนของตนเองและช่วยสร้างสมดุลให้กลับคืนสู่สภาพภูมิอากาศโลกทางอ้อม ส่วนใหญ่มักเป็นการลงทุนสนับสนุนโครงการ Carbon Offset ในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายสุดท้าทายเพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคม Carbon Neutral ในอนาคต

บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จัก Carbon Offset และใบรับรองการชดเชยคาร์บอน พร้อมตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ รวมทั้งคำถามชวนคิดว่า Carbon Offset ช่วยโลกได้จริงหรือแค่ Green Washing กันแน่?

Carbon Neutral

Carbon Offset คืออะไร?

Carbon Offset คือ การชดเชยคาร์บอน เป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือองค์กรจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตผ่านบริษัทนายหน้าในจำนวนเทียบเท่ากับ Carbon Footprint หรือปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่บุคคลหรือองค์กรนั้นปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยนายหน้าจะหักค่าธรรมเนียมและนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ลงทุนในโครงการชดเชยคาร์บอนรูปแบบต่างๆ

ปัจจุบันค่าธรรมเนียม 1 คาร์บอนเครดิตจะอยู่ที่ประมาณ 8-12 เหรียญดอลลาร์สหรัฐสำหรับการชดเชย Carbon Offset ต่อตัน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทศวรรษหน้า ทั้งนี้ เมื่อจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ซื้อสามารถหักล้างกับปริมาณ Carbon Footprint ที่สร้างขึ้นได้หมด ก็จะถือว่าบุคคลหรือองค์กรนั้นมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)

ใบรับรองการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset Certificate)

ใบรับรองการชดเชยคาร์บอน เป็นหลักฐานที่ช่วยให้ความมั่นใจถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของโครงการ Carbon Offset ต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้น โดยจะต้องได้รับการตรวจสอบภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อรับประกันว่าโครงการเหล่านั้นช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้จริง สามารถวัดผลและตรวจสอบได้

ตัวอย่างใบรับรองการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset Certificate)

  • ใบรับรองมาตรฐานคาร์บอน (Verified Carbon Standard: VCS) ออกโดยสมาคม VERRA เป็นใบรับรองที่รู้จักกันดีที่สุดและเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในตลาดชดเชยคาร์บอนแบบสมัครใจ โดยมุ่งเน้นที่คุณภาพของการลดปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกที่สามารถวัดผลและตรวจสอบได้
  • ใบรับรองของ Climate Action Reserve (CAR) ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้บุกเบิกด้านการบัญชีและลงทะเบียน Carbon Offset ที่มีประสบการณ์และเชื่อถือได้ โครงการที่จะได้รับใบรับรองของ CAR จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีการตรวจสอบปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง รวมถึงการตรวจสอบโดยบุคคลที่สามที่เป็นอิสระ เป็นต้น

ตัวอย่างโครงการ Carbon Offset ที่น่าสนใจ

โครงการ REDD+

เป็นโครงการของสหประชาชาติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา โดยโครงการจะส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้ใช้นโยบายต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนด้วยการกำหนดมูลค่าเป็นตัวเงินให้ตามปริมาณคาร์บอนที่ป่าไม้สามารถกักเก็บไว้ได้

โครงการคานธี (The Gandhi Project)

เป็นโครงการก่อสร้างฟาร์มกังหันลมในประเทศอินเดียเพื่อพัฒนาพลังงานสีเขียวทดแทนพลังงานที่ก่อมลพิษ จนได้รับการรับรองมาตรฐานคาร์บอนที่ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติโดย EcoAct บริษัทที่ปรึกษาและผู้พัฒนาโครงการชดเชยคาร์บอนระดับนานาชาติ

ผลการดำเนินงานของโครงการคานธีจนถึงปัจจุบัน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 33,000 ตันผ่านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวไม่ต่ำกว่า 36 GWh และยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เพื่อมุ่งสู่สังคม Carbon Neutral ในอนาคต

Carbon Offset ช่วยโลกได้จริงหรือแค่ Green Washing?

Carbon Offset เป็นคำที่หลายคนยังสับสนและเข้าใจว่าหลังจากให้เงินสนับสนุนโครงการชดเชยคาร์บอนจะทำให้ปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลดลงได้จริง ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

เนื่องจากโครงการ Carbon Offset บางโครงการมีแนวโน้มเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ Green Washing หรือการฟอกเขียวให้กับบริษัทหรืออุตสาหกรรมบางประเภทที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน โดยพยายามหลีกเลี่ยงวิธีลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนเองด้วยการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับโครงการชดเชยคาร์บอนต่างๆ แทน เพื่อรักษาและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภคที่อาจรู้ไม่เท่าทัน

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Carbon Offset กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าสุดท้ายแล้วนี่เป็นวิธีการช่วยโลกได้จริงหรือแค่ Green Washing กันแน่? หากเราต้องการสร้างสังคม Carbon Neutral อย่างแท้จริง จำเป็นต้องเข้าใจว่าการชดเชยคาร์บอนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา เพราะกลไก Carbon Offset ที่ยั่งยืนอาจต้องเริ่มต้นจากการที่องค์กรให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการและความพยายามทุกหนทางเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

สรุป

Carbon Offset หรือ การชดเชยคาร์บอนเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ตราบใดที่การปล่อยคาร์บอนยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง การจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยหรือสนับสนุนโครงการ Carbon Offset เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ และยังอาจถูกนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ Green Washing หรือการฟอกเขียวให้กับบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่เป็นตัวการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาลอีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ Carbon Offset จึงเป็นแนวทางที่ต้องใช้ควบคู่กับการลด การกำจัด การกักเก็บปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมืออย่างมุ่งมั่นทั้งในระดับบุคคลและองค์กรเพื่อสร้างสังคม Carbon Neutral ให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

 

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo