หากพูดถึงเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่อาจคิดถึงเม็ดเงินที่ไหลเวียน การซื้อมาขายไปของสินค้าชนิดต่างๆ จนถึงการลงทุนเป็นล้านๆ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ รูปแบบของเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่การซื้อขายเท่านั้น แต่ยังมีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย และนั่นคือหลักใหญ่ใจความของ Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนนั่นเอง
ทำความรู้จัก Circular Economy รูปแบบเศรษฐกิจที่แตกต่าง
เศรษฐกิจมีนิยามและการแบ่งแยกที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในการแบ่งรูปแบบของเศรษฐกิจคือการอ้างอิงจากการผลิตและการใช้งานของสินค้าและบริการนั้นๆ ซึ่งจะโดนแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ
Linear Economy คือเศรษฐกิจแบบทางเดียว มีการผลิตสินค้า มีการดำเนินการใช้ ใช้แล้วทิ้ง โดยไม่มีการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาในส่วนการผลิตแต่อย่างใด
Circular Economy คือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการหมุนเวียนทรัพยากรที่เป็นสินค้าใช้แล้ว หรือวัตถุดิบส่วนเกินที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆ กลับมาใช้ใหม่โดยไม่ทิ้งให้เสียเปล่า
อ้างอิงจากรูปด้านบนแล้ว ตัวแปรสำคัญหลักๆ ที่ทำให้ Circular Ecomony คือการเปลี่ยนการกำจัด (Dispose) ให้กลายเป็นการหมุนเวียนใช้งาน (Recycle) ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการใช้ซ้ำหรือการนำไปผลิตใหม่ก็ได้เช่นกัน
แนวคิดของ Circular Economy ไม่ได้หยุดแค่การสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เท่านั้น ยังรวมไปถึงการวางแผน การจัดการพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกๆ การสร้างและทุกๆ การใช้งานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
Circular Economy สำคัญอย่างไร
ช่วยสิ่งแวดล้อมและช่วยธุรกิจไปในเวลาเดียวกัน อาจเป็นคำตอบที่ตรงจุดที่สุดสำหรับเรื่องนี้
จากคำนิยามของ Circular Economy ที่เน้นไปในด้านการ ‘นำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่’ ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างแคมเปญชั่วคราวเพื่อจัดการขยะหรือการผลิตที่ล้นจนเกินไป แต่เป็นการเปลี่ยนระบบทั้งหมดใหม่ ให้ลดของเสียที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด ทั้งจากฝ่ายผลิตและฝ่ายผู้บริโภค
สำหรับผู้ผลิตบางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แค่วางแผนการผลิตให้ดีขึ้นและรัดกุมขึ้น ปรับแนวทางการผลิตให้พอดีกับความต้องการ หลังจากนั้นค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รองรับการใช้งาน มีอายุยาวนานหรือออกแบบให้เอื้อต่อการใช้ซ้ำ รีไซเคิล เพียงเท่านี้ก็เท่ากับก้าวแรกของการเข้าสู่วงจร Circular Economy สัมฤทธิ์ผลแล้ว
ในส่วนของผู้บริโภคนั้น หากมีการสนับสนุนและแนวทางการจัดการสิ่งของต่างๆ ที่ดีพอ และสามารถมองได้ว่าพวกเขาได้ประโยชน์ ก็อาจไม่ใช่เรื่องยากเลยกับการเปลี่ยนแปลงใจผู้ใช้ โดยเฉพาะในเวลาที่กระแสสิ่งแวดล้อมและการทำเพื่อโลกมาแรงขนาดนี้ จะช่วยให้สังคมโดยรวมเติบโตโดยมีเศรษฐกิจเป็นรากฐานได้อย่างยั่งยืนทีเดียว
การประยุกต์ใช้ Circular Economy เข้ากับธุรกิจของเรา
การเปลี่ยนแปลงตนเองเข้าสู่วงจรของ Circular Economy ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความพร้อมระดับหนึ่ง ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมากพอ เราอาจใช้การประยุกต์ด้านข้อมูลและการวางแผน เพื่อควบคุมการผลิตให้พอดีกับความต้องการ เกิดการสูญเปล่าน้อยที่สุด ก่อนขยับไปทำเรื่องอื่น
โดยการประยุกต์ใช้ Circular Economy เข้ากับธุรกิจมีแนวทางดังนี้
- การจัดการทรัพยากรและการผลิต ออกแบบการผลิตที่พอดีกับความต้องการของลูกค้า ไม่มีการผลิตเกินหรือขาด หากมีต้นทุนอาจเปลี่ยนการผลิตเป็นระบบ Automation ที่มีความแม่นยำและเอื้อต่อการจัดการโดยรวมที่มากขึ้น
- การออกแบบสินค้า มีการออกแบบสินค้าให้สามารถใช้งานยาวนานและง่ายต่อการรีไซเคิลมากขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายในสภาพแวดล้อม
- การตลาด ส่งเสริมการตลาดในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะแล้วส่งกลับคืนผู้ผลิต การรับซื้อสินค้าเก่าในราคาพิเศษ เพื่อนำไปรีไซเคิลเป้นสินค้าอื่นๆ เก็บข้อมูลส่งเสริมการขาย ช่วยให้การจัดการทรัพยากรโดยรวมนั้นดีขึ้น
- การขนส่ง วางแผนการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งลูกค้าหลายเจ้าในเส้นทางเดียวกันเพื่อลดต้นทุน หรือการรียูสอุปกรณ์ กล่อง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ใช้ในการขนส่ง คำนวณเส้นทางที่สั้นที่สุด ให้การออกขนส่งแต่ละครั้งคุ้มค่ามากที่สุด
- การจัดการสินค้า มีการจัดการสินค้าในรูปแบบที่แตกต่างนอกเหนือจากการนำไปทิ้ง ทั้งการนำกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิลเป็นสินค้ารุปแบบอื่นๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนให้เป็นพลังงานเพื่อผลิตสินค้าตัวต่อๆ ไป
การผลักดันให้เกิด Circular Economy ในอนาคต
แม้ Circular Economy สามารถทำได้จริงและมีหลายประเทศทำให้เห็นมาแล้ว ทั้งจีน เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าการทำสิ่งที่เปรียบเสมือนการพลิกโฉมรูปแบบเศรษฐกิจนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้อง
สิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยตอนนี้อาจต้องเริ่มจากขั้นต้นคือการสร้าง Awareness หรือความตระหนักให้กับประชาชนคนส่วนใหญ่ในสังคม พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจกับภาคธุรกิจและเอกชน ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจให้เข้าสู่ Circular Economy มีความคุ้มค่า
และในความเป็นจริงภาคธุรกิจบางส่วนก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น กลุ่มปตท. ที่เข้าร่วมการผลักดัน Plastic Circular Economy โดยเริ่มต้นจากการนำขวดพลาสติกภายในองค์กรไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และ คาเฟ่อเมซอนที่การตกแต่งหลายส่วนตั้งแต่บรรยากาศภายในร้านไปจนถึงป้ายเมนู เกิดขึ้นจากการแปรรูปพลาสติก ถุงเมล็ดกาแฟ ตลอดจนแก้วกาแฟใช้แล้วตามหลัก Circular Living
สำหรับ Circular Economy แล้วแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศในระยะแรกๆ ภาครัฐต้องมีการให้ความช่วยเหลือและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจเช่นนี้จะส่งผลระยะยาวกับประเทศ หากทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ประชาชนพร้อม ธุรกิจไม่พร้อม หรือภาคธุรกิจพร้อม ภาคประชาชนไม่ร่วมมือ สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการก็จะกลับไปสู่จุดเดิมเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น