เป็นไปได้แค่ไหนถ้าทั้งโลกเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ?
จากกระแสในปัจจุบันคงทำให้หลายคนเห็นแล้วประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายฝ่ายทั้งในไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านพลังงาน ที่เปรียบเสมือนแกนหลักในการพัฒนามนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้า
ทว่าจะมีโอกาสแค่ไหนที่โลกทั้งใบสามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดได้ทั้งหมด หรือความคิดดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริง มาลองพิจารณากัน
พลังงานสะอาดในอุดมคติ
ดังที่กล่าวข้างต้นว่าพลังงานสะอาดเป็นจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะมีคุณสมบัติร่วมกันคือ
- สะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- แหล่งพลังงานนั้นต้องมีอยู่แล้ว
- แหล่งพลังงานนั้นสามารถเข้าถึงได้ง่าย
- พลังงานสามารถใช้งานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างพลังงานสะอาดที่สามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวันคือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ ที่สามารถหาได้ทั่วไปบนโลกของเรานั่นเอง
โดยเฉพาะในวันที่เทคโนโลยีได้ก้าวไกลไปมาก มีการพัฒนาทั้งเซลล์แสงอาทิตย์รูปแบบใหม่ กังหันลมรูปแบบใหม่ที่มีการใช้งานแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ รวมถึงสิ่งสำคัญเช่นแบตเตอร์รี่ที่ทำหน้าที่เก็บกักพลังงาน เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง กลบจุดบอดของพลังงานสะอาดบางส่วนในแง่ของการพึ่งพาธรรมชาติที่ในบางครั้งก็ยากจะคาดเดา
และในวันที่โลกกำลังเข้าใกล้การใช้งานพลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง ปัญหาบางส่วนก็เกิดขึ้น จนทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า “หรือพลังงานสะอาดจะไม่มีจริง ?”
พลังงานสะอาดที่แท้จริงไม่มีอยู่?
การใช้งานพลังงานสะอาดอย่างจริงจังในหลายๆ ประเทศ สะท้อนความเป็นจริงของประโยค “หนึ่งเหรียญย่อมมีสองด้าน” ได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ต้องแลกมากับพลังงานสะอาดบางส่วนก็อาจก่อให้เกิดโทษในภายหลังได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- การกำจัดของเสียจากการผลิตพลังงาน
- กำลังผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
- ความเสถียรในการผลิตพลังงาน
- ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากความเปลี่ยนแปลง
- เทคโนโลยีที่ยังไปไม่ถึงจุดที่สามารถตอบสนองความต้องการทางพลังงานได้เต็มที่
หลายปัจจัยที่ว่ามาก่อให้เกิดผลเสียทางอ้อม โดยเฉพาะด้านการกำจัดของเสียจากการผลิตพลังงาน รวมถึงกระบวนการบางส่วนในการผลิตที่อาจต้องใช้พื้นที่มากจนกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เช่นการสร้างเขื่อนหรือโรงงานขนาดใหญ่
หากจะกล่าวว่าพลังงานสะอาดที่แท้จริงนั้นมีอยู่หรือไม่ ณ ปัจจุบันคงสามารถบอกได้ว่า “ยังไม่มีพลังงานใดที่สะอาดจนไม่ส่งผลกระทบ 100%” นั่นเป็นสาเหตุให้ทุกประเทศต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของรูปแบบพลังงานดังกล่าวและก้าวเข้าไปใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มรูปแบบได้ทันทีเมื่อถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นนอกจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับพลังงานแล้ว ควรจะมีการศึกษาข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องด้วยว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน พลังงานแบบไหนคุ้มค่าที่สุด สัดส่วนพลังงานที่ควรผลิตเป็นอย่างไร และเราควรมีบทบาทอย่างไรในการสนับสนุนพลังงานเหล่านี้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและสร้างนิสัยใหม่ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับพลังงานสะอาดได้มากขึ้น และแน่นอนว่าหลายประเทศก็วางแผนเช่นนั้นเอาไว้แล้ว
ประเทศใดบ้างที่เข้าใกล้อุดมคติในการใช้พลังงานสะอาดทั้งประเทศ
แสงอาทิตย์ ไฟฟ้า ลม น้ำ เหล่าพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันเป็นหลักชัยสำหรับประเทศต่างๆ ที่ทำการเปลี่ยนตัวเองเพื่อก้าวข้ามเข้าไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศที่เข้าใกล้ “การใช้พลังงานสะอาด” เท่าที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
- ไอซ์แลนด์ : ไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเกือบร้อยเปอร์เซนต์ โดยเน้นในด้านพลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนจากใต้พิภพ พลังงานสะอาดไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกแล้ว แต่เป็น “พลังงานหลัก” สำหรับประเทศนี้ไปโดยปริยาย
- สวีเดน : สวีเดนมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 50% ของประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทั้งประเทศได้ในปี 2040 โดยเน้นไปในการผลิตไฟฟ้าด้วยชีวมวลและพลังงานน้ำ
- คอสตาริก้า : ประเทศขนาดเล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา คอสตาริก้าเปลี่ยนจากประเทศที่ใช้พลังงานฟอสซิล เป็นการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดแล้ว และปัจจุบันมีการผลักดันให้ใช้พลังงานสะอาดด้านคมนาคมเพื่อให้ประเทศเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดจริงๆ ในปี 2021
และมีประเทศใหญ่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสะอาดเป็นอันดับต้นๆ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงมาก เช่น
- สหรัฐอเมริกา : แม้ว่าปัจจุบันด้วยนโยบายของประธานาธิบดีจะมีการใช้งานพลังงานฟอสซิลเพิ่มเติม แต่ในภาครัฐส่วนอื่นรวมถึงภาคเอกชน มีการผลักดันพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น รวมถึงสนับสนุนประเทศอื่นๆ ให้ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนด้วย
- จีน : จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมืออีกประเทศหนึ่ง นอกจากการผลักดันให้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมอย่างหนัก โดยเน้นในด้านการสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจำกัดการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน รวมถึงออกโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุน เช่นลดราคาให้ถูกลง เพื่อประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น
จะเห็นได้ว่าแม้ตอนนี้จะยังเปลี่ยนโลกทั้งใบให้ใช้พลังงานสะอาดได้ยาก แต่ทั้งประเทศใหญ่และเล็กต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของตัวเอง เพื่อก้าวเข้าไปสู่อนาคตที่มีการใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มตัว ซึ่งประเทศๆ แต่ประชากรเยอะก็สามารถเปลี่ยนได้โดยใช้การอนุรักษ์พลังงานก่อนก็ได้เช่นกัน
แนวคิดพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต
ปัจจุบันพลังงานสะอาดได้ก้าวไปอยู่จุดไหนแล้ว ลองมาพิจารณาพลังงานแต่ละชนิด เพื่อดูว่า “พลังงานสะอาด” รูปแบบไหนบ้างที่สามารถก้าวไปใช้เป็นพลังงานหลักในอนาคตได้
- พลังงานแสงอาทิตย์: พลังงานที่ได้รับความสนใจที่สุด และน่าจะเป็นพลังงานที่มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดที่สุดเช่นกัน พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีผลกระทบขณะดำเนินการอย่างแท้จริง ทว่ายังมีข้อเสียในแง่ของความเสถียรในการผลิต และการกำจัดเซลล์พลังงาน ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีพอเนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันยังเป็นการฝังกลบและการเผาอยู่
- พลังงานน้ำ: พลังงานน้ำ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนหรือคลื่น เป็นพลังงานที่ค่อนข้างสำคัญและมีความเสถียรสูง แต่ทว่าต้องใช้พื้นที่ในการสร้างเขื่อนและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ มากมายทำให้ในบางครั้งพลังงานน้ำเองก็ไม่เหมาะกับบางพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในที่ๆ มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่มาก
- พลังงานลม: แน่นอนว่าพลังงานลมเองก็มีข้อดีคือเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีค่าเชื้อเพลิง แต่มีประเด็นอยู่ที่ว่าพลังงานลมจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและพื้นที่ รวมถึงบางครั้งกังหันลมก็มีเสียงดัง ไม่เหมาะสำหรับตั้งใกล้ผู้คนเท่าใดนัก
- พลังงานความร้อนใต้พิภพ: พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นอีกหนึ่งพลังงานที่มีความเสถียรสูงมาก และราคาต่ำ แต่ทว่าต้องใช้การจัดการที่มีประสิทธิภาพรวมถึงมีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการใช้พลังงานชนิดนี้
ส่วนพลังงานฟอสซิลนั้นปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีไหนที่สามารถกำจัดมลพิษออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ มีเพียงการพัฒนาการเผาไหม้ให้สมบูรณ์ ลดการปล่อยมลพิษให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้เท่านั้น
จะเห็นได้ว่าพลังงานสะอาดแทบทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ทว่าสิ่งหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ได้คือพลังงานทุกรูปแบบจะมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีข้อเสียน้อยที่สุดได้ อยู่ที่การปรับใช้อย่างมีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการใช้งานในพื้นที่ๆ เหมาะสม
การเปลี่ยนโลกทั้งใบให้เป็นพลังงานสะอาดอาจทำไม่ได้ในวันนี้ แต่เราก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อให้เทคโนโลยีทางพลังงานก้าวไปข้างหน้า เมื่อถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยจะได้ไม่เป็นประเทศที่ล้าหลังด้านพลังงานสะอาด และยังส่งผลให้ลูกหลานของเราไม่ต้องผจญกับมลพิษต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
