เชื่อว่าหลายๆ คนรู้จักการจัดเก็บข้อมูลแบบ Cloud Storage กันเป็นอย่างดี แต่ถ้าพูดถึงเทคโนโลยี Cloud Computing คุณอาจไม่คุ้นเคยกับมันมากนัก แต่แท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้อยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด บางทีมันอาจจะอยู่ในมือคุณ ณ ตอนนี้แล้วก็ได้
บทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับ Cloud Computing เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง สู่ความก้าวหน้า และปฏิวัติระบบการทำงานต่างๆ ผ่านเครือข่ายโลกอินเทอร์เน็ต
อัพเดตเทรนด์ล้ำๆ ในวันที่ Cloud กลายเป็นเรื่องธรรมดา
“Cloud Computing คือเทคโนโลยีที่ให้คุณสามารถใช้ Software ระบบ หรือทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต”
ในชีวิตประจำวันของหลายๆ คน Cloud Computing นั้นเริ่มกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำงานในออฟฟิศที่จำเป็นต้องใช้บริการเหล่านี้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่ง Email ระบบ Files Sharing ภายในบริษัท หรือ CRM Softwares เพื่อบริหารงานลูกค้าสัมพันธ์
คุณอาจมองว่า Email ที่คุณใช้อยู่นั้นเป็นเพียงการส่งข้อมูลผ่านทางเว็บแบบธรรมดาๆ แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังนั้นประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่เชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน เพื่อรองรับผู้ใช้งานและข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล หากต้องสร้างระบบนี้ขึ้นมาเองจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงเป็นเหตุผลที่หลายๆ องค์กรเลือกที่จะไม่สร้าง Email Server ของตัวเองขึ้นมา แต่ใช้บริการจากผู้ให้บริการเจ้าอื่นแทน
Cloud Computing นั้นจะช่วยลดต้นทุน และความยุ่งยากในการทำงาน คล้ายกับการจ้าง Outsource มาดูแลระบบของ Software ให้ เพื่อที่จะได้ Focus กับงานหลักของตัวเองจริงๆ
โดยรูปแบบของเทคโนโลยี Cloud Computing จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้
1. Software as a Service หรือ SaaS
คือบริการใช้หรือเช่า Software ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ Hardware และวางเครือข่ายใหม่ทั้งระบบ
โดยบริการ Software as a Service ที่ใกล้ตัวมากที่สุดก็คือ บริการจาก Google ผู้ให้บริการ Gmail, Google Docs หรือ Google Calendar ที่ให้คุณสามารถใช้ Software เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องทำการติดตั้ง อีกทั้งยังสามารถใช้งานจากคอมพิวเตอร์เครื่องไหน หรือที่ใดก็ได้เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต
ซึ่งรูปแบบนี้เป็นบริการที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line หรือ Email ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนั้นนับเป็นการใช้ Cloud Computing ทั้งสิ้น โดย Platform เหล่านี้ล้วนมี Server ขนาดยักษ์คอยรองรับการใช้งานของผู้คนนับล้านในแต่ละวัน ซึ่งคุณอาจไม่ได้เอะใจกันว่าสิ่งที่กำลังใช้อยู่เป็นประจำนั้นมีเบื้องหลังการทำงานที่ใหญ่โตแบบนี้รองรับอยู่
ในระดับองค์กร ทาง Google มีบริการชื่อว่า G suite ที่พัฒนา Software เหล่านี้เพื่อให้ตอบโจทย์การบริหารจัดการภายในองค์กรได้ดีขึ้น อย่างการเปลี่ยนมาใช้ Google Docs จัดการเอกสาร เพราะความสะดวกที่สามารถเข้าถึงไฟล์งานจากที่ไหนก็ได้ และแชร์ให้กันเพื่อการจัดการที่ง่ายขึ้น
หรือแม้แต่ Microsoft ที่เริ่มเปลี่ยนจากการให้บริการดาวน์โหลดโปรแกรมเพื่อใช้แบบ Offline เปลี่ยนมาให้บริการในรูปแบบ SaaS ผ่านช่องทาง Online เช่นเดียวกัน อย่างเช่น Microsoft Office ต่างๆ ที่เรารู้จักกันดี ทั้ง Word, PowerPoint หรือ Excel
2. Platform as a Service หรือ Paas
สำหรับรูปแบบ Platform as a Service จะเป็นการให้บริการด้าน Platform สำหรับ Developer ที่ทำงานด้าน Software และแอปพลิเคชัน โดยผู้ให้บริการจะจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้พัฒนาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Server, Hardware, Software และชุดคำสั่งต่างๆ
ตัวอย่างเช่น Microsoft Azure และ Google App Engine ที่หลากหลายองค์กรเลือกนำมาใช้เพื่อลดต้นทุน และเป็นตัวช่วยจัดการงาน แม้แต่ Platform ชื่อดังอย่าง Snapchat ก็ใช้ Google App Engine สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันและประสบความสำเร็จโดยใช้ทีมงานเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
3. Infrastructure as a Service หรือ IaaS
Infrastructure as a Service เป็นบริการเพื่อใช้โครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์อย่างเช่น หน่วยประมวลผล (RAM) หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูล ทำให้ในองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบ IT ได้อย่างยืดหยุ่น สามารถขยายหรือปรับลดตามความเติบโตขององค์กรได้
ตัวอย่างเช่น ระบบ Cloud Storage ของ Google Drive หรือ Dropbox ซึ่งให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูล หรือบริการเช่าพื้นที่ประมวลผลและ Server เสมือนเพื่อทดลองรันแอปพลิเคชันอย่าง Google Compute Engine, Amazon Web Services และ Microsoft Azure
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ในทุกบริการจะมีชื่อของ Google อยู่ด้วยเสมอ เป็นเพราะว่า Google เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี Cloud Computing ว่ากำลังเป็นที่ต้องการสำหรับหลากหลายองค์กร และมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งเมื่อลองพิจารณาดูแล้ว Cloud Computing มีอะไรที่เหนือกว่าซอฟแวร์แบบ Offline บ้าง
- ไม่ต้องใช้เวลาโยกย้ายไฟล์ไปมาเพื่อการทำงาน เข้าถึงส่วนงานได้จากที่ไหนก็ได้เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ขยายข้อจำกัดของผู้ใช้บริการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างเช่น พื้นที่เก็บข้อมูล Online หรือ Server เสมือนเพื่อทดลองรันแอปพลิเคชัน โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเงินอัพสเปคคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้
- ช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา และจัดการด้าน IT ได้ง่ายขึ้น
- ไม่ต้องเสียเวลาดูแลระบบ เพราะผู้ให้บริการมีทีมงานคอยดูแลอยู่แล้ว
- มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง เพราะไฟล์และโปรแกรมต่างๆ ถูกจัดเก็บไว้ใน Super Computer ของผู้ให้บริการซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้หลากหลายองค์กรต่างเปลี่ยนจากระบบเดิมมาใช้ Cloud Computing กับ Google มากขึ้น ทำให้ Google ยังคงเป็นมหาอำนาจทางอินเทอร์เน็ต และสร้างกำไรมหาศาลได้อย่างต่อเนื่อง
Cloud กับประเทศไทย ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
เนื่องจาก Cloud Computing สามารถสร้างระบบที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่มีความยืดหยุ่นที่ค่อนข้างสูง ทำให้ตอบโจทย์หลายๆ องค์กรในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงเช่นนี้ ทำให้ปัจจุบันมีหลากหลายองค์กรเปิดให้บริการ Cloud Computing สำหรับเหล่าผู้ประกอบการภายในประเทศไทย
ยกตัวอย่างผู้ให้บริการ เช่น True IDC, TOT หรือ AIS เหล่าผู้ให้บริการด้านสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนรู้จักกันดี ซึ่งพัฒนาระบบเพื่อให้บริการสำหรับเครือข่ายภายในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่จนถึงผู้ประกอบการ SME และ Startup
สำหรับองค์กรในประเทศไทยที่ใช้ Cloud Computing ในการพัฒนาระบบ เช่น Ookbee ที่ให้บริการหนังสือและนิตยสารออนไลน์ และ Builk ที่เป็น Social Network สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องภายในวงการก่อสร้าง ที่ใช้บริการ Cloud Computing แบบ IaaS สำหรับการพัฒนาเพื่อให้รองรับผู้เข้าใช้บริการที่มำจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน ด้วยเหตุผลที่ Cloud Computing สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีความเสถียรภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย
นอกจากบริษัทและองค์กรต่างๆ แล้ว Cloud Computing ยังสามารถปรับรูปแบบเพื่อใช้งานภายในสถาบันทางการศึกษา อย่างเช่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีการให้บริการในลักษณะ IaaS สำหรับเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้บุคลากรหรือนักศึกษาที่มาใช้บริการสามารถใช้ Server เสมือน หรือปรับเพิ่มทรัพยากรอย่าง RAM, CPU หรือ Hard Disk ได้ตามต้องการ
ภายในองค์กรของภาครัฐฯ เองก็มีการใช้ Cloud Computing เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐฯ อย่างเช่นกรมการขนส่งทางบกที่นำมาพัฒนาระบบการจองคิวใช้บริการ รวมถึงฐานข้อมูลของผู้มาใช้บริการอีกด้วย
หนทางต่อไปกับการประมวลผลกลุ่มเมฆ
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Cloud Computing นั้นส่งผลต่อธุรกิจในแต่ละองค์กรเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้กำลังถูกต่อยอดพัฒนาเพื่อสร้าง Platform ที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางธุรกิจ โดยนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีอื่นๆ
ลดต้นทุนด้าน Server ด้วยเทคโนโลยี Serverless Computing
ปัจจุบันเทคโนโลยี Cloud Computing กำลังพัฒนาเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ Server ที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ เหล่าบริษัทและองค์กรทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องเพื่อสร้างระบบ Server ของตัวเองเลยสักตัว อีกทั้งยังมีผู้ให้บริการคอยดูแลและจัดการระบบให้
แต่ข้อมูลขององค์กรเหล่านี้นับเป็นความลับสำคัญ ประกอบกับเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ การฝากข้อมูลไว้กับระบบออนไลน์จึงมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย เพราะฉะนั้น จึงมีการพัฒนาระบบ Cloud Security ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง
ประมวลผลข้อมูลผ่าน Artificial Intelligence Platform
การพัฒนา AI เพื่อทำการประมวลผล Data ผ่านระบบฐานข้อมูลต่างๆ ในฐานข้อมูลของ Cloud นับเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในอนาคต โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ยิ่งสามารถประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลดีต่อหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ
โดยปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาร่วมกับระบบ Data Science เพื่อให้ AI สามารถรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ผลออกมาได้อย่างอัตโนมัติ อีกทั้งยังผนวกเข้ากับเทคโนโลยี Machine Learning เพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และต่อยอดให้ระบบนี้กลายเป็น Data Platform ที่มีคุณภาพในอนาคต
นอกจากการพัฒนาเพื่อธุรกิจแล้ว Cloud Computing ยังถูกนำมาประยุกต์เพื่อใช้ในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีในวงการเกม
ก้าวใหม่ของ Cloud Computing ในวงการเกม
สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารในวงการเกม เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดนั่นก็คือ Stadia เป็นโปรเจ็คท์ที่ถูกพัฒนาโดย Google ด้วยแนวคิดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินอัพสเปคคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมคุณภาพสูงอีกเสมอไป
โดย Stadia นี้จะทำการประมวลผลของกราฟฟิคต่างๆ ในเกม และประมวลผลส่งมาให้ผู้ใช้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็มีข้อแม้ว่าจะต้องมีความเร็ว Internet ขั้นต่ำถึง 50 mb/s และมีเสถียรภาพสูง ซึ่ง Stadia ถือว่าเป็นก้าวใหม่ที่จะมาปฏิวัติวงการเกมเลยทีเดียว
สรุป
เทคโนโลยี Cloud Computing นำมาซึ่งความสะดวกในด้านของการเข้าถึง Software และแอปพลิเคชันต่างๆ เป็นอย่างมาก ยิ่งรู้จักมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้บริการของมันได้มากมายและหลากหลายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเสียเงินอัพเกรด Hardware หรือทำ Server เป็นของตัวเองก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีคุณภาพที่ทันสมัยได้
เห็นได้ชัดว่าตอนนี้ทั้งบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ จะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนสุดท้ายเทคโนโลยีก็จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเติบโตในอนาคต เราจึงควรติดตามและอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอย่าง Cloud AI ไปจนถึง Machine อื่นๆ อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด