ขึ้นชื่อว่ากาแฟ ใครๆ ก็คงต้องคิดถึงภาพการคั่วเมล็ดกาแฟกรุ่นๆ ก่อนนำมาเข้าเครื่องบด ผ่านความร้อนเข้าสู่การชงให้กลายเป็นกาแฟทีเรากินกัน แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามทำกาแฟแบบ “ไม่มีเมล็ด” ขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ว่าการปลูกกาแฟใช้พลังงานและพื้นที่มากไป
แม้จะดูเป็นไปไม่ได้แต่ทว่ามันกลับเกิดขึ้นแล้ว และรสชาติของกาแฟนั้นก็ดีกว่าที่หลายๆ คนคาดด้วย มาเจาะลึกกาแฟแบบไม่ใช้เมล็ดในบทความนี้กันเลย
เบื้องหลังแนวคิด “ไม่ใช้เมล็ดกาแฟ”
Atomo Coffee คือสตาร์ทอัปที่โด่งดังขึ้นมาด้วยการกระดมทุนเพื่อผลิตกาแฟแบบ “ไม่ใช้เมล็ด” ด้วยฝีมือของเหล่านักวิทยาศาสตร์อาหารโดยมีผู้นำคือ Jarret Stopforth และ Andy Kleithsch ที่เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเราลองใช้ผลิตกาแฟที่ไม่ใช้เมล็ดกาแฟ ผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร
ทีมงานเลยมีการทดลองโดยเป็นการใช้วิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse-Engineering) เพื่อนำสารต่างๆ ที่อยู่ในกาแฟออกมาวิเคราะห์ และทำการทดสอบว่าสารตัวไหนให้รสชาติอย่างไร รสชาติเหมือนกับแหล่งผลิตกาแฟแบบไหน (กาแฟมักมีการแบ่งรสชาติตามวิธีคั่วและพื้นที่เพาะปลูก) ก่อนทำการนำสารต่างๆ ที่สามารถพบเจอในกาแฟ (และสามารถพบได้จากแหล่งอื่นๆ) มาผสมรวมกัน
มันก่อให้เกิดกาแฟแบบใหม่ทีไม่ได้ใช้เมล็ดกาแฟ ซึ่งถูกเรียกว่า Molecular Coffee หรือกาแฟโมเลกุล ที่เหมือนกาแฟจริงที่ใช้เมล็ดทำแบบแทบแยกไม่ออก
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่เกิดจากเรื่องนี้คือเราไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายเพื่อการปลูกกาแฟอีกแล้ว เพียงแค่คุณมีความสามารถมากพอคุณก็สามารถผลิตกาแฟรสชาติทัดเทียมกับกาแฟชั้นเลิศได้
ซึ่งข่าวของการไม่ใช้เมล็ดกาแฟนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ประเด็นของการกินแล้วอร่อยเท่านั้น มันยังส่งผลกระทบต่อวงการสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนด้วย
น้ำหนักของสิ่งแวดล้อมต่อกาแฟ 1 แก้วในมือ
ทำไมข่าวของการ “ไม่ใช้เมล็ดกาแฟ” จึงสำคัญนัก ?
ในวงการของการดื่มกาแฟสิ่งที่เรามักเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมักอยู่ที่ภาชนะ เช่นการเปลี่ยนแก้ว หลอด ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะทุกคนยังยึดติดอยู่กับว่าวัตถุดิบไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้
เรื่องดังกล่าวทำให้หลายคนมองข้ามผลกระทบจากการปลูกกาแฟไป แม้เดิมทีกาแฟจะใช้การปลูกแซมพืชชนิดอื่นๆ ภายในป่า และปล่อยให้ธรรมชาติดูแล แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าประกอบกับความต้องการกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการปรับปรุงพันธ์ุกาแฟให้ทนต่อสภาพอากาศ สามารถเติบโตได้ดีในที่โล่งกว้าง หลังจากนั้นมหกรรมการ “โค่นป่า ปลูกกาแฟ” ก็เริ่มต้นขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ป่ายั่งยืนหายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งในไทยและต่างประเทศ
แน่นอนว่ายังมีหลายที่ที่ยังมีการปลูกกาแฟแซมป่าแบบเดิม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีพื้นที่สีเขียวที่แท้จริงลดลงไปจำนวนมากและแทนที่ด้วยไร่ของผู้คน
นั่นยังไม่นับรวมปริมาณการใช้น้ำ สารเคมี ในการบำรุงรักษากาแฟ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เราต้องหวนย้อนกลับมาคิดว่าสรุปแล้ว กาแฟหนึ่งแก้วในมือของเรานั้นต้องแลกไปด้วยอะไรบ้าง
จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ไม่มีกาแฟแล้ว
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นแต่อย่างใด ในช่วงปี 2016 ทางสถาบันภูมิอากาศของออสเตรเลีย (The Climate Institute of Australia) เคยออกมาระบุว่า หากภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ ช่วงปี 2050 พื้นที่ปลูกกาแฟภายในโลกจะเริ่มได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อการผลิตและการเติบโตของกาแฟ และหากไม่มีการแก้ไขอีก โอกาสที่กาแฟจะสูญพันธุ์ไปเลยหลังจากนั้นก็มีเช่นกัน
แม้ว่าทางสถาบันภูมิอากาศออสเตรเลียจะคาดเดาไว้ว่าจะเกิดผลกระทบช่วงปี 2050 แต่ถ้าพฤติกรรมมนุษย์ยังแย่ลงเรื่อยๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะกินกาแฟเทียมหรือกาแฟแท้ เพราะต้นกาแฟอาจจากพวกเราไปเร็วกว่าที่คิด
กาแฟที่ไม่ใช้เมล็ดจึงอาจกลายเป็น “อนาคต” เฉกเช่นเดียวกับอาหารเทียมอื่นๆ เมื่อวันที่เราจำเป็นต้องลดการผลิตอาหารจริง และให้ความสำคัญกับอาหารสังเคราะห์หรืออาหารเทียม เพื่อความอยู่รอดด้านอื่นของมนุษยชาติ แม้จะดูเป็นไปไม่ได้ ทว่าเรื่องราวเหล่านั้นก็เหมือนกับกาแฟของ Atomo Coffee ที่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งโลกจะสามารถผลิตกาแฟแบบไม่ใช้เมล็ดได้จริงๆ
