Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Cultured meat : เนื้อจากห้องแล็บสู่จาน จุดเปลี่ยนการกินในอนาคต

30 ธ.ค. 2020
SHARE

เนื้อเทียม กลายเป็นศัพท์ที่คนในยุคปัจจุบันคุ้นหูและไม่คิดว่ามันไกลตัวอีกต่อไป แต่ทว่าในบรรดาเนื้อเทียมเหล่านั้นก็ยังมีเนื้อเทียมบางประเภทที่โดดเด่นจากเนื้ออื่นๆ นั่นคือเนื้อที่สังเคราะห์จากห้องแล็บ หรือ Cultured meat นั่นเอง

Cultured meat คืออะไร ต่างจากเนื้อเทียมทั่วไปอย่างไร 

Cultured meat หรือที่บางคนเรียกว่า Lab grown meat คือเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์ในห้องทดลอง ให้กลายเป็นเนื้อชิ้นใหญ่ พอเพียงให้มนุษย์สามารถรับประทานได้ 

สังเกตได้ว่าสิ่งที่ทำให้เนื้อสัตว์จากแล็บนี้ต่างจากเนื้อเทียมประเภทอื่นๆ คือการ “เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” นั่นเอง โดยเป็นวิธีที่ทางศาสตราจารย์ มาร์ค โพสต์ นำเสนอต่อคนทั่วโลกเมื่อปี 2012 และต่อมาก็ทำให้มีคนให้ความสนใจกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อรับประทาน และการประยุกต์ใช้เนื้อเทียมจากสิ่งอื่นๆ 

Cultured Meat

ปัจจุบันเนื้อเทียมที่มีขายโดยทั่วไป มักมีการทำมาจาก Plant based protein เสียส่วนใหญ่ เช่น ถั่วชนิดต่างๆ ข้าวสาลี ธัญพืช การเข้ามาของ Cultured meat จึงถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และยังมีไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายเรื่องการขายเนื้อเทียมประเภทสังเคราะห์จากแล็บสู่ภาคประชาชนอย่างจริงจัง 

ซึ่งประเทศแรกที่อนุมัติเรื่องนี้คือ สิงค์โปร์

คุณสามารถอ่านเรื่องเกี่ยวข้องกับเนื้อเทียมได้ที่ เจาะลึกแบบเนื้อๆ ที่ไม่เนื้อ กับเรื่องราวของเนื้อเทียม

คำอนุมัติของสิงคโปร์ จุดเปลี่ยนของวงการอาหาร

สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้ขายเนื้อสัตว์จากห้องทดลองเพื่อการพาณิชย์ได้ โดยอนุมัติให้มีการขายนักเก็ตไก่ที่ทำจากไก่สังเคราะห์ จากบริษัท Eat Just

 

 

เรื่องนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการอาหาร เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่ทำเนื้อสัตว์สังเคราะห์รายอื่นๆ สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เห็นความสำคัญของการศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อรับประทาน เพื่อขยายตลาดและโอกาสการลงทุนในอนาคต

ที่สำคัญที่สุดคือสิงคโปร์จะเป็นตัวสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” ของเนื้อเทียม

Cultured meat กับการยอมรับของคนในสังคม

แม้จะดูล้ำหน้าขนาดไหน แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า การนำเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บเข้ามาขายนั้นดูจะเร็วเกินไปสักหน่อย 

ประการแรกคือต้นทุนของเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากแล็บยังคงสูงอยู่ หากเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ปกติตามธรรมชาติ แม้ว่าแนวโน้มด้านราคาโดยรวมจะกำลังลดลงก็ตาม

ประการต่อมา สืบเนื่องจากข้อแรก ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า cultured meat นั้นดูไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากมันถูกผลิตออกมาจากแล็บวิจัย ยิ่งเป็นของแพงมากกว่าเนื้อปกติ ยิ่งทำให้ประชาชนส่วนมากเข้าถึงได้ยากพอสมควร 

Cultured Meat

แม้แต่คำเรียก “เนื้อเทียม” เองก็ดูเป็นประเด็นอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะทางองค์กรปศุสัตว์สหรัฐอเมริกา (USCA) ก็เคยออกมาเรียกร้องกับกระทรวงเกษตรประเทศตนเองเมื่อปี 2018 ว่าควรใช้คำอื่นแทน meat ที่แปลว่าเนื้อสัตว์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ได้มาจากแล็บทดลอง แต่เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันระดับสากลก็ยังมีการใช้ศัพท์ meat กันอย่างแพร่หลาย

ประการสุดท้ายผู้คนยังยึดติดกับ “เนื้อจริงๆ” อยู่ เพราะแม้ว่าจะมีการโฆษณาขนาดไหน ผู้ที่ทานเนื้อเทียมจำนวนมากก็ยังให้ความเห็นว่ารสชาติของมันยังไม่เทียบเท่าเนื้อที่ทานกันแบบปกติ 

ด้วยปัจจัยทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ก้าวต่อไปของเนื้อเทียมทั้งจากสังเคราะห์ในแล็บ และเนื้อประเภทอื่นๆ จะเติบโตไปในทิศทางใด และจะมีเจ้าไหนบ้างที่สามารถทำเนื้อเทียมออกมาได้ “อร่อยและคุ้มค่า” ถูกใจคนทั่วไปจริงๆ

สรุป

การอนุมัติขายเนื้อเทียมเชิงพาณิชย์ในประเทศสิงคโปร์ อาจเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้กระแสการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อเทียมจากห้องแล็บมีการเปิดกว้างทั้งการลงทุน การสร้างนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเป็นที่ยอมรับและเกิดการขายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายเนื้อเทียมในระดับสากลนั้ยยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งคุณภาพ ราคา กฎระเบียบ รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจจนเกิดเป็นยอมรับจากผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการเลี้ยงสัตว์ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อจำกัดด้านทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์ทั้งพื้นที่ น้ำ และอาหาร รวมถึงการเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของสัตว์ในปัจจุบัน อาจทำให้เนื้อเทียมได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต

 

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo