International Data Corporation คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายเกี่ยวกับโซลูชัน Cyber Security ทั่วโลกจะสูงถึง 133,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2022 เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็วและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน
ครั้งหนึ่ง John Chambers อดีต CEO ของ Cisco เคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “ทุกวันนี้มีบริษัทอยู่สองประเภท คือ บริษัทที่ถูกแฮ็กและบริษัทที่ไม่รู้ตัวว่าถูกแฮ็ก” การดำเนินธุรกิจตามมาตรการ Cyber Security อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องท้าทายในยุคปัจจุบันที่จำนวนอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีมีมากกว่าจำนวนผู้ใช้ อีกทั้งเหล่าแฮ็กเกอร์ก็เริ่มมีวิธีโจมตีทางไซเบอร์ด้วยความเหนือชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ
เราจะป้องกันธุรกิจให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ได้อย่างไร? ถ้ายังไม่รู้ทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปเจาะลึกเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ Cyber Security
Cyber Security คืออะไร?
Cyber Security หรือการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ การปกป้องระบบที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูลจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เพื่อป้องกันการเข้าถึงศูนย์ข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การโจมตีทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในประเทศพัฒนาแล้วและธุรกิจจำนวนนับไม่ถ้วนที่ต้องประสบกับความเสียหายครั้งใหญ่จากการละเมิดข้อมูลที่ยืนยันแล้วมากกว่า 2,000 รายการทั่วโลกในแต่ละปี โดยการละเมิดแต่ละครั้งมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยมากกว่า 3.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และ 8.1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเฉพาะในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2000 ผู้คนมากกว่า 3.5 พันล้านคนหรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลกถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวโดยอาชญากรไซเบอร์
ดังนั้น ไม่ว่าองค์กรของคุณจะเป็นธุรกิจขนาดใดก็ตาม การเตรียมพร้อมด้าน Cyber Security เพื่อป้องกันภัยคุกคามและสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ จึงเป็นสิ่งที่ควรลงทุนและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
ประเภทของภัยคุกคาม Cyber Security ที่ควรรู้
การวางแผนสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นงานที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์นับล้านคนได้พัฒนายุทธวิธี เทคนิค และขั้นตอนการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ต่อไปนี้ คือ ประเภทของภัยคุกคาม Cyber Security บางส่วนที่คุณควรรู้
Malware
เป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตีทางไซเบอร์ สามารถแพร่กระจายตัวเองจนสร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ทำให้ข้อมูลเสียหายหรือขัดขวางการทำงานของระบบ รวมถึงการเปิดช่องให้ผู้โจมตีเข้าถึงเพื่อดำเนินการที่เป็นอันตรายอื่นๆ ได้ไม่จำกัด
Ransomware
Malware ประเภทหนึ่งที่ล็อคไฟล์ระบบคอมพิวเตอร์ของเหยื่อผ่านการเข้ารหัส เพื่อเรียกร้องเงินค่าไถ่จำนวนมากแลกกับการถอดรหัสและปลดล็อคไฟล์เหล่านั้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อข้อมูลขององค์กร เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะกู้คืนข้อมูลหากไม่มีแผนสำรองที่มีประสิทธิภาพ
Phishing
การส่งอีเมลและข้อความไปหลอกลวงเหยื่อโดยปลอมแปลงเป็นองค์กรหรือเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง บ่อยครั้งเป็นการโจมตีแบบสุ่มและมีเจตนาที่จะขโมยข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลบัตรเครดิตหรือข้อมูลการเข้าสู่ระบบ
Advanced Persistent Threats (APTs)
การโจมตีทางไซเบอร์แบบกำหนดเป้าหมายระยะยาวกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยผู้โจมตีจะแทรกซึมเข้าไปในเครือข่ายและหลบหลีกการตรวจจับเป็นเวลานานๆ มักมีเป้าหมายเพื่อขโมยเงินหรือข้อมูลลูกค้าที่สำคัญและละเอียดอ่อน รวมทั้งการทำลายหรือขัดขวางระบบการทำงานขององค์กรที่มีความสำคัญ
Code Injection
การส่งรหัสที่เป็นอันตรายไปยังระบบคอมพิวเตอร์และทำให้ระบบประมวลผลเรียกใช้รหัสนั้น จากนั้นจะใช้การแทรกโค้ดเพื่อเข้าควบคุมระบบต่างๆ เช่น เว็บเซิร์ฟเวอร์ แอปพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูล และดำเนินการตามเป้าหมายที่ผู้โจมตีต้องการ
Denial of Service (DDoS)
การส่ง Traffic ปลอมจำนวนมากไปยังระบบคอมพิวเตอร์จนปริมาณการรับส่งข้อมูลท่วมท้น และปฏิเสธการเข้าถึงของผู้ใช้งานระบบที่มีสิทธิถูกต้อง โดยผู้โจมตีสามารถทำให้ระบบช้าลงหรือหยุดทำงาน ซึ่งการหยุดชะงักของบริการที่สำคัญจะสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Bots and Automated Attacks
การโจมตีทางไซเบอร์ที่ดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติที่เรียกว่า Bot ซึ่งสามารถสแกนหาช่องโหว่ของระบบจากการพยายามคาดเดารหัสผ่าน ติดระบบด้วยมัลแวร์ และวิธีอื่นๆ ที่เป็นอันตรายอีกมากมาย
นอกจากตัวอย่างข้างต้น ยังมีการโจมตี Cyber Security ประเภทอื่นๆ เช่น Botnets, Drive-by-Download Attacks, Man-in-the-Middle (MitM) Attacks, Exploit Kits, Malvertising, Vishing, Credential Stuffing Attacks, Cross-Site Scripting (XSS) Attacks, Business Email Compromise (BEC) และ Zero-Day Exploits เป็นต้น
6 เทรนด์เทคโนโลยี Cyber Security ที่น่าสนใจ
1. Machine Learning
การรักษาความปลอดภัย Cyber Security ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning คือ การวิเคราะห์และเปรียบเทียบเชิงบริบทโดยอ้างอิงจากการเรียนรู้ของเครื่องจักร เพื่อช่วยระบุพฤติกรรมทางไซเบอร์ที่ผิดปกติหรือน่าสงสัย พร้อมจัดลำดับความสำคัญของการแจ้งเตือน จึงช่วยให้ทีมงานรักษาความปลอดภัยด้านไอทีทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. API Security
API Security ช่วยปกป้องและตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเพียงการรับส่งข้อมูลที่ต้องการเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงปลายทาง API ของคุณได้ เช่นเดียวกับการตรวจจับและบล็อกการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของผู้โจมตี ซึ่งปัจจุบันมีการนำเสนอโซลูชันการป้องกัน API ที่ไม่ต้องบำรุงรักษาและสามารถปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของ API ได้โดยอัตโนมัติ
3. Cloud Security
Cloud Security ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับระบบ Cloud ทั้งแบบส่วนตัว สาธารณะ และ Multi Cloud รวมถึงการปกป้องแอปพลิเคชัน API และฐานข้อมูลด้วยจุดควบคุมเดียว นอกจากนี้ การกำหนดค่าคุณสมบัติความปลอดภัยโดยเฉพาะคุณสมบัติการแยกเครือข่าย เช่น Virtual Private Cloud (VPC) ต้องมีโซลูชัน Identity and Access Management (IAM) ที่แข็งแกร่ง เพื่อกำหนดบัญชีผู้ใช้ บทบาท และนโยบายควบคุมการเข้าถึงที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ
4. Advanced Bot Protection
Advanced Bot Protection เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยวิเคราะห์ปริมาณการใช้ Bot เพื่อระบุความผิดปกติและพฤติกรรมของ Bot ที่ไม่ดี โดยตรวจสอบผ่านกลไกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับส่งข้อมูลของผู้ใช้หรือ Bot ที่ดี รวมทั้งช่วยคัดกรองการเข้าถึงที่ไม่พึงประสงค์ตามแหล่งที่มา ภูมิศาสตร์ รูปแบบ หรือ IP ที่ถูกขึ้นบัญชีดำออกจากระบบ
5. File Security
เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของไฟล์สามารถระบุกิจกรรมของไฟล์ที่น่าสงสัยได้โดยอัตโนมัติ เช่น ไฟล์ที่แสดงถึงความพยายามในการขโมยข้อมูล การโจมตีของ Ransomware หรือแม้แต่ความผิดพลาดของผู้ใช้ที่ลบไฟล์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือคัดลอกไฟล์ไปยังตำแหน่งที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ File Security ยังช่วยตรวจสอบการเข้าถึงของผู้ใช้ทั้งหมดอย่างต่อเนื่องไปยังระบบจัดเก็บไฟล์ขององค์กร และเก็บบันทึกรายละเอียดของกิจกรรมการเข้าถึงไฟล์ทั้งหมด รวมถึงการกำหนดผู้ใช้ที่มีสิทธิพิเศษด้วย
6. Runtime Application Self-Protection (RASP)
RASP เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสแกนและตรวจสอบ Source Code ของแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจจับการโจมตีที่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนในโค้ด เช่น การแทรกโค้ดและการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่รู้จัก นอกจากนี้ ยังช่วยตรวจจับ Traffic และพฤติกรรมของผู้ใช้ หากพบปัญหาก็จะดำเนินการบล็อกคำขอของผู้ใช้และแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านไอทีทันที
สรุป
Cyber Security หรือการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นแนวทางปฏิบัติในการปกป้องระบบและข้อมูลที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อนจากการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งมักพุ่งเป้าไปที่การรีดไถเงินหรือขัดขวางระบบการดำเนินงานของธุรกิจให้หยุดชะงัก ทุกวันนี้อาชญากรไซเบอร์ได้พัฒนาการโจมตีรูปแบบใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้ Cyber Security ยิ่งมีบทบาทสำคัญและทุกองค์กรควรใส่ใจ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่อระบบเครือข่ายและข้อมูล ไม่ว่าจะมาจากภายในหรือภายนอกองค์กรก็ตาม
ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีมากมายที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านั้น เช่น Machine Learning, API Security, Cloud Security, Advanced Bot Protection เป็นต้น ซึ่งองค์กรที่มีกลยุทธ์ด้าน Cyber Security ที่ครอบคลุมพร้อมทีมงานด้านไอทีที่มีความรู้เชี่ยวชาญจะสามารถป้องกันภัยไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
