Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Design Thinking คืออะไร? และเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

20 ก.พ. 2019
SHARE

การออกแบบคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งเบื้องหลังงานออกแบบไม่ได้ใช้เพียงแค่ทักษะอย่างเดียว แต่ต้องผ่านกระบวนการคิด การทำงานที่ถูกต้องด้วย จึงกลายเป็นที่มาของ “Design Thinking” กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา และสามารถประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย

Design Thinking คืออะไร?

“Design Thinking” คือ “การคิดเชิงออกแบบ” หมายถึงกระบวนการคิดเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหา โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาไอเดียและแนวทางการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรม หรือความใหม่ที่มีคุณค่า และสามารถเสริมสร้างสิ่งเดิม หรือแก้ไขปัญหาได้

design thinking คืออะไร

การคิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของ ‘คน’ เราควรเริ่มต้นจากเข้าใจปัญหาและความต้องการของคน แล้วจึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้โจทย์นั้น

ปัจจุบันองค์กรทั้งขนาดเล็กและใหญ่ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Google, Apple, Phillips, P&G หรือ Airbnb ได้นำแนวทาง Design Thinking ไปใช้ในการทำงาน ซึ่ง Design Thinking มีส่วนสำคัญในการออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ การบริการ ไปจนถึงการวางแผนกลยุทธ์ทำธุรกิจ

ก่อนจะไปดูว่าขั้นตอนการทำงานของ Design Thinking มีอะไรบ้าง เรามาเริ่มต้นด้วยวิธีคิดที่ถูกต้องกันก่อน

หลักคิดของ Design Thinking

Mindset หรือวิธีคิดเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการประสบความสำเร็จทุกๆ เรื่อง บทความนี้เราได้สรุป 3 หลักคิดง่ายๆ ที่เป็นรากฐานสำคัญของ Design Thinking ดังนี้

1. มีเป้าหมายชัดเจน

เป้าหมายสำคัญอย่างไร? เป้าหมายเปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศขององค์กร ทุกคนในทีมควรรู้ ‘จุดยืน’ ขององค์กรตรงกัน รู้ว่าจุดใดที่ต้องการจะไปและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นฝึกให้คนในทีมทบทวนเป้าหมายองค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาให้ทุกคนอยู่บนเส้นทาง

2. คิดนอกกรอบ

คิดนอกกรอบในที่นี้สามารถมองในแง่การค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยู่เสมอ อาจจะมาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การตั้งคำถามยังมีประโยชน์อย่างมาก “คำถามที่ดีจะนำไปสู่คำตอบที่มีคุณภาพ” เป็นอีกทางหนึ่งที่จะสามารถจุดประกายความคิดได้

3. ฝึก ‘ทำ’ ให้มากกว่าคิด

การคิดค้นนวัตกรรมย่อมเกิดจากไอเดีย แต่สามารถเกิดขึ้นจริงด้วย “การลงมือทำ” หลายๆ ไอเดียไม่สามารถต่อยอดเป็นผลงานได้เพราะมัวแต่คิด วางแผนละเอียดเกินไป ดังนั้นควรจะคิด ทำ และพัฒนาควบคู่กันไป

ขั้นตอนการทำงานของ Design Thinking

แม้ว่าทุกๆ นวัตกรรมมีการทำงานแตกต่างกัน แต่เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น กระบวนการทำงานและวิธีคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมต่างๆ ล้วนมีขั้นตอนคล้ายคลึงกัน อ้างอิงจาก Design Council กระบวนการออกแบบสามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอน มีหน้าตาเหมือน Double Diamond (เพชรคู่) ได้แก่ Discover, Define, Develop และ Deliver  

ขั้นตอนการทำงานของ design thinking

1. Discover สังเกตปัญหาใหม่ๆ

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจุดเริ่มต้นของ Design Thinking คือ ‘คน’ ขั้นตอนแรกเริ่มจากการค้นหาปัญหาและความต้องการของคน ซึ่งต้องใช้การตั้งคำถามให้มาก สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ฝึกที่จะมองโลกในมุมมองใหม่ๆ แล้วจดบันทึกเก็บข้อมูล

2. Define ทำความเข้าใจกับปัญหา

เมื่อเราค้นหาเจอปัญหาแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการทำความเข้าใจว่าปัญหาใดมีความสำคัญมากที่สุด และมีความเป็นไปได้ โดยเรียงลำดับก่อนหลัง

3. Develop สร้างสรรค์

ขั้นตอนนี้คนในทีมต้องช่วยกันระดมไอเดียและต่อยอดไปจนเจอแนวทางการแก้ปัญหา หรือเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถนำไปทดสอบการทำงานได้ ซึ่งจะต้องมีแก้ไขข้อผิดพลาด พัฒนาต่อจนสามารถตอบโจทย์ปัญหาในขั้นตอนแรกได้

4. Deliver ส่งต่อและพัฒนาไอเดียให้เกิดขึ้นจริง

สำหรับขั้นตอนสุดท้ายคือ การส่งต่อผลลัพธ์ที่ได้จากขั้นตอนก่อนหน้าให้เกิดการนำไปใช้จริง

Design Thinking กับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

บทความ Design Thinking คืออะไร?

ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดก็สามารถประยุกต์ใช้ Design Thinking ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ เช่นเดียวกันกับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ 4 ขั้นตอนของ Design Thinking

เริ่มต้นจาก Discover ค้นหาปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษจากการผลิตพลังงาน การขาดแคลนพลังงาน เป็นต้น แล้วจึง Define เพื่อเลือกปัญหาที่สำคัญหรือมีความเป็นไปได้ ตัวอย่างจากทีม ExpresSo บริษัท ปตท. คือการซึ่งเล็งเห็นถึงปัญหาขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของประเทศไทย และปัญหาของพลังงานทดแทนที่มีความไม่แน่นอน จึงได้นำประเด็นปัญหานี้ไปต่อยอด

ขั้นตอนต่อมาคือ Develop พัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาโดยผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ หรือร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เช่น ExpresSo ใช้เทคโนโลยี Blockchain และ AI เพื่อพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน “Smart Energy Platform” ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้แบบ Real-time นอกจากนี้ในอนาคตยังมีระบบซื้อขายพลังงานสะอาดระหว่างครัวเรือนด้วย สุดท้ายคือการ Deliver นำระบบไปใช้งานจริง

ประยุกต์ใช้ design thinking กับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

สรุป

หัวใจของ Design Thinking คือ การค้นหาและแก้ไขปัญหาของ ‘คน’

การที่เราจะค้นหาจนเจอวิธีการแก้ไขนั้นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ระดมไอเดีย ลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และด้วยกระบวนการคิดแบบ Design Thinking จึงทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยเหลือผู้คนและสังคมได้ ที่สำคัญคือนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกอุตสาหกรรมไม่มีข้อจำกัดใดๆ

PTT-ebook-2-startup

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo