หากพูดถึงพาหนะแห่งอนาคตแล้ว เชื่อว่าภาพของเหล่ายานยนต์ไฟฟ้าจะต้องผุดขึ้นมาในใจของหลายๆ คน ด้วยความที่ปัจจุบันยานยนต์เหล่านั้นมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งประสิทธิภาพการขับขี่ อัตราการใช้พลังงาน และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จนเหล่ายานยนต์ไฟฟ้าสามารถลบภาพลักษณ์และคำครหาเดิมๆ เช่น “ขับไปเดี๋ยวไฟก็หมด ซื้อแล้วไม่คุ้มหรอก” เสียหมดสิ้น
ยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ไปถึงไหนแล้ว
เราอาจกล่าวได้ว่าปี 2020 เป็นอีกปีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ายานยนต์ไฟฟ้า “ประสบความสำเร็จ” มากมาย เมื่อเทียบกับตอนเปิดตัวใหม่ๆ ที่ยังเป็นรถคันเล็ก วิ่งได้ไม่นานมาก ใช้ได้แค่ในพื้นที่น้อยๆ เช่น มหาวิทยาลัย แต่ในช่วงหลัง โดยเฉพาะช่วงสิบปีที่ผ่านมา ที่บริษัทเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน เช่น แบตเตอรี่ของทาง Tesla ที่สามารถใช้งานได้ 1.6 ล้านกม.โดยที่แบตไม่เสื่อมสภาพ
- การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ควบกับแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้า
- การใช้แรงเบรกของรถ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งส่งกลับเข้าแบตเตอรี่
- ยานยนต์รูปแบบต่างๆ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ เรือ จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุก ที่มีประสิทธิภาพสูง
- การปรับปรุงความเร็วของยานยนต์รุ่นต่างๆ ให้ทัดเทียมหรือแรงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้เองทำให้อัตราการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัทต่างๆ สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนหมู่มาก เหล่าผู้ผลิตรถยนต์ต่างเบนเข็มมาทำรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องด้วยมูลค่าการตลาดที่พุ่งสูงขึ้น
เป็นที่น่าสนใจอย่างมากกว่า ภายในระยะเวลาอันใกล้ เหล่าบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าจะผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรมาอีก โดยเฉพาะจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากในประเทศไทยและระดับโลก ซึ่งปัจจุบันสามารถวิ่งได้อย่างน้อยๆ 70-90 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ความเป็นไปได้ของยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากประเทศไทยเองก็นับเป็นหนึ่งในฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าจับตามอง นอกจากการลงทุนจากภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐเองก็มีส่วนในการผลักดันการผลิต โดยวางเป้าไว้ว่าไทยจะเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ใน 5 ปี โดยคิดเป็น 30% ของการผลิตทั้งหมด พร้อมด้วยการผลิตแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ นอกเหนือจากนั้นยังมีแผนการปรับเปลี่ยนรถราชการ รถบัส จักรยานยนต์และรถสาธารณะอื่นๆ ให้เข้าสู่ระบบยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2022 และเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ทั่วประเทศ
ทางบริษัทพลังงานใหญ่อย่างปตท.เองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า และมีการศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ามากมาย โดยเฉพาะการปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งการพัฒนาแบตเตอรี่ จักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบัส รวมไปถึงระบบชาร์จหรือการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ประเด็นที่อาจต้องจับตาในประเทศไทยถือการปรับนโยบายของภาครัฐ ว่าจะ “ทัน” สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกขนาดไหน เพราะต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน กระแสของยานยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่บูมเท่าประเทศอื่นๆ คนส่วนมากยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ รัฐบาลอาจต้องมีการโปรโมทและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่านี้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต
ผลกระทบของรถยนต์ไฟฟ้าที่ห้ามมองข้าม
หากคิดถึงมลพิษที่มีการสร้างขึ้นจากเหล่ายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอาจไม่มีอะไรมากนัก เพราะพลังไฟฟ้าเป็นพลังที่ขึ้นชื่อว่าสะอาด เงียบ และไม่ก่อมลพิษ ทว่าเมื่อเราคำนึงถึง “ที่มา” ของการผลิตไฟฟ้าแล้วล่ะก็ มุมมองทางพลังงานของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจเปลี่ยนไป
การผลิตพลังงานไฟฟ้า กลายเป็นประเด็นสำคัญที่หลายประเทศถกเถียงกัน โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย และมีความกังวลว่าหากไม่ได้รับการจัดการที่ได้มาตรฐานเพียงพอ สัดส่วนของการใช้พลังงานจากรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้เราใช้พลังงานจากถ่านหินและแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอื่นๆ มากขึ้นจนเกินควร
รวมไปถึงการกำจัดแบตเตอรี่ที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการกำจัดที่ไม่ส่งผ ลกระทบต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะทิ้งหรือปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการทิ้งเสมอ เว้นแต่การรีไซเคิล สำหรับประเทศไทยที่บางพื้นที่ไม่มีการจัดการขยะที่ดีเพียงพอ พฤติกรรมของผู้ใช้งานเหล่านี้อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีในระยะยาว
ด้วยเหตุผลข้างต้นไม่ว่าจะฝ่ายไหนหากจะออกโครงการเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า อาจต้องคำนึงถึงหลักการเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน หรือ Circular Economy และ Sustainable Development ให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแนวทางการจัดการ และมอง Pain Point ความต้องการ หรือปัญหาการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจริงๆ ให้ออก ไม่ว่าจะผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม หากทำได้ การเปลี่ยนประเทศไทยเป็นเมืองแห่งยานยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ไกลเกินอย่างแน่นอน