หากใครยังจำได้ เมื่อช่วง 1 มิถุนายน ปี 2561 ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ ทำให้ผู้คนที่อาศัยในกว่า 70 จังหวัดทั่วไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก และยังมีอาการไฟตกเป็นระยะ ก่อนกลับสู่ภาวะปกติแม้ว่ามันจะผ่านมาชั่วระยะเวลาเวลาหนึ่งแล้ว แต่คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก
และนั่นคือตัวอย่างของเรื่องที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ เพื่อเข้าใจ เตรียมพร้อม และป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตคือ…
อะไรคือวิกฤตการณ์พลังงาน?
วิกฤตการณ์พลังงาน คือเหตุการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับพลังงาน ทั้งในแง่พลังงานไม่เพียงพอกับการใช้ ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหัน หรือการที่เราไม่สามารถผลิตพลังงานได้เอง จนทำให้เกิดวิกฤต ซึ่งจะแตกต่างกับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นหลัก
เราทุกคนคงเคยเผชิญกับวิกฤตการณ์พลังงานมาแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟดับข้างต้น ที่เกิดจากพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรือวิกฤตราคาน้ำมัน ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปถึง 40 บาทต่อลิตรช่วงปี 2555 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเนื่องไปสู่สภาวะทางเศรษฐกิจที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ไปจนถึงค่ารถโดยสารสาธารณะที่ดีดตัวขึ้นเช่นกัน
วิกฤตเหล่านี้เกิดจากอะไรกันแน่ ? มาดูสาเหตุกัน
วิกฤตการณ์พลังงานเกิดจากอะไร?
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงานคือ ความไม่เสถียรทางพลังงานในประเทศ แม้สถานการณ์ต่างกัน แต่จุดร่วมโดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะมีการมุ่งเน้นพลังงานด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป หรือมีการผลิตไม่เพียงพอจนต้องนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ทำให้ขาดเสถียรภาพด้านพลังงาน
ลองมาดูตัวอย่างกันว่าวิกฤตการณ์พลังงานที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง? และมีการแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายได้อย่างไร?
- วิกฤตการณ์พลังงานในประเทศอินเดีย (พ.ศ. 2555)
อินเดียเองก็เคยผ่านวิกฤตการณ์พลังงานมาเช่นกัน ซึ่งเกิดจากสองประเด็นหลักคือการขยายตัวของผู้ใช้ไฟฟ้า ระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับทั้งทั่วทั้งประเทศ ประชาชนกว่า 600 ล้านคน ณ เวลานั้นไม่มีไฟฟ้าใช้
ไม่เพียงแค่ต้องเผชิญกับปัญหาในครัวเรือนเท่านั้น เนื่องด้วยไฟฟ้าดับทำให้สัญญาณไฟจราจรไม่ทำงาน ส่งผลให้ขนส่งมวลชนไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน
เหตุการณ์ดำเนินไปต่อเนื่องราว 2 วัน ก่อนระบบไฟฟ้าจะกลับมาใช้งานได้ปกติ แต่ก็ทำให้ประชาชนอินเดียบางส่วนตั้งข้อสังเกตกับเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศเช่นกัน ว่าแท้จริงแล้วเราผลิตพลังงานมาเพียงพอต่อการใช้งานจริงๆหรือไม่
- วิกฤตการณ์พลังงานในประเทศออสเตรเลีย (พ.ศ. 2559)
ใครจะรู้ว่าหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานทางเลือกอย่างออสเตรเลียเองก็เคยประสบวิกฤตการณ์พลังงาน ซึ่งวิกฤตดังกล่าวก็เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติพลังงานนั่นเอง
เนื่องจากเพิ่งจะมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก ทำให้ประเทศออสเตรเลียในเวลานั้นยังขาดประสบการณ์ด้านการจัดการ ส่งผลให้พลังงานในระบบไม่มีความเสถียรเพียงพอ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างพายุฝนฟ้าคะนองทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมหยุดชะงักทำให้เกิดเหตุไฟฟ้าดับอย่างต่อเนื่องและค่าไฟพุ่งสูงกว่าเดิมถึง 4 เท่าจากปีก่อนหน้า
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการตั้งข้อสังเกตกันถึงเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือก ว่าแท้จริงควรมีการปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และปรับปรุงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่มากกว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบพลังงานอย่างกะทันหัน

ซึ่งวิกฤตการณ์พลังงานออสเตรเลียนี้ถูกแก้ไขไปด้วยการเข้ามาของแบตเตอร์รี่ลิเทียมไอออนขนาดใหญ่ของบริษัท Tesla ที่ทำหน้าที่เก็บพลังงานสำรองชั่วคราวให้กับประชาชนที่เดือดร้อน และทำงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการดูแลจัดสรรพลังงานอย่างเป็นระบบระยะยาวของรัฐบาล
- วิกฤตการณ์พลังงานในประเทศไทย (2561)
กลับมาที่เรื่องใกล้ตัวสุดๆอย่างวิกฤตที่เราเพิ่งประสบมาเมื่อปี 2561 เมื่อกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศไทยไม่สอดคล้องกับการเติบโตของประชากร ทำให้เราต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าหงสาจาก สปป.ลาว
credit by CTN News Chiang Rai Times
ทว่าเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกิดฟ้าผ่าลงในสายส่งจากฝั่งโรงไฟฟ้าหงสา ส่งผลให้ฝั่งไทยเกิดอาการไฟตกกะทันหัน
แม้ว่าจะมีการดำเนินการเชื่อมต่อโรงไฟฟ้าและเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมไปถึงโรงไฟฟ้ารายย่อยหลายโรงก็ดำเนินการตัดตัวเองออกจากระบบ เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าในระบบขาดความเสถียร อาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงกว่าเดิมได้
ท้ายสุดแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ประเทศไทยเกิดไฟดับทั่วประเทศเป็นระยะเวลาเกือบชั่วโมง ถึงระยะเวลาจะค่อนข้างสั้นแต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดการจราจรติดขัดเนื่องจากสัญญาณไฟจราจรบางส่วนไม่ทำงาน
สถานการณ์นี้คลี่คลายได้ด้วยการได้ไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย และการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยเองจึงทำให้ไฟฟ้าคืนเข้ามาในระบบอย่างรวดเร็ว
- วิกฤตการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ใน Texas (2564)
วันที่ 10-27 กุมภาพันธ์ปี 2564 ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟดับในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา (Texas Power Crisis) ทำให้ผู้คนกว่า 4.3 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากสภาพอากาศหนาวสุดขั้ว (Extreme Weather) ทำให้โรงไฟฟ้าหลักของรัฐไม่สามารถทำงานได้ เหตุการณ์นี้กินเวลากว่า 2 อาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 151 คน ประเมินความเสียหายไว้ราว 1.9 แสนล้านดอลลาร์ (6.1 ล้านล้านบาท)
แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมากจากภัยธรรมชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตไว้ 2 กรณี
1. สภาพอากาศสุดขั้ว คลื่นความร้อน พายุ และเฮอร์ริเคนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นผู้ผลิตพลังงานอาจต้องเตรียมการรับมือเหตุากรณ์ประเภทนี้บ่อยครั้งยิ่งขึ้น
2. การผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ของรัฐเท็กซัส ที่มีผู้ผลิตเจ้าใหญ่เจ้าเดียว ทำให้ไม่สามารถกระจายกำลังไฟฟ้าสู่ภาคประชาชนเพียงพอเมื่อเกิดวิกฤต และไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทำให้เห็นชัดว่าการกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้าถือเป็นเรื่องจำเป็นไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม รวมถึงควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันความเสี่ยงไฟฟ้าดับระยะยาวจากเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งปัญหานี้จะแก้ได้มีประสิทธิภาพที่สุดด้วยการร่วมมือของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการสรรหาพลังงานทางเลือกอื่นๆเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อไม่ให้วิกฤตการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์พลังงานในปัจจุบัน
ในปัจจุบันการแก้ไขพลังงานโดยรวมของโลกยังคงเน้นด้านพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับความนิยมอย่างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกา ส่วนเอเชียนั้นมีการพัฒนาอย่างมากในประเทศจีนและอินเดีย
นอกเหนือจากนั้นยังมีการสนับสนุน Startup เกี่ยวกับพลังงาน เพื่อให้ศึกษา วิจัย และพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว
แต่ไม่ได้หมายความว่าทั่วทั้งโลกจะตัดพลังงานถ่านหินและพลังงานฟอสซิลออกเสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น บางพื้นที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามาก และไม่มีพื้นที่เพียงพอจะทำโซลาร์ฟาร์ม ก็จะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเพิ่มเสถีรภาพความมั่นคงทางพลังงาน
ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการดำเนินการในแนวทางเดียวกัน แต่จะเน้นหนักในด้านลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยการปรับปรุงสายส่ง และพัฒนาสถานีเก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางพลังงานมากขึ้น ตามนโยบายพลังงาน 4.0
โดย PTT Expresso ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการระบบพลังงานด้วยเช่นกัน จึงได้คิดค้น พัฒนา และร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการดำเนินโครงการ Smart Energy Platform เพื่อรองรับแนวทางของการสร้างเมืองให้ทันสมัยตามหลักของ Smart City อีกด้วย และล่าสุดยังมีการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพจากอเมริกา เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของโซลาร์เซลล์ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
สรุป
พวกเราทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงวิกฤตทางพลังงานได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ หรือรอคอยนโยบายภาครัฐ ด้วยการลดใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปิดไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้แล้ว เน้นการใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้น้ำมัน หรือลดการใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยลง

ในระดับสากลก็มีการรณรงค์ในรูปแบบคล้ายคลึงกัน เช่น โครงการ Earth Hour ซึ่งเป็นโครงการปิดไฟ งดใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมถึง 188 ประเทศ โดยประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยกิจกรรม Earth Hour ในปี 2562 สามารถลดการใช้ไฟฟ้าไปได้ถึง 5778.38 MW คิดเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการยืนยันได้อย่างดีว่า เมื่อหลายคนช่วยกันร่วมมือประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานโดยรวมก็จะลดลง เสถียรภาพทางพลังงานก็เพิ่มมากมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นภาคประชาชนเองก็ได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย
