Energy Transition คือหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในระยะยาวที่จะพลิกโฉมการใช้พลังงานของมวลมนุษยชาติทั้งหมด โดยการประชุม COP 26 ที่ผ่านมาได้มีแผนควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส หากยังไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ ภายในปี 2030-2050 อุณหภูมิโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสหรืออาจมากกว่านั้น ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าเดิมและตามมาด้วยปัญหาต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นวงกว้าง รวมถึงภัยเงียบที่เราอาจคาดไม่ถึง นั่นก็คือ การเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสที่เคยอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งที่อาจกระทบต่อคนทั้งโลกนั่นเอง
Energy Transition คืออะไร
Energy Transition คือ “การเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด” เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและฟื้นฟูโลกจากภาวะโลกร้อนที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต
โดยพลังงานดั้งเดิมนั้นหมายถึง ‘พลังงานจากฟอสซิล’ ประกอบไปด้วยถ่านหิน (Coal) น้ำมันดิบ (Crude Oil) และก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) เมื่อพลังงานฟอสซิลถูกเผาไหม้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่ปล่อยออกมาในตอนท้าย คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่ลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศโลก โดยก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อนได้ดี จึงส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ Energy Transition จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ (Water Energy) พลังงานลม (Wind Energy) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) เป็นต้น
3 วิธีสู่ Energy Transition อย่างรวดเร็ว
1. เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
แต่ละประเทศจะต้องเริ่ม Energy Transition ด้วยการทำให้พลังงานสะอาดมีประสิทธิภาพมากพอที่จะใช้เป็นพลังงานหลักแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้และขยายให้เข้าถึงวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงองค์กรและครัวเรือน ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานฟอสซิลด้วย โดยเริ่มจากการปรับใช้ให้เหมาะสมหรือใช้เฉพาะในส่วนที่จำเป็นจริง ๆ
2. เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
การแสดงให้เห็นว่าพลังงานสะอาดสำคัญขนาดไหนและทำไมต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้พลังงานสะอาดจนลดและเลิกใช้พลังงานฟอสซิล อย่างการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะทำให้พวกเขาเล็งเห็นถึงความคุ้มค่าเมื่อไม่ต้องเติมน้ำมันแล้ว ต้องทำให้เห็นข้อดีในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่ต้องช่วยให้คนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึง รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในด้านสถานีชาร์จไฟเพื่อรองรับการใช้งานของคนทั่วไป เพื่อจูงใจให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจยานยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้น
อีกหนึ่งวิธีจูงใจที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การมอบประสบการณ์ให้คนได้ทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้าก่อนเป็นเจ้าของ เพื่อสร้างความมั่นใจและช่วยเร่ง EV Transition ให้เร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันทาง ปตท. เองก็มีแพลตฟอร์ม EVme ที่รวบรวมรถ EV หลากหลายรุ่นให้คุณเช่าเพื่อทดลองขับก่อนซื้อในราคาที่ย่อมเยา ถูกใจเมื่อไรก็ค่อยเปลี่ยนมาใช้
สามารถจองรถ EV เพื่อทดลองขับได้ที่ https://evme.io/th-TH หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน EVme
3. ขยายความร่วมมือในระดับโลก
ทีมคือส่วนสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นระดับบริษัทเล็ก ๆ ไปจนถึงระดับโลก เพราะฉะนั้น ควรหาทีมที่มีเป้าหมายเดียวกันในเรื่อง Energy Transition เพื่อช่วยขับเคลื่อนเรื่องพลังงานสะอาด อย่างการเข้าร่วม “ความตกลงปารีส (Paris Agreement)” ที่มีเป้าหมายในเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ให้มากที่สุด
Energy Transition ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร
1. GDP ของโลกมีการเปลี่ยนแปลง
Energy Transition จำเป็นต้องมีการลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างพลังงานให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชากรให้ได้มากที่สุด ทำให้ความต้องการด้านการผลิตและก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน ที่อาจผลักดันให้ GDP ของโลกมีแนวโน้มสูงตามไปด้วย
2. การจ้างงานกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Energy Transition เพิ่มขึ้น
Energy Transition จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยี และบริการที่หลากหลาย ทำให้มีโอกาสเกิดการจ้างงานมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยี นอกเหนือจากภาคพลังงานแล้ว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านภาษีอากร ด้านโลจิสติกส์ ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงแรงงานอย่างคนขับรถบรรทุกและรถเครนก็มีบทบาทสำคัญใน Energy Transition เช่นกัน และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนี้ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ GDP เติบโตอย่างยั่งยืน
3. สวัสดิการด้านสุขภาพถูกผลักดันให้มีความสำคัญมากขึ้น
มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 4 ของโลกที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตก่อนวัยอันควร Energy Transition จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ด้วยการปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นจากการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ประชากรในประเทศควรได้รับ รวมถึงทุกบ้านจะเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้นด้วย
4. การส่งออก-นำเข้า Fossil Fuel ลดลง
เมื่อแต่ละประเทศเริ่มใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ประเทศผู้ค้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลจึงมีแนวโน้มส่งออกสินค้าของตัวเองได้น้อยลง เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดมีการเปลี่ยนแปลงและอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาและแนวทางการซื้อ-ขายเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต เป็นการกระตุ้นให้ประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องปรับตัวก่อนที่ Energy Transition จะส่งผลกระทบมากไปกว่านี้ ซึ่งอาจเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตพลังงานไปจนถึงเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตบางส่วนของประเทศเลยทีเดียว
5. ราคา Green Energy อาจถูกลง ทำให้ราคา Fossil Fuel ลดลงตามไปด้วย
ขณะนี้ Green Energy ยังเป็นพลังงานที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง แต่เมื่อไรที่มี Energy Transition ที่ทำให้พลังงานสะอาดเข้าถึงผู้คนเป็นวงกว้างได้ อุตสาหกรรมนี้อาจมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่ราคา Green Energy จะปรับลดลงและทำให้คนหันมาใช้จนลืมพลังงานรูปแบบเดิม ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวโน้มที่ราคาของ Fossil Fuel จะปรับลดลงตามไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาใช้มากขึ้น
สรุป
ปัจจุบัน Energy Transition ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมีสิ่งเห็นได้ชัดอย่างการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือโลกอาจรอเราเปลี่ยนไม่ไหว จึงต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานสะอาด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการลดพลังงานจากฟอสซิลด้วย หากอยากทำให้สำเร็จเร็วยิ่งขึ้นควรร่วมมือลดโลกร้อนกับประเทศต่าง ๆ พร้อมกับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เล็งเห็นความสำคัญของพลังงานสะอาดมากขึ้น
