Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ลงทุนอย่างไรให้โลกยั่งยืน รู้จัก ESG Investing การลงทุนในธุรกิจสีเขียว

10 พ.ย. 2021
SHARE

ESG Investing เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจัดลำดับความสำคัญของผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับผลกระทบของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผลประกอบการด้านการเงินของหุ้น ESG เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นปั่นป่วนจากการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 โดยพบว่าหุ้นของบริษัทหลายแห่งที่ดำเนินงานตามหลัก ESG มีความผันผวนต่ำกว่าบริษัทที่มองข้ามในเรื่องนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ESG Investing ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้กับทั้งธุรกิจ นักลงทุน และโลกสีเขียวที่ยั่งยืน

อยากรู้ว่า ESG Investing คืออะไร? ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการลงทุนมีอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ESG ลงทุน ธุรกิจ

ESG Investing คืออะไร?

ESG Investing คือ กลยุทธ์ในการเลือกลงทุนกับบริษัทที่พยายามทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น โดยคำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจเพื่อหวังผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งได้ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานด้าน ESG ยังมีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านการเงิน (Financial Performance) ของธุรกิจทั้งในมิติของความเสี่ยง ศักยภาพในการแข่งขัน และการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย

 

3 ปัจจัยหลักของ ESG ที่นักลงทุนควรพิจารณา

ESG Investing มีรูปแบบและกลยุทธ์ในการลงทุนที่หลากหลาย เช่น การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนด้วยการไม่ลงทุนในธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรมของสังคม หรือการเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้าน ESG เป็นต้น

ปัจจุบัน ESG Investing เริ่มเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลการดำเนินงานประเด็นด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุน

ต่อไปนี้ คือ 3 ปัจจัยหลักที่นักลงทุนควรพิจารณาเพื่อประเมินความแข็งแกร่งของ ESG ก่อนตัดสินใจลงทุน

  1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)

พิจารณาว่าการดำเนินงานของบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร? ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การจัดทำ Carbon Footprint ขององค์กร การลดปริมาณสารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ESG ลงทุน ธุรกิจ

ตัวอย่างอื่นๆ อาทิ

  • สนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่างๆ
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
  • ยกเลิกการทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ทดลอง
  • รณรงค์ให้พนักงานประหยัดน้ำ-ไฟ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เดินทางด้วยจักรยาน เป็นต้น
  1. ด้านสังคม

พิจารณาว่าบริษัทมีนโยบายปรับปรุงผลกระทบทางสังคมทั้งภายในและภายนอกบริษัท และชุมชนในวงกว้างอย่างไรบ้าง? ซึ่งปัจจัยทางสังคมนี้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ อาทิ

  • สร้างความเท่าเทียมทางเพศทั้งชาย หญิง และ LGBTQ+
  • ยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติในสถานที่ทำงาน
  • ไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน การฝึกอาชีพ
  • ช่วยจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน เป็นต้น
  1. ด้านธรรมาภิบาล (Governance)

พิจารณาว่าคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลหรือไม่? ซึ่งครอบคลุมการกำกับดูแลทุกอย่างตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงานไปจนถึงภาวะผู้นำว่าสามารถจัดการปัญหาในยามวิกฤตและโต้ตอบกับผู้ถือหุ้นได้ดีเพียงใด

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการกำกับดูแลในแง่มุมอื่นๆ เช่น

  • กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารที่ต้องมีความใสสะอาด
  • การตรวจสอบและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • ความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ภายในองค์กร
  • หลักจรรยาบรรณในการดำเนินงาน
  • นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและกลไกการร้องทุกข์
  • แนวทางปฏิบัติตามค่านิยมของบริษัท
  • การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นต้น

 

สรุป

Hank Smith หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของ The Haverford Trust Company กล่าวว่า “แก่นแท้ของการลงทุน ESG คือ การสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมด้วยการเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น”

ปัญหาต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ Covid-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมที่มุ่งเน้นผลกำไรสูงสุดโดยไม่ใส่ใจผลกระทบต่อส่วนรวม เนื่องจากผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มคาดหวังการเปลี่ยนแปลงไปสู่กิจกรรมทางธุรกิจที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนและกลุ่มคนรุ่นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจและวางกลยุทธ์ ESG ที่แข็งแกร่งเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจและช่วยสร้างโลกสีเขียวที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Expresso

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo