Carbon Footprint หรือในชื่อไทยคือ รอยเท้าคาร์บอน ไม่ได้หมายความถึงรอยเท้าจริงๆ แต่เป็นคำเปรียบเทียบของการติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กิจกรรม การกระทำ องค์กร หรือแม้แต่สินค้าต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมา
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสำคัญของ Carbon Footprint จะลดหลั่นลงไปตามกระแส เฉกเช่นเดียวกับ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนและองค์กรอีกไม่น้อยที่สนใจเจ้ารอยเท้าคาร์บอนนี้ และเล็งเห็นว่ามันใช้ประโยชน์ได้จริงๆ แต่อาจต้องผ่านการปรับเปลี่ยน พูดคุย ทำความเข้าใจบทบาทของมันให้มากขึ้น เพื่อการตาม “รอยเท้า” นี้ จะได้เกิดประโยชน์สูงสุด
นิยามที่แตกต่างของ Carbon Footprint
เชื่อว่าหลายคนที่เคยค้นหาข้อมูลของ Carbon Footprint จะเจอนิยามที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่าเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากสิ่งของตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต ใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด บ้างก็ว่าเป็นการติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กร จนชวนให้สงสัยว่าแบบไหนกันแน่ที่ถูก
สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเนื่องจากนิยามหลักของ Carbon Footprint มีความ “กว้างและครอบคลุม” อย่างที่เกริ่นไปด้านบน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ ทว่าในเชิงการใช้งานจริงนั้นมีความแตกต่างกันออกไปมาก ในแต่ละภาคส่วนจึงต้องมีการนิยาม Carbon Footprint ในรูปแบบย่อยๆ เพื่อให้เหมาะกับสิ่งที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง
โดยบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการใช้งาน Carbon Footprint ในแต่ละระดับดังนี้
Carbon Footprint ระดับบุคคล: การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละวันของคน 1 คน โดยคิดจากกิจกรรมที่คนๆ นั้นทำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า การขับรถ ในบางครั้งอาจรวมไปถึงการกินอาหารและการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย
Carbon Footprint ระดับผลิตภัณฑ์ ในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ มีการก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่เริ่มจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการการผลิต การจำหน่าย การใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ การกำจัดผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการตรวจสอบและประมาณการจากกรรมวิธีผลิตและวิธีใช้งาน
Carbon Footprint ระดับองค์กร การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการดำเนินงานในองค์กร ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานพลังงานไฟฟ้า การจัดการขยะ จนถึงการเผาสิ่งต่างๆ
Carbon Footprint ระดับประเทศ โดยส่วนมากจะคำนวณจากอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้นๆ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของประชากรในประเทศ รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจส่งผลเช่นการคมนาคม ที่ยิ่งรถติดยิ่งมีโอกาสปล่อยก๊าซมากขึ้น เป็นต้น
ในช่วงหลังนี้การตรวจสอบ Carbon Footprint ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนอื่นๆ ด้วย
ประโยชน์ของการทำ Carbon Footprint
ทำให้ประชาชนคนทั่วไปตระหนักและเห็นภาพจริงของภาวะโลกร้อนและจูงใจให้ทุกๆ คนเลือกใช้หรือทำสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อโลกเราน้อยลง คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการมีอยู่ของ Carbon Footprint
นอกเหนือจากนั้นยังทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถติตตามข้อมูล วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบให้เกิด Carbon และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ตรงจุดมากขึ้น เพราะการเก็บข้อมูล Carbon Footprint นั้นจะมีความครอบคลุมและครบถ้วน สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย
อีกทั้งยังเปิดโอกาสและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้ประชาชน “เลือก” ในกรณีที่มีการทำฉลาก Carbon Footprint การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยกว่าย่อมดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ตัวอย่างการตรวจสอบ Carbon Footprint
สำหรับคนไทยนั้น ชีวิตประจำวันของเราที่เกี่ยวกับคาร์บอนมักยึดโยงกับการจราจรและการนั่งในห้องแอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ การเลือกมองในภาพกว้างขึ้นมาเช่นการหา Carbon Footprint ในองค์กร จึงเป็นอะไรที่เห็นภาพชัดกว่า
Carbon Footprint ในองค์กรจะมีการวัดในรูปแบบของ ตัน หรือ กิโลกรัม ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งประเมินโดยมีตัวองค์กรเป็นศูนย์กลาง เช่น
- การใช้พลังงานในองค์กร ทั้งพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน การเผาไหม้อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์
- การใช้ยานพาหนะขององค์กร
- การใช้เครื่องปรับอากาศ
- การใช้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการทำงานขององค์กร
- หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องนับรวมการปล่อยก๊าซของเครื่องจักรต่างๆ ด้วย
ทั้งหมดนั้นยังไม่นับรวมการคำนวณทางอ้อม เช่น การใช้งานรถยนต์หรือพาหนะส่วนตัวของบุคลากร การปฏิบัติงานอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษ
สิ่งที่ยากคือการ “คำนวณ” ปริมาณการปล่อยก๊าซจริงๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละกิจกรรม ต้องอาศัยแหล่งอ้างอิงหรือผู้เชี่ยวขาญ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีองค์กรหรือบริษัทที่รับตรวจสอบและรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่
และในตอนนี้ Carbon Footprint ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ตอบโจทย์เรื่องนี้แล้ว
ก้าวใหม่ที่เปลี่ยนไปของ Carbon Footprint ในอนาคต
ชื่อของ Carbon Footprint นั้น เริ่มจางหายไปตามกาลเวลาก็จริง แต่ทว่าสิ่งที่มันได้มอบกลับคืนให้กับสังคมคือความตระหนักทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถหาอะไรทดแทนได้ และจุดประกายกลายเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เพื่อให้เหล่านักสิ่งแวดล้อมและประชาชนคนทั่วไป
โดยสื่อต่างๆ เปลี่ยนไปใช้คำว่า Emission หรือการปล่อยมลพิษในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะจาก คน สิ่งของ และประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่เป็นเอกลักษณ์หรือสัญญะทางอ้อมอีกต่อไป
แบรนด์สินค้า เองก็มีการปรับตัวให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การแปะฉลาก Carbon Footprint แล้วจบ แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ร่วมมือกันสร้างมลพิษต่างๆ ให้น้อยลง และมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่คาร์บอนไดออกไซด์ แต่รวมไปถึงเรื่องการใช้พลังงาน การจัดการขยะ และเรื่องที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
แน่นอนว่ายังมีการใช้งานคำว่า Carbon Footprint รวมถึงฉลาก Carbon Footprint อยู่บนสินค้าอีกไม่น้อย แต่ ณ ปัจจุบันก็อาจนับได้ว่าเทรนด์ของ Carbon Footprint ได้เริ่มซาลง และส่งไม้ต่อให้โครงการรุ่นน้องอื่นๆ เพื่อการจัดการทางสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
