เร็ว สะอาด เพิ่มศักยภาพให้ Food Delivery ด้วยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
Food Delivery เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วทั้งโลก ทว่าภายใต้ความสะดวกรวดเร็วในการส่งอาหาร มันกลับส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่น้อย โดยเฉพาะการปล่อยควันเสียออกจากมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ส่ง และมลพิษทางเสียงบนท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้น
เหตุผลนี้เองที่ทำให้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการทำงานของเหล่า Food Delivery เพื่อความรวดเร็วในการขนส่งที่มากยิ่งขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Food Delivery และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
อัตราการเติบโตของ Food Delivery ในไทยนั้นสูงขึ้นกว่า 150% ในช่วงต้นปี 2020 และยังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกในการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้และการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่เน้นการลดสัมผัสและการออกไปข้างนอกเพื่อความปลอดภัย เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงกับตัวเลขก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ถูกปล่อยออกมาจากพาหนะ ซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการทำอาหารและการเลี้ยงสัตว์เองก็มีส่วนในการสร้างคาร์บอนอยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการขนส่งนั้นเราได้เห็นปัญหาด้านมลพิษชัดเจนกว่า และส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนเดินถนน ทำให้มีคนคิดเทคโนโลยีการใช้พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้าที่มีความสะอาดมากกว่า เช่นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
สาเหตุที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเน้นไปที่มอเตอร์ไซค์ เนื่องจากในประเทศแถบเอเชียที่มีการใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าอยู่แล้ว สิ่งที่ถูกเปลี่ยนคือ “พลังงาน” ในการทำงานของมอเตอร์ไซค์เท่านั้น เพิ่มเติมคือความเงียบในการทำงาน โดยคงความเร็วและแรงที่เหมือนเดิม เหมาะสมกับธุรกิจนี้โดยเฉพาะ
แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน แต่มีตัวอย่างการใช้งานจริงแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศดังนี้
ตัวอย่างการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับงาน Food Deilvery
Grabfood Green Wheels โครงการเปลี่ยนระบบขนส่งอาหารด้วยมอเตอร์ไซค์พลังงานสะอาด ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงรถขนส่งอาหารจำนวน 50 คันให้กลายเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยคาดหวังว่าปริมาณมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะมากขึ้น และส่งผลให้เกิดโครงการอื่นๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต
Food Delivery เมืองเฉิงตู มีการเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์แทบทั้งหมดของบริการ Food Delivery ให้กลายเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เนื่องจากนโยบายของประเทศจีนที่ต้องการลดมลพิษทางอาการ รวมถึงมีส่วนลดของราคารถและแบตเตอรี่ นอกเหนือจากนั้นยังเป็นการใช้ Battery Swapping ที่ทำเพียงสลับแบตเตอรี่ก็สามารถขนส่งต่อได้ ไม่จำเป็นต้องมีการรอชาร์จไฟ
ส่วนในประเทศอื่นๆ โซนยุโรปและอเมริกายังไม่มีโครงการประเภทนี้ที่ถูกโปรโมตขึ้นมามากนัก คาดว่าเกิดจากมีคนใช้จักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนของการเปลี่ยนแปลงจึงเน้นไปในการผลักดันใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัว และบริการขนส่งมวลชนจากไฟฟ้าแทน
Battery Swapping หนทางใหม่ของพลังงานการขนส่งในไทย
ชัดเจนว่าช่วงเวลาในการชาร์จที่ค่อนข้างนานนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการส่งของเหล่า Food Delivery ดังนั้นจึงมีการคิดค้นเทคโนโลยี Battery Swapping ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงาน ดังที่ยกตัวอย่างของเมืองเฉิงตู ที่พนักงานขนส่งมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่กับสถานีโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาชาร์จไฟ
เมื่อย้อนดูในไทยแล้ว ประเทศของเราก็มีความสนใจในการใช้กระบวนการคล้ายกัน ซึ่งคือธุรกิจต้นแบบ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ที่ให้บริการสถานีตู้ชาร์จและสลับแบตเตอรี ซึ่งเริ่มต้นให้ครอบคลุมบริเวณใจกลางเมืองกทม. ภายใต้การสนับสนุนของ ปตท. โดย Swap & Go นำเสนอเป็นระบบสมาชิกให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้ QR Code เพื่อปลดล็อกแบตเตอรี่ สลับกับแบตเตอรี่ด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาเพียงสองถึงสามนาทีเท่านั้น นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจในการขยายความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน อีกทั้งช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ความก้าวหน้าด้านการขนส่งกับการใช้งานพลังงานสะอาด
มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและงานด้าน Delivery เป็นเพียงส่วนเดียวกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว ที่แม้จะมีตัวอย่างชัดเจนจากผู้ให้บริการใหญ่อย่าง Grab แล้ว หรือการเปิดให้บริการชาร์จไฟและ Battery Swapping อย่าง Swap & Go แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อย สำหรับการใช้งานระบบคมนาคมทั้งหมดของประเทศ
เรื่องนี้จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทย ว่าเราจะสามารถผลักดันการคมนาคมที่สะอาดนี้ไปได้ไกลได้มากขนาดไหน และมีการสนับสนุนให้ภาคประชาชนหันมาใช้งานพาหนะไฟฟ้าอย่างไร ไม่เช่นนั้นภาพของฝุ่นควันบนถนนไทยก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไปอีกนานเลยทีเดียว
