เมื่อพูดถึงการทำธุรกรรมทางการเงินแล้วล่ะก็ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการมีตัวกลางอย่างธนาคารคอยมาจัดการการฝาก ถอน ทำธุรกรรม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมาย แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ใช้ธนาคาร ? ประเด็นนี้เป็นปัจจัยสำคัญให้ DeFi หรือ Decentralized Finance ถือกำเนิดขึ้น โดยมุ่งหวังให้คนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมต่างๆ กันได้โดยไม่มีตัวกลางคอยควบคุม
แน่นอนว่า DeFi ในปัจจุบันยังเพิ่งอยู่ในยุคตั้งไข่ หลายคนอาจมองว่ารูปแบบเป็นเพียงแชร์ลูกโซ่ หรือการหลอกลวงรูปแบบใหม่เท่านั้น เพราะยังไม่เข้าใจระบบการทำงานทั้งหมดเท่าที่ควร เราจึงจะพาคุณไปรู้จักกับ Decentralized Finance (DeFi) การเงินแบบไร้ศูนย์กลาง เทคโนโลยีทางการเงินที่น่าจับตามองที่สุด
DeFi คืออะไร เข้าใจแบบง่ายๆ
ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance) หรือที่เรียกกันติดปากว่า DeFi คือการระบบการเงินที่ไม่ใช้ตัวกลางอย่างธนาคารในการทำธุรกรรม แต่เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain เพื่อรองรับการทำธุรกรรมผ่าน Smart Contract ที่เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขในการทำสัญญาต่างๆ ทำให้สามารถถ่ายโอน กู้ ถอนได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของตัวกลาง อ้างอิงเพียงจำนวนเหรียญในกระเป๋าดิจิทัลของผู้ที่ใช้งานระบบ DeFi เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเหรียญที่ใช้กันภายใต้ Smart Contract ก็คือ Cryptocurrency หรือ เรียกอย่างย่อว่า Crypto นั่นเอง
โดยผู้เริ่มทำธุรกรรม DeFi จำเป็นต้องมีกระเป๋าเงิน Crypto เสียก่อน และทำการแลกเปลี่ยนเงินจริงของตัวเองไปเป็นเงินสกุลที่รองรับ DeFi เช่น Ethereum (ETH) ก่อนเริ่มทำธุรกรรม
Tips: ไม่ใช่ Cryptocurrency ทุกสกุลจะอยู่ในระบบ DeFi แม้แต่ Bitcoin ซึ่งเป็น Cryptocurrency เจ้าแรกก็ยังไม่รองรับธุรกรรมต่างๆ ครบถ้วนมากนัก แต่เหรียญสกุล Ethereum ที่เกิดตามหลังนั้นสามารถมารองรับระบบ DeFi ได้สมบูรณ์มากกว่า ตั้งแต่การกู้ยืมเงิน แลกเปลี่ยนสกุลเงิน และการฝากเพื่อได้ดอกเบี้ยคล้ายกับธนาคาร
ทำไม DeFi ถึงได้รับความนิยม
สิ่งที่ทำให้ผู้คนสนใจการใช้งาน DeFi มีหลักๆ 2 ประเด็นคือผลกำไรที่ค่อนข้างสูงและการที่ DeFi เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจ
1.ผลกำไรจาก DeFi ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันอะไรที่เกี่ยวกับ Cryptocurrency ยังมีการเก็งกำไรเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ว่าจะเป็นการฝากกินกำไร หรือการซื้อขายเหรียญ ก็อาจทำให้ได้กำไรสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารธรรมดาๆ ได้ทั้งนั้น (บางครั้งมากกว่า 100%) แต่เนื่องจากตลาดของ Cryptocurrency มีความผันผวนสูงมากและส่งผลโดยตรงต่อ DeFi ทำให้มีโอกาสที่ผู้ลงทุนขาดทุนจนหมดเช่นกัน
2.เทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain เทคโนโลยีทราอยู่เบื้องหลัง Decentralized Finance และ Cryptocurrency อย่าง Blockchain เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้คนสนใจ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมีเยอะ และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สิ่งที่เกี่ยวข้องได้รับความสนใจอย่างมหาศาล
ตัวอย่างของ DeFi
MakerDAO แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนเหรียญสกุล Ethereum และเหรียญสกุล DAI ที่เป็น Stable Coin
Uniswap บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน Cryptocurrency แบบไม่มีคนกลาง
PoolTogether แพลตฟอร์มลอตเตอรี่ที่ใช้เหรียญ ETH ในการซื้อ
Alpha Homora แพลตฟอร์ม DeFi ภายใต้การสนับสนุนจาก SCB10X บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับการปล่อยกู้ฟาร์มเหรียญ Cryptocurrency
Kubix บริษัทภายใต้ธนาคารกสิกรไทย ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเภทศไทยสร้าง ICO Portal เพื่อการระดมทุน
ยังมีผู้ให้บริการ DeFi อีกจำนวนมาก ผู้ลงทุนควรศึกษาจุดดี จุดด้อย ของแต่ละบริการ รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือเสียก่อนหากสนใจที่จะลงทุน
ข้อดีและข้อด้อยของการใช้ DeFi
ข้อดีของการใช้ DeFi
1.เป็นการจัดการการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ทำให้ทุกคนสามารถถือและรับรู้ข้อมูลทางธุรกรรมต่างๆ ได้ (โดยไม่เปิดเผยชื่อ) มีความโปร่งใสมากกว่าการเงินแบบเก่าๆ มีการทำธุรกรรมที่หลากหลายภายใต้ระบบ Blockchain
2.มีความอิสระ ยืดหยุ่นในการทำธุรกรรม เพราะสิ่งที่ DeFi สนใจคือจำนวนเหรียญในกระเป๋า ไม่ใช่เครดิตทางการเงิน ทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้สะดวก โดยไม่มีการขัดขวางการทำธุรกรรม
3.ประหยัดเวลา เนื่องจากการเงินของระบบ DeFi จะตั้งอยู่บน Blockchain ที่เปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมอย่างโปร่งใส ทำให้ใช้เวลาในการตรวจสอบน้อยกว่าการทำธุรกรรมที่มีตัวกลางอย่างการฝากถอนในธนาคาร
ข้อด้อยของการใช้ DeFi
1.ความผันผวนของตลาดสูง ความผันผวนของ DeFi จะสอดคล้องกับมูลค่าของ Cryptocurrency ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงมาก อาจจะสามารถทำกำไรได้เท่าตัว หรือขาดทุนได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น
2.Smart Contract อาจไม่ปลอดภัย 100% การทำธุรกรรมในระบบ DeFi มีความปลอดภัยก็จริง แต่ก็ไม่เสมอไป มีผู้ให้บริการ DeFi จำนวนไม่น้อยที่เปิดให้บริการแบบไม่น่าเชื่อถือ ในบางครั้งปราศจากการตรวจสอบระบบหรือโค้ด ทำให้มีผู้เจาะระบบเข้าไปได้ง่าย และบางครั้งตัวผู้ให้บริการก็ทำการเชิดเงินหนีเสียเอง
3.เทคโนโลยีเกี่ยวกับ DeFi ยังใหม่ เนื่องจาก เทคโนโลยีที่ยังใหม่ มีความซับซ้อน และต้องทำความเข้าใจในเชิงลึก อาจทำให้มือใหม่สับสนได้ง่าย
สรุป
ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง หรือ DeFi เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มากๆ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไปกับระบบการเงินแบบเก่า โดยมีข้อดีที่ไม่มีใครคอยมาควบคุมการทำธุรกรรมของเรา แต่แลกมาด้วนข้อเสียที่ตลาดของเหรียญ Crypto ต่างๆ ที่ผันผวนค่อนข้างสูง
หากคุณต้องการลงทุนเกี่ยวกับ DeFi ก็ขอแนะนำให้ศึกษาเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของเหรียญ Cryptocurrency และ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากเทคโนโลยีใหม่นี้
*การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน*