Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เปรียบเทียบนวัตกรรมอันไหนพัง อันไหนปัง อัปเดตล่าสุด

26 มี.ค. 2020
SHARE

เพราะโลกเรามีนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วัน จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่คุณอาจจะตามนวัตกรรมบางอย่างไม่ทัน จนคุณอาจคิดไม่ถึงว่ามีนวัตกรรมแบบนี้ขึ้นบนโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ อย่างที่ชาร์จมือถือแบบไร้สาย ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างรถยนต์ไร้คนขับ

แต่ใช่ว่าทุกนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะประสบความสำเร็จเหมือนกันทั้งหมด เรามาดูกันว่า นวัตกรรมใดในปีที่แล้วถูกสร้างขึ้นแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ และนวัตกรรมใดในปีนี้ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จริงมากขึ้นในอนาคต 

[นวัตกรรมล้มเหลวแห่งปี 2019]

Cryptocurrencies

ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งหมายถึงระบบโครงข่ายในการเก็บข้อมูล ซึ่งมีการเชื่อมต่อกันระหว่างคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง ได้ก่อให้เกิตนวัตกรรมอย่าง Cryptocurrencies หรือเงินตราออนไลน์ที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ และมีมูลค่าด้วยความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของบล็อกเชน

เพราะผู้ที่เริ่มต้นใช้งาน Cryptocurrencies เป็นคนแรกๆ จะได้รับผลตอบแทนจากการใช้งานที่เกิดขึ้นตามมา จึงมีการสร้าง Cryptocurrencies รูปแบบใหม่ๆ จนทำให้ในปัจจุบันเรามี Cryptocurrencies มากกว่า 4,000 สกุล และทุกคนต่างมุ่งหน้าเข้าไปลงทุนใน Cryptocurrencies จนมูลค่าของ Cryptocurrencies ทั้งตลาดถูกปั่นจนสูงทะลุเพดาน

อย่างไรก็ดี จำนวน Cryptocurrencies ที่มีมากเกินไปจนล้นตลาดได้ทำให้มูลค่าของ Cryptocurrencies ลดลงตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ ด้วยการที่ Cryptocurrencies ไม่ได้มีผู้ดูแลอย่างเป็นทางการ ทำให้มีคดีการฉ้อโกงเกิดขึ้นสูงโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ อีกทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศพยายามเข้ามาควบคุมตลาด Cryptocurrencies จึงทำให้ในปัจจุบัน Cryptocurrencies จึงเสื่อมความนิยมลงกว่าที่เคยเป็น

นวัตกรรม ใหม่

ร้านค้าไร้พนักงาน

เมื่อปี 2018 Amazon ได้เปิดตัวร้านค้าปลีก Amazon Go ในซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา  ซึ่งแตกต่างจากร้านค้าปลีกทั่วไปเพราะร้านค้าดังกล่าวเต็มไปด้วยกล้องถ่ายภาพ เซ็นเซอร์และหุ่นยนต์ ที่จะระบุตัวตนของผู้ซื้อและความเคลื่อนไหวของสินค้าด้วยการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ (AI)  และเมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดเข้ากับระบบชำระเงินออนไลน์แล้ว ร้านค้าสามารถขายสินค้าได้อย่างอัตโนมัติโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพนักงานแต่อย่างใด 

ทุกคนต่างเชื่อว่าการแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีจะเป็นก้าวกระโดดไปสู่อนาคตของการค้าปลีก 

ทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกแบบไม่มีพนักงานจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ใช่ว่าร้านค้าเหล่านี้จะประสบความสำเร็จทั้งหมด เพราะร้านค้าแบบไม่มีพนักงานในจีนกลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า 

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะร้านค้าสะดวกซื้อในจีนส่วนใหญ่มียอดขายหลักมาจากอาหารสำเร็จรูปและของสดอื่นๆ ที่มีอายุสินค้าสั้น และจำเป็นต้องเติมสินค้าด้วยพนักงานบ่อยๆ ทำให้ร้านค้าแบบไม่มีพนักงานในจีนกลับเต็มไปด้วยของที่อยู่ได้นานแต่ไม่ใช่สินค้าที่ผู้คนนิยมซื้ออย่างขนมและเครื่องดื่ม ยอดขายของร้านค้าเหล่านี้จึงต่ำกว่าจุดคุ้มทุนและต้องปิดตัวลงในที่สุด

Food Computers

ในปี 2015 คาเลป ฮาร์เปอร์ ได้คิดค้นนวัตกรรมอย่าง ‘Food Computers’ หรือกล่องสำหรับปลูกพืชโดยใช้วิธีไฮโดรโพรนิกส์ โดยที่ภายในกล่องดังกล่าวประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจำลองปริมาณแสงแดด ความชื้นและอุณหภูมิในกล่องให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิดได้

โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก MIT Media Labs และพัฒนาต่อเนื่องเป็นมูลนิธิ Open Agriculture Initiative ที่กระจาย Food Computers ไปสู่โรงเรียนต่างๆ หรือแม้แต่ค่ายผู้อพยพ โดยที่ฮาร์เปอร์โฆษณาว่า Food Computers จะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์สามารถปลูกพืชชนิดที่ต้องการได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในทะเลทราย ในขั้วโลก หรือแม้แต่ในยานอวกาศ

อย่างไรก็ดี เมื่อปีที่ผ่านมา นักวิจัยในทีมงานของฮาร์เปอร์เริ่มออกมาชี้แจงว่าผลลัพธ์ของโครงการนั้นไม่ได้ตรงกับที่สื่อรายงานออกไปแต่อย่างใด เพราะพืชในห้องทดลองไม่ว่าจะเป็น กะเพรา ฝ้าย กล้วยไม้ หรือเฮเซลนัท ล้วนปลูกขึ้นจากระบบไฮโดรโพรนิกส์แบบอื่นๆ แล้วนำมาใส่ไว้ใน Food Computers ต่ออีกทอดหนึ่ง และตัว Food Computers เองก็ไม่สามารถควบคุมปัจจัยอย่างความชื้นและคาร์บอนไดออกไซด์ให้คงที่ได้แต่อย่างใด การเปิดโปงดังกล่าวได้ทำให้ MIT Media Labs ยุติการสนับสนุนโครงการแทบจะในทันที

สมาร์ทโฟนแบบพับได้

แม้ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนโทรศัพท์แบบพับได้จะเป็นโทรศัพท์ที่ขายดีที่สุดในตลาด แต่ในปัจจุบันที่เป็นยุคของสมาร์ทโฟน โทรศัพท์แบบพับได้กลายเป็นโบราณวัตถุที่ไม่มีคนซื้ออีกต่อไป แม้ว่าในปี 2019 จะมีการออกแบบสมาร์ทโฟนที่สามารถพับจอเป็นสองส่วนขึ้นมา แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ใช้ในวงกว้าง

สาเหตุสำคัญคือข้อผิดพลาดจากการออกแบบและการผลิตที่ยังคงมีให้เห็นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ขอบจอภาพของโทรศัพท์แตกเนื่องจากการพับ ความทนทานของบานพับที่สามารถใช้ได้เพียงไม่กี่พันครั้ง  รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นที่ยังคงไม่รองรับกับจอแบบพับได้อย่างเต็มที่

[นวัตกรรมมาแรงประจำปี 2020]

Hyper-automation

หาก Automation คือการแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ Hyper-Automation คือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Machine Learning และ Deep Learning มาช่วยทำให้กระบวนการทำงานที่ยังต้องใช้มนุษย์อยู่ เช่น การตัดสินใจที่จะเพิ่มหรือลดความเร็วของกระบวนการผลิตภายในโรงงาน หรือการหยุดทำงานฉุกเฉินเมื่อกระบวนการผลิตมีปัญหา สิ่งเหล่านี้จะถูกยกให้ระบบอัตโนมัติตัดสินใจแทนมนุษย์ และกระบวนการเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยระบบอัตโนมัติมากขึ้น 

โดย Hyper-automation จะนำไปสู่การสร้าง ‘โครงสร้างเสมือน’ (Digital Twin) ที่จำลองกระบวนการทำงานและกระบวนการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจริง โดยให้เทคโนโลยีอย่าง Machine Learning และ Deep Learning ทำงานในโครงสร้างเสมือน ก่อนที่จะนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง และในอนาคต Hyper-automation จะฉลาดพอที่จะทำงานแทนที่มนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์

Multi-Experience

แม้ว่าเทคโนโลยีจะอยู่รอบตัวเรามาได้สักพักใหญ่ แต่การติดต่อระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีกลับเกิดขึ้นผ่านเพียงช่องทางเดียว มนุษย์เราสามารถใช้งานอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถติดต่อผ่านหลายอุปกรณ์พร้อมๆ กันได้ หรือถ้าทำได้ก็อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ จนกระทั่งในปัจจุบันที่เรามีนวัตกรรมอย่างเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่ง อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Devices) โดรน และหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งช่วยเชื่อมต่อประสาทสัมผัสของมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยีได้มากกว่าเดิม มนุษย์จึงสามารถสัมผัสกับเทคโนโลยีได้ผ่านหลากหลายช่องทางไปพร้อมๆ กัน (Multi-Experience) 

นวัตกรรมเหล่านี้ยังทำให้เทคโนโลยีปรับตัวเข้าหามนุษย์มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยี และในอนาคตที่เทคโนโลยีอย่าง Augmented Reality และ Virtual Reality อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น นวัตกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดอาจนำไปสู่การสร้าง Ambient Experience หรือประสบการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่เหมือนกับประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไม่มีผิดเพี้ยน 

นวัตกรรม ใหม่

Human Augmentation

นวัตกรรมในอนาคตจะทำให้มนุษย์สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น หรือทำให้มนุษย์สามารถซ่อมแซมร่างกายให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติได้ ผ่านการติดตั้งหรือปลูกถ่ายอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายโดยตรง โดยเฉพาะอวัยวะเทียม เช่น แขนกล (Robotic Arm) ที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นประสาทได้ หรือการรักษาในระดับเซลล์ (Cell Therapy) ที่สามารถรักษาโรคอย่างเบาหวาน มะเร็ง หรือพาร์กินสัน 

นวัตกรรมอีกกลุ่มหนึ่งคือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับมนุษย์ โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้มนุษย์มีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น รวมไปถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ นวัตกรรมในกลุ่มนี้เช่น เครื่องพยุงร่างกาย (Exoskeleton) เครื่องช่วยฟัง และการกระตุ้นการรับรู้ให้กับมนุษย์ (Cognitive Augmentation)

Edge Computing

Edge Computing คือ วิธีการประมวลผลข้อมูลเกิดขึ้นใกล้กับต้นทางของข้อมูลที่สุด เพื่อลดความหน่วงในการสื่อสาร (Lagging) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปไปได้ Edge Computing จึงทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์นั้นเร็วกว่าขั้นตอนแบบดั้งเดิมที่อุปกรณ์ต้องส่งข้อมูลไปประมวลผลที่ส่วนกลางเป็นอย่างมาก

และด้วยอุปกรณ์ในอนาคตที่เป็น Internet-of-Things (IoT) ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งตัวสร้างข้อมูลและส่วนประมวลผลในตัว อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถตัดการเชื่อมต่อได้ (Uninterrupted Network) ทำให้การประมวลผลแบบ Edge Computing สามารถเป็นไปได้จริงและช่วยให้การติดต่อสื่อสารนั้นมีเสถียรภาพ และด้วยเทคโนโลยี 5G ที่เร็วกว่าเทคโนโลยีเดิมถึงร้อยเท่า การสื่อสารในยุคของ Edge Computing จึงเร็วกว่าที่คุณจะคาดคิดอย่างมหาศาล

สรุป

เพราะนวัตกรรมคือผลลัพธ์ของการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด คุณจึงมีโอกาสที่จะได้ใช้งานนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นออกมาอย่างสม่ำเสมอ 

และแม้ว่านวัตกรรมบางชิ้นจะประสบกับความล้มเหลว แต่ก็ไม่ใช่จุดจบของนวัตกรรมนั้นโดยสิ้นเชิง เพราะบางครั้งนวัตกรรมที่ดีก็มาเร็วเกินไป และหากคนยังไม่เข้าใจ หรือราคาสูงเกินเอื้อมถึง ก็ส่งผลให้มันล้มเหลวได้ ทว่าเมื่อโครงสร้างพื้นฐานพัฒนามากขึ้น ผู้ใช้เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นหรือผู้ใช้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ง่ายกว่าเดิม โอกาสที่นวัตกรรมนั้นจะกลับมาประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องยาก

PTT_ebook-EV

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo