Green Marketing หรือการตลาดสีเขียวได้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจต่างๆ นิยมใช้กันมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม จึงเริ่มให้ความสนใจสินค้าและบริการที่สามารถช่วยกอบกู้โลกสีเขียวให้กลับคืนมา
ผลการสำรวจล่าสุดของ Futerra พบว่า 96% ของผู้บริโภคมากกว่า 1,000 คนในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรคิดว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น การบริจาคสิ่งของ การรีไซเคิล หรือการซื้อสินค้าของแบรนด์ที่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง
ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จึงเริ่มนำกลยุทธ์การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Marketing มาปรับใช้กับธุรกิจ แต่การจัดกิจกรรมการตลาดหรือสร้างแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อมแค่เพียงครั้งคราวไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนควรหยั่งรากลึกอยู่ในวิสัยทัศน์และเป้าหมายของบริษัท เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความจริงจังและจริงใจในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อยากรู้ว่า Green Marketing คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ พร้อมพาไปดูกรณีศึกษาของ 3 แบรนด์ระดับโลกที่ใช้ Green Marketing ในธุรกิจจริง
Green Marketing คืออะไร?
Green Marketing หรือการตลาดสีเขียว คือ กระบวนการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้อาจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตัวเอง หรือมีคุณสมบัติและกระบวนการผลิตบางอย่างที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้ อาทิ
- ลดการปล่อยสารพิษหรือสารทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ เช่น โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศยกเลิกการใช้คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) และสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs)
- ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ย่อยสลายเองได้ เช่น โรงแรมบ้านท้องทรายบนเกาะสมุย เปลี่ยนมาใช้หลอดดูดน้ำจากตะไคร้แทนการใช้หลอดแบบพลาสติก
- ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สร้างขยะมากเกินไป
- ออกแบบให้ใช้งานได้ทนทาน ซ่อมแซมได้
- โฆษณาหรือสร้างแคมเปญการตลาดที่สื่อสารถึงคุณลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ของ Green Marketing
Green Marketing จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาดที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งกับธุรกิจสตาร์ทอัพและบริษัทที่อยากเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนี้
ส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ
บริษัทที่มีวิสัยทัศน์เชิงบวกและภาพลักษณ์ที่ดีไม่เพียงดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาพันธมิตรทางธุรกิจด้วย หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่กำลังมองหาวิธีสร้างภาพลักษณ์และปรับปรุงความน่าเชื่อถือของบริษัท Green Marketing คือทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์และไม่ควรมองข้าม
เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่
ธุรกิจสีเขียวยังเป็นตลาดใหม่ที่การแข่งขันไม่สูงมาก แต่มีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและยินดีจ่ายแพงกว่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การผลิตและจำหน่ายสินค้าที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Green Marketing จึงช่วยเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ซึ่งจะสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทของคุณเพิ่มมากขึ้น
ลดค่าใช้จ่าย
Green Marketing สามารถลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้จากนโยบายการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตที่มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงช่วยประหยัดเงินให้กับองค์กรได้มากขึ้น
เปิดโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
ธุรกิจที่เลือกใช้ Green Marketing จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและวัตถุดิบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงช่วยเปิดโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้ธุรกิจของคุณมีความโดดเด่นและจุดขายที่แตกต่างเหนือคู่แข่งในตลาด
ช่วยให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว
การเลือกทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจมีต้นทุนสูงในช่วงแรก แต่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในภายหลัง เพราะปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต บริษัทที่แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจึงมีโอกาสได้รับการยอมรับและความชื่นชอบจากผู้บริโภคจนกลายเป็นความภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจ สร้างรายได้และกำไรที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
กรณีศึกษา: 3 แบรนด์ระดับโลกกับ Green Marketing
Starbucks
Starbucks เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภค เช่น การริเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในร้านค้าทั่วอเมริกาเหนือและสหราชอาณาจักรเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการสร้างแคมเปญบน Facebook ที่ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมอย่างมากคือการเชิญชวนให้ผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้และทาสีถนน นอกจากนี้ ในปัจจุบัน Starbucks ยังมีนโยบายใช้ถ้วยรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
Apple
เมื่อปี 2019 Apple ได้เปิดตัว MacBook Air และ MacBook Mini รุ่นใหม่ พร้อมประกาศว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สร้างขึ้นโดยใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามที่จะลดการสูญเสียของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดย Apple นอกจากนี้ บริษัทยังเลือกใช้วัสดุและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานแต่ยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Johnson & Johnson
Johnson & Johnson เป็นบริษัทที่มีความพยายามในการสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร โดยจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อนำแนวทางดังกล่าวมาใช้จริง ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนลง 20% ภายในปี 2020 และเพิ่มการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ให้ได้สูงที่สุด นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถติดตามความคืบหน้าทางออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ทางการของบริษัทอีกด้วย
สรุป
Green Marketing ไม่ใช่แค่การโฆษณาหรือสร้างแคมเปญการตลาดสีเขียวแบบฉาบฉวยเพื่อดึงดูดใจลูกค้าเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัททั้งในด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือ ช่วยเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ ลดค่าใช้จ่าย เปิดโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น Green Marketing ยังเป็นหนทางในการสร้างโลกที่ดีกว่าวันนี้เพื่อคนรุ่นต่อไป เพราะการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจเพียงเล็กน้อยในวันนี้อาจช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า ดังนั้นหากธุรกิจของคุณยังไม่ได้นำ Green Marketing มาใช้ ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะทำเช่นนั้น