Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ความยั่งยืนบนผลกระทบระยะยาวของผืนป่า

4 ธ.ค. 2020
SHARE

เมื่อนึกถึงการผลิตไฟฟ้า เชื่อมั่นว่ามีหลายคนคิดถึง ‘ไฟฟ้าพลังงานน้ำ’

ด้วยภาพลักษณ์อันใหญ่โตมโหฬาร ความสามารถในการกักเก็บน้ำเพื่อช่วยในการเพาะปลูก การเป็นแหล่งท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ทำให้มีหลายประเทศทั่วโลกมีการสร้างไฟฟ้าชนิดนี้มาใช้ ซึ่งส่วนหนึ่งของไฟฟ้าชนิดนี้ก็คือ ‘เขื่อน’ ที่ทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นแหล่งน้ำ ทำให้การเดินทางของสายน้ำนั้นผิดธรรมชาติ

แน่นอนว่ามันส่งผลดีต่อมนุษย์ ด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้รับผลในเรื่องนี้กลับเป็นสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมรอบเขื่อนและไฟฟ้า ซึ่งอาจมากกว่าที่คุณคิดไว้

พลังงานน้ำ

‘ไฟฟ้าพลังงานน้ำ’ สิ่งก่อสร้างที่เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย

องค์กรพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency: IRENA) ได้มีการระบุไว้ว่า โลกมีการใช้พลังงานน้ำเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า คิดเป็น 63% ของการสร้างกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2018

แน่นอนว่าด้วยชื่อของพลังงานน้ำที่เป็นพลังงานสะอาด เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะได้การสร้างพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อมวลชนแล้ว เรื่องนี้ยังมีส่วนช่วยในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการสร้างกระแสไฟฟ้าชนิดอื่นๆ อีกด้วย

จนสามารถกล่าวได้ว่าในบรรดาพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ‘พลังงานน้ำ’ ยังถือเป็นพระเอก ตามมาด้วยพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์  

ทว่าในทางกลับกัน การสร้างไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลร้ายระยะยาวที่หลายคนไม่เคยคิดมาก่อน ดังนี้

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากไฟฟ้าพลังงานน้ำ

สิ่งที่สูญเสียไปอย่างมากจากการสร้างไฟฟ้าพลังงานน้ำคือพื้นที่ป่าและปริมาณสัตว์ป่ารอบเขื่อน ที่ทุกครั้งที่เกิดการสร้างเขื่อนขึ้น ต้นไม้หลายพันหลายหมื่นต้นจะถูกทำลายจากการจมลงในกระแสน้ำหรือถูกโค่น ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องอพยพสัตว์ป่าจำนวนมากออกจากพื้นที่รองรับน้ำ ที่อาจช่วยได้บ้าง หรือช่วยไม่ได้เลยก็มี ดังที่ปรากฎในช่วงการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานช่วงปี พ.ศ. 2529 ที่ส่งผลกระทบให้มีสัตว์ตายจำนวนมาก และใช้เวลาหลายสิบปีกว่าธรรมชาติจะเริ่มฟื้นฟูอย่างจริงจัง

พลังงานน้ำ

สำหรับในน้ำ มีรายงานชัดเจนว่าการสร้างเขื่อนนั้นส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในธรรมชาติ การอพยพและการวางไข่ตามฤดูกาลต่างๆ ของปลา ทำให้วงจรชีวิตปลาผิดเพี้ยน และอาจส่งผลถึงขั้นสูญพันธ์ของปลาหลากชนิดในอนาคตหากไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือลำน้ำโขงที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจากหลายประเทศ ทั้งจากจีน และลาว ที่นอกจากจะทำให้ปลาในแม่น้ำอาศัยยากขึ้นแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อกะตอนดินที่เป็นแร่ธาตุจำเป็นของสายน้ำ ซึ่งการขาดตะกอนนี้ส่งผลให้เกิดน้ำเซาะตลิ่งได้ง่ายขึ้นกว่าปกติ ทำให้จุดวางไข่ของปลาน้อยลงอย่างมาก

แน่นอนว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันได้คำนึงถึงผลกระทบต่อเรื่องนี้และมีการสร้างระบบรองรับ เช่น การเปิดให้มีตะกอนไหลผ่าน การสร้างทางอพยพของปลาโดยเฉพาะ แต่ก็ยังไม่มีผลการศึกษาจริงจังว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างนั้นจะส่งผลดีมากน้อยแค่ไหนถ้าเทียบกับสิ่งที่เสียไป 

สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การผลิตพลังงานหมุนเวียน

เมื่ออ่านผลกระทบแล้ว อาจทำให้เกิดคำถามว่า แล้วพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ล่ะ ? จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังเช่นนี้ไหม ขอบอกเลยว่ามีอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตพลังงานและการใช้งานพลังงานประเภทนั้นๆ เช่น

  • พลังงานแสงอาทิตย์: ปัญหาด้านพื้นที่ที่เหมาะสม การกำจัดเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์
  • พลังงานลม: ปัญหาด้านพื้นที่ที่เหมาะสม เสียงรบกวน การจัดการชิ้นส่วนของกังหัน ต้นทุน
  • พลังงานชีวมวล: การเก็บรักษา การขนส่ง ความเสถียรในการจัดหาชีวมวล

เห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม แต่มนุษย์ต้องมีการปรับตัวเข้าหาสิ่งที่ดีกว่าเสมอ เพราะการใช้พลังงานฟอสซิลสุดท้ายก็เป็นหนึ่งในการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์ในระยะยาวเช่นกัน แล้วแต่ว่าเราจะ ‘เลือกใช้’ อย่างไร และทำให้มีมาตรฐานที่ดีได้อย่างไร

พลังงานน้ำ

การศึกษาและความเข้าใจของสังคมต่อไฟฟ้า

ต่อให้เรากล่าวถึงผลกระทบว่ามากมายเพียงไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของไฟฟ้าพลังงานน้ำยังคงจำเป็นต่อสังคมไทยและสังคมโลกอยู่ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือมัน ‘คุ้ม’ จริงหรือไม่กับการสังเวยธรรมชาติที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

สิ่งที่ภาครัฐซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการพลังงานของประเทศต้องทำ คือการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น มีการทำประชาพิจารณ์และศึกษาผลกระทบทางธรรมชาติอย่างจริงจังก่อนดำเนินการใดๆ และภาคประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือในการศึกษา และหาทางออกร่วมกันให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากที่สุด

เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็ต้องใช้พลังงาน และโลกของเราก็ยังต้องการการฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อเยียวยาสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นกัน

 

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo