Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“รถไฟพลังงานไฮโดรเจน” ทางเลือกใหม่แห่งการเดินทางด้วยพลังงานสะอาด

1 ธ.ค. 2022
SHARE

นอกจากโลกจะกำลังพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแล้ว รถไฟพลังงานไฮโดรเจน ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไฮโดรเจนสามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ และการนำเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงมาเปลี่ยนไฮโดรเจนและออกซิเจนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าก็ไม่ได้ยากเกินไป

อีกทั้งการปรับเปลี่ยนไปใช้รถไฟพลังงานไฮโดรเจนก็ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำกว่ารถไฟฟ้าด้วย เพราะไม่ต้องเปลี่ยนระบบรางรถไฟแม้แต่นิดเดียว สามารถใช้รางเดิมที่รถไฟเก่าเคยวิ่งได้เลย และไม่ต้องใช้งบติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มด้วย

โดยล่าสุดประเทศที่ทำให้รถไฟพลังงานไฮโดรเจนเกิดขึ้นจริง ได้แก่ เยอรมนี ที่ตอนนี้ได้เปิดให้บริการรถไฟพลังงานไฮเดรเจนที่มีชื่อว่า “คอราเดีย ไอลินต์ (Coradia iLint)” เป็นที่แรกของโลก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการจะลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการนี้ทุ่มงบมากถึง 93 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,450 ล้านบาทเลยทีเดียว

คอราเดีย ไอลินต์: รถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน 100% ขบวนแรกของโลก

คอราเดีย ไอลินต์ (Coradia iLint) เป็นรถไฟโดยสารขบวนแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน มีเจ้าของเป็นบริษัท LNVG ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะที่อยู่ในรัฐ Lower Saxony ประเทศเยอรมนี

โดยรถไฟพลังงานไฮโดรเจนคอราเดีย ไอลินต์ (Coradia iLint) นี้ถูกพัฒนาโดย อัลสตรอม (Alstom) ซึ่งเป็นบริษัทกิจการรถไฟชื่อดังในฝรั่งเศส และยังเป็นผู้ผลิตรถไฟแบบไร้มลพิษ 100% รายแรกของโลกอีกด้วย โดยมีระยะทางในการวิ่งอยู่ที่ 1,000 กิโลเมตร ผ่านเมือง Cuxhaven, Bremerhaven, Bremervoerde และ Buxtehide ซึ่งเดิมทีเส้นทางนี้มีการให้บริการรถบัสและรถไฟสาย EVB ของเยอรมนีนั่นเอง

รูปภาพจาก: Alstom

อย่างไรก็ตาม บริษัท Alstom มีแผนในการส่งมอบรถไฟพลังงานไฮโดรเจนอีก 14 ขบวนภายใน 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากเยอรมันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จึงต้องการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วที่สุด

โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา เยอรมนีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 7,620,000 ตัน ซึ่งคาดว่าหากใช้รถไฟพลังงานไฮโดรเจนครบ 14 ขบวน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4,000 ตันต่อปี คิดเป็น 0.052% แม้ตัวเลขนี้จะดูน้อยมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเยอรมนีกำลังทำทุกทางเพื่อลดมลพิษให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเขาเริ่มจากเปลี่ยนสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัท LNVG ถึงจะทยอยเปลี่ยนรถไฟพลังงานดีเซลที่เหลือให้เป็นรถไฟพลังงานไฮโดรเจนทั้งหมด

รูปภาพจาก: Superalbs

รถไฟพลังงานไฮโดรเจนเคลื่อนที่ได้อย่างไร

รถไฟพลังงานไฮโดรเจนขับเคลื่อนได้โดยการใช้ “เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)” แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยชุดเซลล์เชื้อเพลิงนั้นได้รับการพัฒนาโดย คัมมินส์ (Cummins) บริษัทที่เป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น รถไฟจากพลังงานไฮโดรเจนจึงไม่มีการปล่อยมลพิษ เพราะไอเสียที่ออกมาเป็นไอน้ำ ต่างจากเชื้อเพลิงอื่นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบให้โลกร้อนนั่นเอง

ที่สำคัญ คือ ไม่ค่อยมีเสียงรบกวนเวลาวิ่ง แถมยังมีระบบกักเก็บพลังงานติดตั้งไว้บนรถไฟเพื่อจัดเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตออกมาอีกด้วย

รูปภาพจาก: Alstom

รถไฟพลังงานไฮโดรเจนวิ่งได้กี่กิโลเมตร มีความเร็วเท่าไร

ปัจจุบันรถไฟพลังงานไฮโดรเจนวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรแล้ว ทางผู้ผลิตรถไฟไม่ได้ต้องการให้สิ้นสุดที่ตัวเลขนี้ เพราะกำลังเรียนรู้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

สรุปข้อดีของรถไฟพลังงานไฮโดรเจน

  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปล่อยไอเสียเป็นไอน้ำ แทนที่จะเป็นก๊าซเรือนกระจก
  • หาเชื้อเพลิงได้ง่าย เพราะไฮโดรเจนพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ชั้นบรรยากาศ หรือซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
  • การเปลี่ยนจากรถไฟพลังงานฟอสซิลไปเป็นรถไฟพลังงานไฮโดรเจนทำได้ง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนราง และต้นทุนต่ำกว่าการเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้า
  • วิ่งได้ไกลและเร็ว ปัจจุบันวิ่งได้ถึง 1,000 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • มีเสียงรบกวนน้อย
  • รองรับผู้โดยสารได้ 150 ที่นั่ง และยืนได้อีก 150 คน
  • ไม่ต้องสูญเสียพลังงานที่ผลิตเกินไปฟรี ๆ เพราะมีระบบกักเก็บพลังงานบนรถไฟ
  • ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังมีราคาแพง

รูปภาพจาก: Alstom

สรุป

รถไฟพลังงานไฮโดรเจนถือเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่เป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เพราะไม่มีการปล่อยมลพิษแม้แต่นิดเดียว ที่สำคัญ ไฮโดรเจนยังมีอยู่ทั่วไปและหาได้เรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากน้ำ (H₂O) ที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งต้องผ่านกระบวนการแยกไฮเดรเจนและออกซิเจนออกจากกันเท่านั้นเอง

ที่ดีไปกว่านั้น คือ นวัตกรรมพลังงานสะอาดนี้สามารถใช้ได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็สามารถทำได้ และต้นทุนในการปรับเปลี่ยนจากรถไฟพลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฮโดรเจนก็ต่ำกว่าและง่ายกว่าการเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้าอีกด้วย เนื่องจากรางรถไฟฟ้าต้องมี 3 เส้น ถ้าจะใช้เส้นทางเดิมก็ต้องเปลี่ยนทั้งราง แถมยังต้องใช้มอเตอร์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนด้วย

แต่สำหรับรถไฟพลังงานไฮโดรเจนนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรางรถไฟเลย เพียงแค่เปลี่ยนขบวนรถไฟและติดตั้งแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการเดินทางแค่นั้นเอง

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo