ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้หลายประเทศตัดช่องทางทำเงินของรัสเซียด้วยการยกเลิกและลดการนำเข้าพลังงาน เพราะหวังว่าวิธีนี้จะทำให้รัสเซียเลิกโจมตียูเครนได้
- เยอรมนีระงับโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซียไปยังเยอรมนีที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มการส่งก๊าซเป็นสองเท่า!
- บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่อย่าง BP Leaving, Exxon และ Shell ประกาศถอนตัวออกจากตลาดในรัสเซีย
- สหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรปกล่าวว่าจะยกเลิกและลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
จะเห็นว่าหลายประเทศทยอยคว่ำบาตรรัสเซียกันแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม การกระทำดังกล่าวกลับทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะอะไร?
ทำไมสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้น้ำมันราคาแพง?
รัสเซียผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก
รัสเซียถือเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกันยังส่งออกน้ำมันเป็นอันดับที่ 2 ของโลกอีกด้วย โดยในแต่ละวันรัสเซียผลิตน้ำมันได้ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกประมาณ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยังยุโรป
รูปภาพจาก: bbc.com
สหรัฐฯ และ NATO คว่ำบาตรรัสเซีย
เพื่อไม่ให้เป็นการนำรายได้จากการค้าน้ำมันไปสนับสนุนกองทัพที่กำลังรุกรานยูเครน สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตร NATO* จึงลงโทษรัสเซียด้วยการค่อย ๆ เลิกซื้อน้ำมันและก๊าซ การกระทำดังกล่าวจึงส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียนำเข้าพลังงานได้น้อยลง ซึ่งรัสเซียเองก็เตือนแล้วว่าการห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซจะนำไปสู่ผลกระทบที่เลวร้ายต่อตลาดโลก
ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ กล้าคว่ำบาตรรัสเซียเป็นเพราะว่าตนเองผลิตน้ำมันได้มากที่สุดและนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพียงแค่ 3% เท่านั้น ในขณะที่ประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียค่อนข้างสูง
*NATO หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) เป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธ
มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ยุโรปไม่กล้าคว่ำบาตรสนิท แค่ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
เมื่อประเทศในยุโรปยังพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขาไม่กล้าคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเยอรมนี โปแลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสโลวาเกียที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในอัตราที่สูงมาก โดยรวมแล้วคิดเป็น 25% ของการนำเข้าทั้งหมดเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ของการนำเข้าก๊าซทั้งหมดในยุโรปตะวันตกอีกด้วย
รูปภาพจาก: bbc.com
ทางเลือกที่ 1: ขอให้โอเปก (OPEC) ผลิตน้ำมันเพิ่ม
เมื่อตัดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย การทดแทนช่องว่างที่หายไปจึงเป็นการขอให้สมาชิกโอเปกอย่างซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมัน ขณะเดียวกันก็มีแพลนที่จะหงายบาตรให้เวเนซุเอลาด้วย แต่ดูเหมือนว่าซาอุดีอาระเบียจะไม่เพิ่มการผลิตเนื่องจากมีข้อตกลงกับรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ยุโรปหวั่นว่าจะขาดแคลนพลังงาน
รูปภาพจาก: Insightsias
ทางเลือกที่ 2: ขายน้ำมันในคลังสำรอง
เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันและโอเปกยังไม่มีทีท่าว่าจะผลิตน้ำมันเพิ่ม อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การนำน้ำมันในคลังสำรองของประเทศอุตสาหกรรมออกมาขาย เพื่อเพิ่มอุปทานในตลาด โดยสหรัฐฯ กับพันธมิตรได้นำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาขายจำนวน 60,000,000 บาร์เรล หรือประมาณ 9,600,000,000 ลิตรเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ไม่สามารถทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงได้ เพราะตลาดเชื่อว่าปริมาณน้ำมันในคลังสำรองอาจไม่เพียงพอ และเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ยุโรปประสบปัญหาก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ
แม้จะอุดรอยรั่วปัญหาขาดแคลนน้ำมันได้เพียงชั่วคราว แต่สำหรับก๊าซธรรมชาติแทบไม่มีทางเลือกให้ยุโรปเอาตัวรอด เนื่องจากยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อิตาลี เบลารุส เนเธอแลนด์ ฮังการี และโปแลนด์ ที่นำเข้าก๊าซจากรัสเซียเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
โดยการขนส่งก๊าซของรัสเซียจะเป็นการขนส่งผ่านท่อ ซึ่งกว่า 60% ของการส่งออกทั้งหมดเป็นการขายให้กับประเทศในยุโรป แถมท่อที่จะส่งก๊าซไปยุโรปบางประเทศยังตัดผ่านยูเครนอีกด้วย
แม้สหรัฐฯ จะทดแทนด้วยการขาย LNG ให้กับยุโรป แต่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งนั้นสูงมากและในโลกก็มีแหล่งผลิตเพียงไม่กี่แห่ง ต่อให้เพิ่มจำนวนก๊าซอีก 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เทียบกับปริมาณก๊าซที่นำเข้าจากรัสเซียในแต่ละปีไม่ได้ เพราะรัสเซียส่งออกมากกว่า 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
รูปภาพจาก: bbc.com
พลังงานหมุนเวียนทดแทนได้แค่ระยะสั้น
การรุกรานยูเครนที่ทำให้ยุโรปตัดสินใจลดการพึ่งพาก๊าซของรัสเซีย กลับกระตุ้นให้ยุโรปต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเยอรมนีและอิตาลีที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก ลำพังแค่พลังงานหมุนเวียนอย่างเดียวในช่วงเวลานี้คงไม่เพียงพอ และอาจทำให้ผู้คนในยุโรปต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนก๊าซอย่างหนักในช่วงฤดูหนาวด้วย
OPEC Plus ลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ในรอบ 2 ปี
นอกจากซาอุดีอาระเบียจะไม่ตอบรับคำขอเรื่องการผลิตน้ำมันเพิ่มแล้ว ล่าสุดได้ลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2,000,000 บาร์เรลต่อวันในรอบ 2 ปี จาก 43,800,000 บาร์เรล เหลือ 41,800,000 บาร์เรล และแน่นอนว่าการลดการผลิตน้ำมันเช่นนี้จะมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น
อย่างไรแล้ว ฝั่งสหรัฐฯ มองว่าการที่ซาอุดีอาระเบียทำแบบนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ายืนข้างรัสเซีย ซึ่งประธานธิบดี “โจ ไบเดน” กล่าวโจมตีว่า ทั้งรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเป็นต้นเหตุของราคาพลังงานพุ่งสูงภายในประเทศ
รัสเซียเร่งหาพันธมิตรใหม่
เมื่อโลกตะวันตกทอดทิ้งรัสเซีย รัสเซียจึงต้องแสวงหาพันธมิตรใหม่ โดยเล็งไปที่การผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ในภาคตะวันออก หนึ่งในนั้นก็คือ จีน ซึ่งก่อนเกิดวิกฤตยูเครน จีนก็ได้กลายเป็นประเทศที่รัสเซียส่งออกน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินให้มากที่สุด และอีกหนึ่งประเทศที่รัสเซียเข้าหาก็คือ อินเดีย
โดย The Wall Street Journal รายงานว่า รัสเซียได้เสนอราคาน้ำมันให้กับทั้งสองประเทศในราคาที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันโลกถึง 20% แต่สิ่งที่รัสเซียต้องคิดหนัก คือ จะขนส่งน้ำมันไปที่จีนและอินเดียอย่างไรให้ง่ายและคุ้มค่าที่สุด!
สรุป
การที่ราคาพลังงานพุ่งสูงเกิดจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่มีสาเหตุมาจากการคว่ำบาตรรัสเซีย แม้ยุโรปจะไม่ได้ยกเลิกการนำเข้าพลังงานเสียทั้งหมด แต่ก็ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น
นอกจากจะนำเข้าพลังงานน้อยลงแล้ว ฝั่งโอเปกเองก็ไม่มีท่าที่ผลิตน้ำมันเพิ่ม มิหนำซ้ำยังลดการผลิตอีกต่างหาก ลำพังการขายน้ำมันในคลังก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมราคาน้ำมันโลกถึงไม่ลดลงสักที
แม้หลายประเทศจะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องโดยการไม่สนับสนุนรัสเซีย แต่ผลที่ตามมาก็กระทบกับเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจนค่าครองชีพเพิ่มขึ้น และยุโรปจะรอดไหมเมื่อไม่มีก๊าซจากรัสเซีย คงต้องรอดูว่าพวกจะตัดสินใจกันอย่างไรเพื่อให้หยุดได้ทั้งสงครามและราคาน้ำมัน
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
