ในขณะที่หลายคนมองว่า “รถไร้คนขับ” เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กังวลว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลให้แรงงานหลายภาคส่วนต้องตกงาน
ด้วยเหตุนี้ การพิจารณามุมมองแบบองค์รวมเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไร้คนขับโดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมถึงต้นทุนและผลประโยชน์ทางสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อหาแนวทางการใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนได้อย่างเหมาะสมที่สุด
อยากรู้ว่ารถไร้คนขับคืออะไร? และผลกระทบของเทคโนโลยีรถไร้คนขับมีอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ
รถไร้คนขับคืออะไร?
รถไร้คนขับ (Autonomous Car หรือ Self-driving Car) คือ ยานพาหนะที่สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและขับเคลื่อนไปทุกที่ได้เองโดยไม่ต้องให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องควบคุมรถหรือไม่จำเป็นต้องมีผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์อยู่ในรถเลยก็ได้
ปัจจุบัน Society of Automotive Engineers (SAE) ได้กำหนดระดับการขับขี่อัตโนมัติซึ่งรับรองโดยกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกาไว้ทั้งหมด 6 ระดับ ได้แก่
- ระดับ 0: No Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ไม่สามารถควบคุมยานพาหนะได้ แต่แจ้งคนขับถึงอันตรายได้
- ระดับ 1: Driver Assistance คือ คนขับและระบบอัตโนมัติใช้การควบคุมรถร่วมกัน สามารถพบได้ในรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ติดตั้ง ADAS
- ระดับ 2: Partial Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมรถได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ขับขี่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้หากระบบไม่รับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- ระดับ 3: Conditional Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมรถได้อย่างเต็มที่ และผู้โดยสารสามารถละความสนใจจากการขับขี่ได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังเข้าไปแทรกแซงระบบได้เมื่อเกิดเหตุจำเป็น
- ระดับ 4: High Automation คือ ผู้โดยสารสามารถละความสนใจทั้งหมดจากการขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และปล่อยให้ระบบอัตโนมัติควบคุมได้อย่างเต็มที่ โดยฟังก์ชันนี้จะถูกจำกัดไว้เฉพาะขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงและสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอื่นๆ
- ระดับ 5: Full Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมรถได้อย่างเต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงของมนุษย์
ผลกระทบของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ
รถไร้คนขับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ผู้คนตั้งตารอและได้เกิดขึ้นจริงแล้ว แน่นอนว่าเทคโนโลยีทุกอย่างย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสังคมโดยรวมไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ต่อไปนี้ คือ ผลกระทบด้านต่างๆ ของเทคโนโลยีรถไร้คนขับที่คุณควรรู้
ด้านเศรษฐกิจ
รายงานของ Boston Consulting Group (BCG) คาดการณ์ว่าภายในปี 2035 จะมีการขายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Autonomous Vehicles) 12 ล้านคัน และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบางส่วน (Partially Autonomous Vehicles) 18 ล้านคันทั่วโลกในแต่ละปี โดยสัดส่วนของรถยนต์ที่มีคุณสมบัติอัตโนมัติจะถือครองตลาดรถยนต์ใหม่ 25% และมีการเติบโตของตลาดอยู่ระหว่าง 42,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ($42 billion) ถึง 77,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ($77 billion)
ด้านแรงงาน
แรงงานในภาคคมนาคมขนส่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ พนักงานขับรถโดยสารประจำทางและรถขนส่งสาธารณะ เพราะอาจถูกแทนที่ด้วยรถไร้คนขับ ไม่เพียงแค่นั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานด้านการเกษตร การผลิตและการก่อสร้างอีกด้วย หากในอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยีนี้ได้รับการออกแบบและพัฒนาจนสามารถทำงานที่เฉพาะเจาะจงและซ้ำซากโดยไม่ต้องใช้คนได้สำเร็จ
ด้านอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีรถไร้คนขับกำลังกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่และเกษตรกรรมได้นำรถไร้คนขับมาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เช่น รถยก รถตัก และรถขุด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาไม่แพงมาก และสามารถควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยของคนงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งสามารถนำผู้ปฏิบัติงานออกจากพื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำหรือติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่มได้
นอกจากนี้ การใช้รถไร้คนขับในภาคอุตสาหกรรมยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยประหยัดค่าแรง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 60% เมื่อมีการตั้งค่าการขับขี่ให้เหมาะสม
ด้านประกันภัยรถยนต์
การใช้รถไร้คนขับของผู้คนทั่วไปจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัย เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดจากขับขี่ของมนุษย์มีแนวโน้มลดลง บริษัทประกันภัยจึงจำเป็นต้องคิดทบทวนและปรับรูปแบบธุรกิจจากเดิม เช่น เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายมารับทำประกันให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีความเสี่ยงในการแสดงความรับผิดชอบ เมื่อเกิดปัญหาจากความล้มเหลวทางเทคนิคของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ ปัจจุบัน บริษัทชั้นนำ เช่น Google, Mercedes-Benz และ Volvo ก็ได้เริ่มทำประกันให้กับผลิตภัณฑ์รถไร้คนขับที่พวกเขาผลิตขึ้นแล้ว
ด้านสุขภาพและความปลอดภัย
หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ คือ ประโยชน์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการเสียชีวิตได้ ยืนยันด้วยข้อมูลของสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NHTSA) ที่ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์บนถนน 35,092 คน นอกจากจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว อุบัติเหตุทางรถยนต์ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 871,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นอกจากนี้ ผลการศึกษาล่าสุดของ McKinsey & Company พบว่า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูงมีศักยภาพในการลดการเสียชีวิตจากยานยนต์ได้ถึง 90% ช่วยชีวิตคนได้หลายพันคนและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 190,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปีอีกด้วย
ด้านการจราจร
ผลกระทบอีกด้านของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ คือ การบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนนจึงช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้ นอกจากนี้ ยานพาหนะไร้คนขับยังทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้เวลาระหว่างการเดินทางเพื่อทำงาน พักผ่อน อ่านหนังสือ หรือดูซีรีส์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
สรุป
รถไร้คนขับมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม ธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่จะเป็นผลกระทบด้านบวกหรือด้านลบมากกว่ากันยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไปเมื่อมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับและความไว้วางใจในเทคโนโลยีของผู้คน รวมถึงการพัฒนาอัลกอริทึม องค์ประกอบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเสถียรของระบบที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ตลอดจนการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะทั้งหมดนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเทคโนโลยีรถไร้คนขับไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืนให้กับทุกฝ่ายได้ในอนาคต
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT Expresso
