Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Industry 4.0: ยุคแห่งอุตสาหกรรมดิจิทัล

14 ต.ค. 2021
SHARE

เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก อันเนื่องมาจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ชาญฉลาดและทันสมัยยิ่งกว่าเดิม จนได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคแห่งอุตสาหกรรมดิจิทัลหรือ Industry 4.0 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Industry 4.0 ไม่ใช่แค่การลงทุนในเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิวัติวิธีดำเนินงานและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะมีแค่ธุรกิจที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบเท่านั้นที่จะสามารถปรับตัวและยืนหยัดอยู่เหนือคู่แข่ง พร้อมรับมือกับทุกความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าได้

กว่าจะเป็น Industry 4.0 มีวิวัฒนาการอย่างไร และเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน Industry 4.0 มีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

บทความ industry 4.0

วิวัฒนาการของอุตสาหกรรมจาก Industry 1.0 ถึง 4.0

ก่อนจะถึงยุค Industry 4.0 โลกของเราผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนวิธีการผลิตจากแรงงานคนและสัตว์มาเป็นเครื่องจักรที่ใช้พลังงานไอน้ำและพลังงานน้ำ
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 คือ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีด้วยพลังงานไฟฟ้า ทำให้โรงงานสามารถพัฒนาสายการผลิตที่ทันสมัย เพิ่มผลผลิตได้อย่างมหาศาล ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างยิ่งใหญ่
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือ การปฏิวัติดิจิทัลที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาดิจิทัลขั้นสูง มีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารในกระบวนการผลิตแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยระบบอัตโนมัติซึ่งมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 คือ ยุคแห่งอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อฐานข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการผลิตและบริการ ทำให้โรงงานมีกระบวนการผลิตที่ชาญฉลาดมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Internet of Things ปัญญาประดิษฐ์ และระบบ Automation ที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองตามโปรแกรมที่มนุษย์ควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องจักรให้สามารถผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กได้อย่างแม่นยำ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการผลิตได้มากขึ้น

เทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน Industry 4.0

บทความ industry 4.0

Internet of Things (IoT)

Internet of Things (IoT) เป็นองค์ประกอบสำคัญของ Smart Factory ในยุค Industry 4.0 โดยเครื่องจักรในโรงงานจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์อัจฉริยะพร้อมระบุที่อยู่ IP จึงช่วยให้เครื่องจักรเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งกลไกเหล่านี้ทำให้สามารถรวบรวม วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสายการผลิตจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมต่อกับเครือข่ายธุรกิจ อีกทั้ง Supply Chain ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Cloud Computing

การประมวลผลแบบ Cloud Computing เป็นรากฐานสำคัญของ Industry 4.0 เพราะช่วยเชื่อมต่อความต้องการทั้งด้านการผลิต การบูรณาการด้านวิศวกรรม Supply Chain การขายและการบริการให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ข้อมูลจำนวนมากที่จัดเก็บไว้บนระบบ Cloud ยังสามารถนำมาใช้วิเคราะห์และประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับการใช้งานและการเติบโตของธุรกิจในแต่ละช่วงได้

AI และ Machine Learning

AI และ Machine Learning ช่วยให้ทุกธุรกิจใช้ประโยชน์จากปริมาณข้อมูลที่สร้างขึ้นได้อย่างเต็มที่ ไม่จำกัดแค่ในโรงงานเท่านั้น เพราะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ช่วยในการคาดการณ์และวางแผนระบบอัตโนมัติให้กับการดำเนินงานทางธุรกิจและกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น การใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมถึงข้อมูลรูปแบบการใช้งานของแต่สินทรัพย์ มาคาดการณ์ด้วยการสร้างอัลกอริธึมให้ระบบเกิดการเรียนรู้โดยสามารถระบุช่วงเวลาที่สินทรัพย์นั้นๆ มีแนวโน้มที่จะพังระหว่างกระบวนการดำเนินงานได้ ช่วยให้ธุรกิจวางแผนบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ล่วงหน้า ป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Augmented Reality (AR)

เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) รองรับการใช้งานได้หลากหลาย เช่น การเลือกชิ้นส่วนในคลังสินค้าและการส่งคำแนะนำการซ่อมแซมผ่านอุปกรณ์พกพา ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถแจ้งข้อมูลแบบทันทีหรือเรียลไทม์ให้แก่พนักงาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการตัดสินใจแก้ปัญหาและวางแผนขั้นตอนการทำงานล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Cybersecurity

การโจมตีทางไซเบอร์ที่พบบ่อยที่สุดและมีผลกระทบต่อเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน (Operational Technology: OT) ได้แก่ Malware Phishing Spyware และการละเมิดความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ Industry 4.0 จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ครอบคลุมทั้งอุปกรณ์ IT และ OT ด้วยการวางระบบ Cybersecurity เพื่อช่วยป้องกันโรงงานและสายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย และอาจทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักหรือเกิดความเสียหาย

Digital Twin

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของ Industry 4.0 ทำให้ผู้ผลิตสามารถสร้าง Digital Twin หรือแบบจำลองเสมือนของกระบวนการผลิตในโรงงานและ Supply Chain โดยดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ IoT อุปกรณ์ Programmable Logic Control (PLC) และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตสามารถใช้ Digital Twin เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ปรับปรุง Workflow และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการจำลองกระบวนการผลิต หรือใช้ทดสอบการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเพื่อหาวิธีลดเวลาหยุดทำงานและปรับปรุงกำลังการผลิต

สรุป

Industry 4.0 คือยุคสมัยใหม่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เน้นการเชื่อมต่อระหว่างกันของเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญ เช่น Internet of Things (IoT), Cloud Computing, AI, AR, Machine Learning, Cybersecurity และ Digital Twin เพื่อใช้เทคโนโลยีต่างๆ สร้าง Smart Factory ที่มีกระบวนการผลิตอัจฉริยะ พร้อมสร้างระบบนิเวศแบบองค์รวมและการเชื่อมต่อทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นด้านการผลิตและการจัดการ Supply Chain

ปัจจุบัน Industry 4.0 ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับเปลี่ยนทั้งด้านกระบวนการผลิต การทำงานร่วมกับคู่ค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ และบุคลากร นับจากนี้ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงาน และเพิ่มพูนทักษะของพนักงานให้สอดคล้องกับ Industry 4.0 ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับธุรกิจในยุคแห่งอุตสาหกรรมดิจิทัลได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก PTT Expresso

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo