ปฏฺิเสธไม่ได้ว่า Covid-19 เป็นตัวแปรทำให้ทิศทางนวัตกรรมปี 2021 เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ทำให้วงการการแพทย์ปีนี้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย นอกเหนือจากเรื่องนี้ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อจากปีก่อนๆ ก็ยังเป็นเป้าหมายสำคัญเช่นเดิม ไม่ว่าจะฝุ่น ไฟป่า น้ำท่วม รวมถึงวิกฤตพลังงาน ก็ตาม
บางคนมองว่านวัตกรรมอาจช่วยไม่ได้มากเท่ากับการให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม แต่อย่าลืมว่าการเปิดโอกาสทำให้คนทั่วไป ‘ช่วยโลก’ ได้ง่ายขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น
มาดูกันว่าในปี 2021 นี้มีนวัตกรรมใดบ้างที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำหรับคนยุคใหม่มากที่สุด
อัปเดตเทรนด์นวัตกรรมเพื่อโลกที่ดีขึ้น 2021
นวัตกรรมห้องตรวจรูปแบบใหม่ วัคซีนและยารักษาโรคชนิดใหม่
แน่นอนว่าเหตุผลของเทรนด์นี้คงหนีไม่พ้นต้นเรื่องอย่าง Covid-19 ที่เกิดการระบาดขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังแพร่กระจายได้ง่าย นั่นทำให้แต่ละประเทศต้องทุ่มเทในการสร้างนวัตกรรมและวัคซีนเพื่อสกัดกั้นโรคร้ายนี้ให้เร็วที่สุด
นวัตกรรมใหม่ที่เราได้พบเจอปี 2021 โดยเฉพาะในประเทศไทยคือรถสำหรับตรวจโรคแบบเฉพาะกิจ ห้องความดันลบรูปแบบใหม่ที่ถอดประกอบได้ ทำให้การตรวจกลุ่มเสี่ยง Covid-19 นั้นง่ายและไวกว่าเดิม
นอกเหนือจากนั้นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนในปีนี้ก็พัฒนาขึ้นอย่างมาก ทั้งการประยุกต์ใช้วัคซีน mRNA จากทาง Pfizer และ Moderna ที่ออกผลรวดเร็วกว่าวัคซีนแบบเดิมๆ กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี และวัคซีนรูปแบบ Virus Vector ของ AstraZineca และ Spuknic V ที่สามารถผลิตจำนวนมากได้ง่าย และมีราคาถูกกว่าวัคซีนประเภทอื่น
ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า
นวัตกรรมสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ และเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2020 แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากแบรนด์ Tesla ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นอย่างมากในวงการรถยนต์ และทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าปรับตัวลดลงจนคนทั่วไปเริ่มจับต้องได้มากขึ้น
นอกเหนือจากคนทั่วไป ฝ่ายรัฐเองก็มีบทบาทในการเพิ่มการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่น จีน ที่มีการให้เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงออกกฎหมายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ
ในประเทศไทยเองก็มีการสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น การเพิ่มสถานีชาร์จไฟให้รถยนต์ในประเทศ การวิจัยการเปลี่ยนรถยนต์ทั่วไปให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้ และการวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเปลี่ยนแบตเตอร์รี่สำหรับรถที่ใช้งานมากอย่างมอเตอร์ไซค์ เพื่อความสะดวกในการใช้ เช่นระบบของทาง SWAP & GO ที่กำลังดำเนินการในไทย
ประชาชนจำนวนหนึ่งก็มีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว แม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม คาดกว่าค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับพลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้นจากกระแสนิยมที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ผลิตภัณฑ์จากขยะทะเล
สิ่งของที่ทำมาจากขยะทะเลเองเดิมทีก็มีอยูไม่น้อย เพียงแต่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยที่เราไม่รู้แค่นั้นเอง เมื่อกระแสของขยะทะเลมีมากขึ้น การใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างเปิดเผยและใช้ในการโฆษณาเองก็มีมากขึ้นเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์ของใช้จากขยะทะเลมีตั้งแต่ที่รองแก้ว จาน ชาม ไปจนถึงของที่เราแทบมองไม่ออกเลยว่ามันทำจากขยะทะเล อย่างรองเท้า เสื้อผ้า
โดยเฉพาะเสื้อผ้าและของสวมใส่ในปัจจุบัน อย่างแบรนด์ Ecoalf ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นเสื้อผ้าธรรมดา หากผู้ผลิตไม่ได้บอกเราจะไม่สามารถรู้เลยว่าทำมาจากขยะทะเล โดยแบรนด์เองก็ใช้เรื่องนี้ในการโปรโมทเกี่ยวกับการรักษ์โลกเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็มีมาสักพักใหญ่แล้ว กับงาน Sustainable Brand Bangkok ที่มีการจัดช่วงปี 2018 เปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงการแปรรูปขยะเหลือใช้ของตนเอง ซึ่ง PTTGC ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานเช่นกัน
ถุงและภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้
หนึ่งในนวัตกรรมปี 2021 ที่หลายแบรนด์ให้ความสำคัญมากที่สุดคือถุงและภาชนะต่างๆ ที่มีการใช้แล้วทิ้งไปเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากเราต้องปรับพฤติกรรมลดการทิ้งเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ยังต้องพึ่งพาหน่วยงานและแบรนด์ใหญ่ๆ คอยช่วยเหลือด้วย
นวัตกรรมที่เราสามารถเห็นได้ชัดคือ ถุงพลาสติกที่ทำจากไบโอพลาสติกชนิดย่อยสลายได้ ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ด้วยต้นทุนที่ยังคงสูงอยู่พอสมควรทำให้ต้องมีการวิจัยและพัฒนามากกว่านี้เพื่อการใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ยังมีภาชนะจากใบไม้ ต้นไม้ หรือของใช้อื่นๆ สำหรับการใช้งานแบบใช้แล้วทิ้งแทนโฟมหรือพลาสติก ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ
อุปกรณ์เก็บขยะทะเล
ถ้าจะพูดถึงนวัตกรรมการใช้งานขยะทะเลแล้วไม่พูดถึงการ ‘เก็บ’ คงเป็นไปไม่ได้
นวัตกรรมที่ยังได้รับการจับตาอย่างต่อเนื่องคือ Ocean Cleanup ที่ใช้แหขนาดใหญ่เพื่อดักจับขยะภายในทะเล และ Seabin ที่เป็นการวางถังขยะลอยน้ำเพื่อดักจับขยะที่อยู่ในน้ำ ทั้งหมดยังมีการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง และยังต้องจับตามองว่าประสบความสำเร็จมากขนาดไหน
โครงการใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้คือ Gojelly Project ที่วิจัยการใช้แมงกะพรุนเพื่อจับไมโครพลาสติกในทะเล ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาอยู่
เนื้อเทียม
อาหารคือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวที่สุดก็คงไม่พ้นเนื้อเทียมหลายคนอาจชินชากับเนื้อเทียมที่มีความแป้งมากๆ ในอาหารเจสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Nestlé และ Kellogg’s ไปจนถึง Burger King ได้เข้ามามีบทบาทในการทำเนื้อเทียม ทำให้มีการพัฒนาจนเนื้อเทียมมีความใกล้เคียงเนื้อจริงแบบสุดๆ ชนิดแทบแยกไม่ออก ซึ่งในไทยก็มีแบรนด์ More Meat ที่กำลังทำตลาดอยู่
การนำเนื้อเทียมมาใช้จะช่วยลดมลภาวะและทรัพยากรอย่างมาก เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรต่างๆ สูง คนดังหลายคนในปัจจุบันก็เลือกที่จะเป็นวีแกนหรือทานมังสวิรัติด้วยเหตุผลนี้ด้วย
สรุปนวัตกรรมปี 2021
เห็นได้ชัดเลยว่านวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2021 นี้เกิดจากการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร รวมถึงการป้องกันโรคระบาด เป็นอย่างมาก นอกจากแบรนด์เล็กที่เกิดขึ้นมาใหม่แล้ว แบรนด์ใหญ่เองก็มีการปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีการปรับตัวเข้ากับวิถี New Normal เพื่อรับมือโรคระบาดเช่นกัน
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าในช่วงท้ายปี 2021 นี้ นวัตกรรมทางการแพทย์ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะส่งผลต่อโรคเราขนาดไหน และจะมีการกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ไปแบบไหน เพื่อให้โลกของเราสามารถพัฒนาต่อได้ ไม่ว่าจะเจอวิกฤตการณ์ใดๆ เข้ามาก็ตาม