การตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจของตัวเองไปถึงระดับโลกอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนตั้งความหวังไว้ แต่มันจะไปไกลขนาดนั้นไม่ได้เลยหากเราไม่เข้าใจสิ่งที่ท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการเสียก่อน ไม่ว่าจะของในไทย หรือต่างประเทศ การ Localization หรือการปรับปรุงธุรกิจให้เข้ากับพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าบริษัทไหนก็ขาดไม่ได้ บทความนี้จึงจะมาอธิบายเรื่องของ Localization แบบเข้าใจง่ายๆ และคุณสามารถนำไปปรับใช้ได้เลย
Localization คืออะไร ส่งผลอะไรกับธุรกิจอย่างไร
Localization เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายค่อนข้างหลากหลายตามแต่และวงการ แต่หากนับความหมายในเชิงธุรกิจแล้วคำๆ นี้จะหมายถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ธุรกิจ สินค้าและบริการของตัวเองให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในระดับสากล เพื่อตอบสนองการซื้อขายและการทำการตลาดให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ทำไม ? เพราะแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรม ค่านิยม และทรัพยากรที่แตกต่างกันและมีความเฉพาะ ทำให้การทำธุรกิจต้องเข้าใจ เพื่อสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและค่านิยม เช่น การใช้สี การใช้ภาษา การปรับปรุงรสชาติ หรือสรรหาทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ให้เหมาะสม
เห็นได้ชัดว่า Localization เปรียบเสมือนการสร้าง ‘ฐาน’ สำหรับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ายิ่งเราทำฐานให้แน่นมากเท่าไหร่ เรายิ่งต่อยอดมันได้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในเชิงธุรกิจ
ความเชื่อสำหรับใครหลายคนคือหากทำธุรกิจในไทยนั้นไม่จำเป็นต้องมีคำยากๆ อย่าง Localization หรอก ขอแค่ของดี ใช้คนดัง คนก็ซื้อ แน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ถ้าหากคุณปรับใช้เรื่องนี้เข้าร่วมกับธุรกิจล่ะก็ ธุรกิจในวันนั้นอาจไม่ใช่แค่การเติบโต แต่เป็นการทะยานพร้อมกับสร้างชื่อเสียงให้กับตัวคุณ ณ เวลานั้นเลยก็เป็นได้
เข้าถึงใจคนด้วยหลักการ Localization
Localization ไม่ใช่แค่การแปลภาษาหรือการขายคนเฉพาะพื้นที่ แต่คือการ ‘ทำความเข้าใจพื้นที่’ และ ‘ประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจเรามากที่สุด’ และจริงๆ แล้วเราสามารถทำ Localization ในระดับจังหวัดหรืออำเภอก็ได้เช่นกัน
แน่นอนว่าพูดอธิบายนั้นง่าย แต่รู้หรือไม่ว่าการกระทำบางอย่าง ผู้ประกอบการหลายคนก็ดำเนินการ Localization ไปแล้วด้วยตนเอง โดยที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นอาจไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ โดยจะขอยกตัวอย่างวิธีการดังนี้
การใช้ข้อมูลพื้นฐานจากท้องถิ่น
คำว่าท้องถิ่น ไม่จำกัดว่าจะเป็นแค่อำเภอ ท้องถิ่นนั้นสามารถตีความกว้างได้ถึงระดับประเทศ หากบริษัทของคุณทำธุรกิจแบบ Global อาจใช้การเก็บข้อมูลคนในประเทศต่างๆ เพื่อประเมินว่าคนประเทศนั้นชื่นชอบอะไร มีวัฒนธรรมแบบไหน ต่างที่ ต่างข้อมูล ยิ่งได้ข้อมูลเรื่องนี้มาปรับใช้มาก เรายิ่งทำให้สินค้าและบริการของเราติดตลาดพื้นที่นั้นๆ ได้มากขึ้น
การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับท้องถิ่น
หากเราทำธุรกิจ บางครั้งอาจมีสินค้าและบริการเป็นของตัวเอง ซึ่งการ Localzation อาจไม่ใช่การสร้างของใหม่ๆ เข้าไปขาย แต่เป็นการประยุกต์ใช้ของเดิมแต่เปลี่ยนนรุปร่างหรือการตกแต่งให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ
การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น
เชื่อหรือไม่ว่าการเลือกวัตถุดิบจากท้องถิ่น นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว บางครั้งเราอาจได้วัตถุดิบดีๆ หรือไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดสินค้าและบริการของเราด้วย เช่นหากเราทำอาหาร การสรรหาผัก ผลไม้ พื้นเมืองเข้ามาประยุกต์กับเมนูต่างๆ นอกจากจะทำให้ได้ใจชาวบ้านแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นแคมเปญอื่นๆ นอกพื้นที่นั้นๆ ได้อีกด้วย
การใช้คนท้องถิ่นในการบริหารจัดการงาน
หากเป็นธุรกิจที่มีหลายสาขา ผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถจัดการได้หมดรวมถึงไม่มีทางเข้าใจคนในพื้นที่ได้ลึกมากเพียงพอ การเลือกให้คนท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการร้านหรือสาขานั้นๆ แล้วส่งคำแนะนำ ข้อมูล เข้ามาสู่สาขาใหญ่ เพื่อการตัดสินใจอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่าในด้านการทำธุรกิจระยะยาว
ตัวอย่างประยุกต์ Localization ให้เข้ากับธุรกิจจริง
อย่างที่บอกว่าการ Localization ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แม้แต่ธุรกิจที่คุ้นตาเราหลายต่อหลายเจ้าเองก็มีการ Localization เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่อย่างเข้มข้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- Netflix นอกจากการแปลซีรีย์และภาพยนตร์ด้วยภาษาของท้องถิ่นนั้นๆ แล้ว ยังมีการนำเข้ารายการที่เน้นให้คนในพื้นที่ดังกล่าวดู เช่น ประเทศไทยก็จะมีหนังไทย ซีรีย์ไทย หรือออริจินัลซีรีย์ของ Netflix ที่ถ่ายทำในประเทศไทยและใช้ดาราไทยแสดง
- KFC McDonald และ ฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ล้วนมีเมนูและการปรุงที่แตกต่างออกไปในพื้นที่ และใช้วัตถุดิบของพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก เช่น เมนูวิงแซบของ KFC พิซซ่าหน้าต้มยำกุ้งของ The Pizza Company เป็นต้น
- การวางแผนผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมโดยใช้คนในประเทศนั้นๆ หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือของตกแต่งยานยนต์ให้ตรงกับความชอบของคนในประเทศ
- การแปลภาษาภายใน Application ให้ตรงตามกับพื้นที่นั้นๆ โดยใช้คนในพื้นที่แปลเป็นหลักเพื่อความลื่นไหลและความสะดวกต่อการใช้งานจริง
- การปรับปรุงรสชาติอาหารไทยให้เข้ากับลิ้นของคนต่างชาติเมื่อเปิดร้านอาหารเหล่านั้นในต่างประเทศ รวมถึงใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศนั้นๆ
ดังที่เห็นว่าเราสามารถทำ Localization ได้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสำรวจความต้องการ ทำความเข้าใจ และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับพื้นที่ เพื่อให้การทำงานทั้งหมดเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด