เนื้อเทียม หรือ Meat Analogue นั้น หมายถึง อาหารที่มีลักษณะคล้ายคลึงเนื้อสัตว์ ทั้งในเรื่องของรสชาติ เนื้อสัมผัส และรูปลักษณ์ โดยทำมาจากวัตถุดิบจำพวกมังสวิรัติ ซึ่งโดยส่วนมากเนื้อเทียมมักทำมาจากผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เทมเป้ (ถั่วเหลืองหมัก) หรือทำมาจากกลูเต็น และในปัจจุบันมีการใช้โปรตีนจากถั่วลันเตา (Pea) นำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และอื่นๆ ผ่านขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้มีสีสัน ความชุ่มฉ่ำ และรสชาติเสมือนเนื้อมากที่สุด
ปัจจัยที่ส่งผลให้มีผู้สนใจบริโภคเนื้อเทียมกันมากขึ้น ได้แก่ ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น กระแสการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และจริยธรรม โดยการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมต่อแคลอรีสูงกว่าอาหารจากธัญพืชมาก นอกจากนี้ หนึ่งในสี่ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกผลิตขึ้นในโลกจะมาจากอาหาร และ 58% เกิดจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ โดยกระบวนการผลิตเนื้อเทียมปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริงถึง 30%-90%
และจากปัจจัยที่ส่งเสริมให้การบริโภคเนื้อเทียมเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ Key Players รายใหญ่ได้ออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อเทียมใหม่ๆ มาเพื่อเอาใจผู้บริโภค เช่น
– Beyond Meat ซึ่งผลิตเนื้อเทียมที่ทำมาจากถั่วลันเตา (Pea) น้ำมันมะพร้าว มันฝรั่ง สารปรุงแต่ง เกลือ และน้ำบีทรูทผสมวิตามินต่างๆ โดยมีการจำหน่ายสินค้าครอบคลุมในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่างๆ อีกทั้งยังมีการขายปลีก และมีความร่วมมือกับเครือข่ายร้านอาหารรายใหญ่ ในการออกเมนูด้วยสินค้าของ Beyond Meat อีกด้วย
– Impossible Foods ซึ่งทำมาจากถั่วเหลือง (Soybean) น้ำมันมะพร้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน แป้งมันฝรั่ง ซิงค์ วิตามินต่างๆ เกลือ และน้ำ โดยมีความร่วมมือกับ Burger King ในการจำหน่ายเมนู Impossible Whopper หรือเบอร์เกอร์ที่ทำมาจากเนื้อเทียม ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี
– เนสท์เล่ มีการเปิดตัว “Incredible Burger” ขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนเมษายน 2019 โดยผสมผสานถั่วเหลือง ข้าวสาลี สารสกัดจากบีทรูทและพืชอาหารอื่นๆ โดยเนสท์เล่วางแผนจะเสนอเมนู “Sweet Earth” ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์ผักที่ทำจากถั่วตามภัตตาคารจานด่วนในสหรัฐอเมริกา
– บริษัทยูนิลีเวอร์ ปีที่ผ่านมาก็ได้นำเสนอร้านขายเนื้อเทียมที่ทำจากผัก โดยประกาศว่าจะเป็นเนื้อเทียมรายใหญ่สุดของโลกด้วยเช่นกัน
– สำหรับประเทศไทยนั้น ร้านอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง Sizzler ก็ได้นำวัตถุดิบเนื้อที่ทำจากพืช มาพัฒนาเป็นเมนูใหม่ถึง 4 เมนู และเริ่มวางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจดังกล่าวก็ยังมี Challenge สำคัญที่ต้องพัฒนาปรับปรุงกันต่อไป คือ เรื่องของรสชาติและเนื้อสัมผัส เนื่องจากผู้บริโภคต่างก็คาดหวังถึงรถสชาติของอาหารที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ในขณะที่ยังคงประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดการบริโภคเนื้อสัตว์
นอกจากนี้ อาจจะยังมีประเด็นเรื่องสุขภาพอยู่บ้าง เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมหรือเนื้อที่ทำจากพืชอาจจะมีคุณค่าอาหารน้อยกว่าที่ได้กล่าวอ้างไว้เพียงเพื่อจะดึงดูดให้ผู้บริโภคมาทดลองชิมดูเท่านั้น
จัดทำโดย สถาบันนวัตกรรม
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
