ไมโครกรีน กำลังถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายและกลายเป็นที่นิยมในหมู่ของคนรักสุขภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้ใหม่ของเกษตรกรด้วย อีกทั้งยังเป็นแนวทางอาชีพเสริมของคนที่ต้องการปลูกผักขาย เนื่องจากปลูกง่าย ใช้เวลาไม่นานก็ขายได้ ทำให้เพิ่มรอบการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ คือ เปี่ยมล้นไปด้วยคุณประโยชน์ที่มากกว่าผักทั่ว ๆ ถึง 100 เท่า!
ไมโครกรีนคืออะไร
ไมโครกรีน (Microgreen) คือ ต้นอ่อนของพืชผักชนิดต่าง ๆ ที่ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ หรือเมล็ดพืชที่งอกออกมาได้ประมาณ 7-14 วัน แต่ไม่ได้เล็กมากถึงขั้นอยู่ในช่วงระหว่างงอก (Sprouts) หรือโตถึงขั้นต้องเรียกว่าต้นเล็ก (Baby greens) พูดให้เข้าใจง่ายก็คืออยู่ตรงกลางระหว่างช่วงงอก (2-5 วัน) กับช่วงที่เป็นต้นเล็ก (21-28 วัน) นั่นเอง
ทำไมคนถึงนิยมทานไมโครกรีน
เหตุผลที่คนเริ่มรับประทานผักไมโครกรีนกันก็เพราะว่า ไมโครกรีนมีสารอาหารและสารพฤกษเคมีสูงกว่าผักที่โตเต็มวัยมากถึง 70-100 เท่า
โดย ผศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า
“บรอกโคลีไมโครกรีนมีปริมาณซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) มากกว่าบรอกโคลีโตเต็มวัยถึง 100 เท่า ถ้าเราทานบรอกโคลีไมโครกรีนแค่ 50 กรัม จะเท่ากับทานบรอกโคลีโตเต็มวัย 1 กิโลกรัมเลย”
ผักไมโครกรีนมีอะไรบ้าง
ปัจจุบันผักไมโครกรีน (Microgreen) ในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเป็น “ผักตระกูลกะหล่ำ” เช่น
- ต้นอ่อนกะหล่ำปลี
- ต้นอ่อนกะหล่ำปลีม่วง
- ต้นอ่อนกะหล่ำดาว
- ต้นอ่อนกะหล่ำดอก
- ต้นอ่อนบรอกโคลี (นิยมปลูกเป็นผักไมโครกรีนมากที่สุด)
- ต้นอ่อนคะน้า
- ต้นอ่อนกวางตุ้ง
- วอเตอร์เครส
- ต้นอ่อนผักกาด
ส่วนไมโครกรีนชนิดอื่น ๆ ที่เราอาจคุ้นเคยและรับประทานกันมาบ้างแล้ว ก็อย่างเช่น
- ต้นอ่อนทานตะวัน
- ต้นอ่อนผักบุ้ง
- ต้นอ่อนผักโขมแดง
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุด ผศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ ได้มีการวิจัยโดยนำผักพื้นบ้านมาทำไมโครกรีนด้วย ซึ่งคุณค่าทางอาหารถือว่าไม่แพ้ไมโครกรีนต่างประเทศเลย นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรไทยอีกทางหนึ่ง โดยตัวอย่างผักไมโครกรีนที่นำไปวิจัย ได้แก่
- กระเจี๊ยบแดง
- ผักขี้หูด
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเติบโตของผักชนิดนั้น ๆ เพื่อให้เป็นไมโครกรีนที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากที่สุด
ประโยชน์ของไมโครกรีน
ไมโครกรีนมีประโยชน์มากมายเฉกเช่นเดียวกับผักทั่ว ๆ ไป แตกต่างแค่ตรงที่จะมีปริมาณสารอาหารที่สูงกว่าเท่านั้น โดยเฉพาะผักตระกูลกะหล่ำที่มีสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นโปรตีน NRF2 กระตุ้นกระบวนการขจัดสารพิษในตับ กำจัดสารก่อมะเร็งในร่างกาย ลดการอักเสบ ป้องกันการเสียหายของ DNA และยังช่วยชะลอวัยอีกด้วย
ส่วนประโยชน์ของต้นอ่อนทานตะวันก็สูงไม่ใช่เล่น เพราะเต็มไปด้วยไฟเบอร์ โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม สังกะสี โพแทสเซียม และไขมันที่ดีต่อร่างกาย ที่พิเศษมาก ๆ คือ ทานตะวันไมโครกรีนมีสาร GABA (Gamma Aminobotyric Acid) ที่ช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก บำรุงสมอง ผิวพรรณ และสายตา ซึ่งนับว่าเป็นศาสตร์ชะลอวัยที่ใคร ๆ ก็ทำได้ นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เพราะสามารถขจัดเชื้อโรคในปอดได้ด้วย และคุณประโยชน์เหล่านี้ก็สามารถพบได้ในต้นอ่อนผักบุ้งอีกเช่นกัน
โดยรวมแล้วถือว่าไมโครกรีนเป็นทั้งแหล่งโปรตีนชั้นดี มีแคลอรีต่ำ และยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ เรียกได้ว่ามาพร้อมกับคุณประโยชน์ที่ครบครันเลยทีเดียว!
ไมโครกรีนทำเมนูอะไรได้บ้าง
ไมโครกรีนสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทานแบบผักสด โดยไม่ผ่านความร้อน เช่น สลัดผัก หรือทานเป็นเครื่องเคียงคู่กับสเต็ก นำไปสอดไส้แซนวิซ แฮมเบอร์เกอร์ และโรยหน้าเมนูต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาปั่นเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ได้อีกด้วย
แต่ในอนาคตอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่นี้ เพราะ ผศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ มีแผนที่จะต่อยอดไมโครกรีนโดยการแปรรูปให้เป็นผง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหาร รวมถึงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมด้วย และนี่อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้จากไมโครกรีน
โอกาสสร้างรายได้จากผักจิ๋ว “ไมโครกรีน”
การปลูกผักไมโครกรีนง่ายกว่าที่คิด เนื่องจากใช้เวลาในการเพาะปลูกเพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น หากต้นอ่อนสูงประมาณ 2-4 นิ้ว หรือมีใบงอกมา 2-3 ใบก็สามารถเก็บไปขายหรือรับประทานได้แล้ว ซึ่งมองว่าโอกาสรอดตายและขายได้อาจมีมากกว่าการปลูกผักโตเต็มวัยด้วยซ้ำไป
ดีกว่าเดิม! หากใช้ระบบ PFAL ปลูกไมโครกรีน
เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากดิน โรคแมลง และสารเคมีต่าง ๆ การปลูกไมโครกรีนโดยใช้ระบบ PFAL (Plant Factory with Artificial Light) หรือระบบปิดควบคุมสภาวะแวดล้อมภายใต้แสงเทียมอาจเป็นวิธีที่ดีกว่าที่จะช่วยให้เราได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่มากพอ
เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศหรือรอช่วงฤดูกาลอย่างผักทั่ว ๆ ไป เพราะสามารถเลียนแบบแสงธรรมชาติและควบคุมอุณหภูมิกับความชื้นได้ ที่สำคัญคือสามารถปลูกเป็นแนวตั้ง ซึ่งใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมาก
หาซื้อไมโครกรีนได้ที่ไหน
ปัจจุบันไมโครกรีนมีขายตาม Marketplace หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ แต่ถ้าคุณอยากทานไมโครกรีนที่ปลูกโดยระบบ PFAL สามารถซื้อออนไลน์ได้ที่ Dr.Sprouts & Microgreens มั่นใจได้ว่าสะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษแน่นอน
หรือหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น โกลเด้นเพลส, ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์, ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน เป็นต้น
สรุป
ไมโครกรีนเป็นต้นอ่อนของพืชที่รับประทานในปริมาณน้อย แต่ได้ประโยชน์มากกว่าการผักโตเต็มวัยในปริมาณมาก ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเหล่าเกษตรกรและคนที่ต้องการทำอาชีพเสริมได้ด้วย
เชื่อว่าหากทุกคนทราบถึงคุณประโยชน์ของไมโครกรีนว่าเป็นยังไง ดีกว่าการรับประทานผักทั่วไปขนาดไหน ในอนาคตเราอาจจะเห็นคนบริโภคไมโครกรีนกันมากขึ้นก็เป็นไป ดีไม่ดีอาจจะได้เห็นเมนูและรูปแบบการรับประทานไมโครกรีนที่เปลี่ยนไป
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
