Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“ไมโครพลาสติก” ภัยเงียบที่มนุษย์ทุกคนไม่ควรมองข้าม

5 ก.ย. 2022
SHARE

แม้ว่า พลาสติก จะเป็นวัสดุอเนกประสงค์ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อขาดการใส่ใจในกระบวนการกำจัด วัสดุนี้กลับกลายเป็นดาบสองคม ทำให้ปัจจุบันโลกต้องเผชิญเข้ากับปัญหา ขยะพลาสติกล้นโลก ซึ่งกำลังทำลายระบบนิเวศลงอย่างช้า ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังนำพาซึ่งภัยเงียบที่มนุษย์มองไม่เห็น นั่นก็คือ ไมโครพลาสติก

บทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับไมโครพลาสติก หนึ่งในภัยเงียบที่หลาย ๆ คนไม่ควรมองข้าม สิ่งนี้คืออะไร ทำอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่เลย

PTT-microplastic-dangerous-01-scaled

“ไมโครพลาสติก” คืออะไร

ไมโครพลาสติก คือ พลาสติก หรือ เศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป ทำให้มองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหา ไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ โดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง

โดยปัจจุบันไมโครพลาสติกนั้นถูกจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • Primary Microplastic คือ ไมโครพลาสติกที่ตั้งใจผลิตให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้งานกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไมโครบีดส์ (Microbeads) ในโฟมล้างหน้า และยาสีฟัน
  • Secondary Microplastic คือ ไมโครพลาสติกที่เกิดจากการแตกหัก หรือเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไป เช่น ขวดน้ำ แก้ว หลอด ฯลฯ

ด้วยขนาดที่เล็กมาก ๆ ของไมโครพลาสติก ส่งผลให้มันแทรกซึมเข้าไปปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการไหลลงไปสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ และถูกสัตว์น้ำกินเข้าไป หรือปนเปื้อนอยู่ในดิน ทำให้ต้นไม้ดูดซึมไมโครพลาสติกขึ้นมาปนเปื้อนในผลของมันอีกด้วย

ไมโครพลาสติกกำลังแฝงอยู่ในอาหารโดยที่เราไม่รู้ตัว

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจุบันไมโครพลาสติกนั้นได้ปะปนเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนั่นทำให้มันแฝงตัวเข้ามาในอาหารที่พวกเราทุกคนทานอยู่เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

ไมโครพลาสติกในผัก และผลไม้

การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในดินสามารถส่งผลให้พืชพรรณต่าง ๆ ดูดซึมเข้าไปผ่านทางราก ทำให้ชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกนั้นถูกพบเจอภายในผลของมันอีกด้วย

ข้อมูลนี้มาจากผลการวิจัยโดย Margherita Ferrante นักวิจัยจาก University of Catania ประเทศอิตาลี ซึ่งได้ค้นพบเศษไมโครพลาสติกในผัก และผลไม้บางชนิด เช่น แครอท ผักกาดหอม แอปเปิล ฯลฯ

โดยในการวิจัยของ Margherita Ferrante นั้นพบว่าภายในแอปเปิลนั้น มีไมโครพลาสติกแฝงอยู่ในผลมากถึง 195,500 ชิ้นต่อกรัมเลยทีเดียว

PTT-microplastic-dangerous-02-scaled

ไมโครพลาสติกในปลา

จากการทดลองโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย The Education University of Hong Kong พบว่า ปลากระบอกเทาที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการทดลองนั้น กว่า 60% ของจำนวนทั้งหมดมีการปนเปื้อนเศษไมโครพลาสติกอยู่ภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบไมโครพลาสติกในปลาทะเลอื่น ๆ อีกด้วย

ไมโครพลาสติกในเกลือ

สถาบันผู้บริโภคของฮ่องกงรายงานว่า จากการทดสอบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในเกลือ กว่า 20% ของเกลือที่นำมาทดสอบมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกกว่า 114 – 17,200 มิลลิกรัม ต่อเกลือจำนวน 1 กิโลกรัมเลยทีเดียว

PTT-microplastic-dangerous-03

ไมโครพลาสติกส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่

ในแต่ละวันมนุษย์อาจจะเผลอทานไมโครพลาสติกเข้าไปมากถึง 5 กรัมโดยไม่รู้ตัว โดยใน 1 สัปดาห์นั้นเราอาจเผลอทานพลาสติกเข้าไปเทียบเท่ากับบัตรเครดิตใบหนึ่งเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าไมโครพลาสติกที่เผลอทานเข้าไปนั้น จะถูกนำออกจากร่างกายอัตโนมัติผ่านการขับถ่าย และปัจจุบันยังไม่ทราบอันตรายที่แน่ชัด

ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศว่าร่างกายของมนุษย์สามารถขับไมโครพลาสติกออกไปเองได้ แต่ผลกระทบของมันก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากผลวิจัยของ Vrije Universiteit Amsterdam ได้ทำการทดลองค้นหาไมโครพลาสติกในเลือดของมนุษย์ ซึ่งผลลัพท์ที่ออกมาพบว่ากว่า 80% ของกลุ่มตัวอย่างนั้นมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเลือด

ทำให้เป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าในอนาคตเจ้าไมโครพลาสติกนี้จะทำอันตรายต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร จะมีการเกาะตัวสะสมบริเวณเส้นเลือด หรือมีการอุดตันที่อวัยวะใดหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป

PTT-microplastic-dangerous-04-scaled

ร่วมด้วยช่วยกันลดขยะพลาสติก เริ่มต้นที่ตัวเรา

แม้ว่าเราจะไม่สามารถกำจัดไมโครพลาสติกได้ในทันที แต่คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นได้

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการงดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ฯลฯ ช่วยกันแยกขยะเพื่อให้ขยะพลาสติกนั้นถูกกำจัดอย่างถูกวิธี หรือนำมารีไซเคิลได้

มาเริ่มต้นก้าวเล็กๆ ในการลดปริมาณขยะพลาสติกไปด้วยกัน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของตัวคุณและคนที่คุณรัก

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo