Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เจาะลึกเทคโนโลยี mRNA มิติใหม่แห่งวงการแพทย์

26 ส.ค. 2021
SHARE

ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้จัก mRNA มาก่อน บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างสมัยเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เรื่องโครงสร้างโมเลกุลในร่างกายหรือสารพันธุกรรม จนกระทั่งมีการพัฒนาวัคซีน Moderna COVID-19 และ Pfizer-BioNTech ขึ้นมาใช้ป้องกันโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนไปหลายล้านคนได้สำเร็จ วัคซีนสองตัวนี้เองเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มาสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายด้วยการถอดรหัสจากเชื้อไวรัส

วัคซีน mRNA ที่ผลิตขึ้นมาใช้ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสองตัวนี้ยังถือเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในบรรดาวัคซีนชนิดอื่นอีกด้วยโดยมีประสิทธิภาพมากกว่า 80 – 90% เลยทีเดียว

เทคโนโลยีวัคซีนถอดรหัสพันธุกรรมนอกจากจะป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว ยังเป็นความหวังใหม่ในวงการแพทย์อีกด้วย เพราะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อนำไปต่อยอดการรักษาโรคอื่น ๆ และคาดการณ์ว่า mRNA จะกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต

เทคโนโลยีวัคซีน mRNA คืออะไร

ก่อนจะไปรู้จักเทคโนโลยีวัคซีน mRNA เรามาทำความรู้จัก mRNA กันก่อน ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมี DNA และ RNA อยู่ สิ่งนี้คือสารพันธุกรรมที่บรรจุข้อมูลพันธุกรรมเอาไว้ ตัว mRNA หรือชื่อเต็มว่า Messenger Ribonucleic Acid คือ​ RNA ประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่ส่งต่อหรือนำข้อมูลสารพันธุกรรมไปสร้างโปรตีน

เทคโนโลยีของวัคซีน mRNA (Messenger RNA) ใช้คุณสมบัติของการส่งต่อข้อมูลพันธุกรรมนี้มาทำเป็นวัคซีน โดยนำชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เช่น Spike Protein, Antigen หรือ Molecule (ในกรณีโควิด-19 จะเป็นสารที่สร้างปุ่มหนามของไวรัส Spike Protein) สังเคราะห์เป็นคำสั่ง mRNA หุ้มด้วยเซลล์เปลือกไขมันเพื่อเป็นตัวนำพาฉีดเข้าร่างกาย เมื่อเข้าสู่ร่างกายเซลล์ในร่างกายจะผลิตโปรตีนสารพันธุกรรมของไวรัสได้ทำให้ภูมิคุ้มกัน (Antigen) ของร่างกายรู้จักเชื้อไวรัส และกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต่อโรคนี้นั่นเอง

กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ การส่งแม่พิมพ์เชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างส่วนอาวุธของเชื้อไวรัสและให้ร่างกายเรียนรู้อาวุธของเชื้อไวรัส หลังจากนั้น ก็จะเกิดภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสในร่างกายได้เอง ซึ่ง mRNA จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโดยที่ไม่ต้องติดเชื้อก่อนและยังช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส จึงทำให้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงนั่นเอง

ข้อจำกัดของวัคซีน mRNA คือ เรื่องของการเก็บรักษาวัคซีนซึ่งต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ โดยปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่อุณหภูมิ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส เนื่องจากสารพันธุกรรม mRNA ค่อนข้างเปราะบางและไม่เสถียร หากเก็บรักษาไม่ดีจะทำให้สารพันธุกรรมนี้สลายไป

บทความ mRNA

เทคโนโลยีวัคซีน mRNA หรือ Messenger RNA คือ เทคโนโลยีใหม่ที่มีการผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จครั้งแรกในโลกกับโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรน่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ผลิตก็คือวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั่นเอง

ด้วยความที่เทคโนโลยี mRNA ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการวัคซีน จึงทำให้ในตอนแรกหลายคนต่างก็ไม่มั่นใจในเทคโนโลยีวัคซีนนี้ แต่อันที่จริง mRNA ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการคิดค้นและศึกษาพัฒนามาตั้งแต่ปี 1989 โดย Vical นักวิจัยในบริษัทด้านชีววิทยาเป็นผู้คิดค้น และได้รับการพัฒนาต่อจนประสบผลสำเร็จโดย Dr. Katalin Kariko ร่วมกับ Dr. Drew Weissman


“เทคโนโลยีใหม่ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่เป็นโอกาสที่ควรเปิดใจ”

 

มีความกังวลเกี่ยวกับวัคซีน mRNA มากมายเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ จึงทำให้คนมีความหวาดกลัวและสงสัยในเรื่องต่างๆ เช่น ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ผลข้างเคียงระยะยาวที่จะส่งผลต่อ DNA เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวเสมอไป

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของวัคซีนทุกประเภทโดยอาการจะขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล องค์กรอนามัยโลก WHO (World Health Organization) ได้มีการยืนยันแล้วว่า ผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดจากวัคซีน mRNA มีเปอร์เซ็นต์เป็นส่วนน้อยกว่าหากเทียบกับผลดีในการรักษาโรคให้หายจากกรณีเชื้อไวรัสโควิด-19 ความกังวลอีกประการหนึ่ง คือ mRNA จะเข้าไปเปลี่ยนพันธุกรรมของมนุษย์หรือไม่? ซึ่งธรรมชาติของสารพันธุ mRNA นั้นเมื่อทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้วจะถูกกำจัดออกจากร่างกายหรือสลายไปเอง หน้าที่ของวัคซีน mRNA มีเพียงแค่สร้างโปรตีนพันธุกรรมของไวรัสให้ร่างกายมีภูมิเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมในตัวมนุษย์ได้

เทคโนโลยีวัคซีนต่างๆ กับวัคซีน mRNA

วัคซีนคือสิ่งที่ผลิตมาเพื่อสอนให้ร่างกายรู้จักและมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัส เพื่อช่วยป้องกันโรค ป้องกันการป่วยหนักถึงชีวิตและลดการติดเชื้อ โดยวัคซีนเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีมานานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมาย เชื้อไวรัสที่วิวัฒน์ไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับโลกทำให้มีการพัฒนาวัคซีนอยู่เสมอเพื่อช่วยชีวิตผู้คนจากโรคร้ายต่างๆ ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีวัคซีนแต่ละประเภทกัน

เทคโนโลยีวัคซีนในปัจจุบัน ได้แก่

  • วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccines)

วัคซีนเชื้อตาย คือ วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ตายเหลือเพียงเปลือกร่างกาย ทำให้ไม่สามารถแบ่งจำนวนหรือเกิดการติดเชื้อได้อีก ข้อดีของวัคซีนเชื้อตาย คือ สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้นกันได้ดีในระดับหนึ่งและมีความแม่นยำในการจดจำไวรัส ผลิตง่ายและทำได้รวดเร็วที่สุด แต่ข้อเสียก็คือ มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะไม่ตายสนิทหรืออาจทำให้ติดเชื้ออย่างอื่นได้ง่ายแทน ตัวอย่างโรคที่ใช้วัคซีนเชื้อตายเช่น โรคโปลิโอ โรคหัด โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคพิษสุนัขบ้า และโรคโควิด-19 เป็นต้น

  • วัคซีนเชื้ออ่อนแรง (Live-attenuated vaccines)

วัคซีนเชื้ออ่อนแรง คือ การนำเอาเชื้อไวรัสชนิดนั้นๆ มาทำให้อ่อนแรงลงแต่ยังคงมีความสามารถในการติดเชื้อและแบ่งตัวได้อยู่ ข้อดีของวัคซีนนี้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียเพราะอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโอกาสที่เชื้อโรคจะสามารถแบ่งตัวและทำให้ติดเชื้อได้ ตัวอย่างโรคที่ใช้วัคซีนเชื้ออ่อนแรงเช่น โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด เป็นต้น

  • วัคซีนหน่วยย่อย (Protein subunit vaccines)

วัคซีนหน่วยย่อย คือ วัคซีนที่ใช้ส่วนเฉพาะของเชื้อโรค เช่น โปรตีน น้ำตาล หรือปลอกหุ้มเชื้อโรค (Capsid) ฉีดเข้าไปในร่างกายจึงทำให้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สูง โดยภูมิคุ้มกันจะมุ่งเป้าไปที่การทำลายส่วนสำคัญของเชื้อโรค ข้อดีของวัคซีนนี้ คือ เป็นวัคซีนที่ฉีดได้แทบจะทุกคนรวมถึงผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอด้วย เนื่องจากวัคซีนนี้ใช้ส่วนของเชื้อโรคแค่บางส่วนจึงไม่เสี่ยงติดเชื้อ แต่ข้อเสียก็คือ วัคซีนเหล่านี้ต้องฉีดซ้ำหลายครั้งเพื่อกระตุ้นภูมิอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างโรคที่ใช้วัคซีนหน่วยย่อยเช่น ไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

  • วัคซีนท็อกซอยด์ (Toxoid vaccines)

วัคซีนท็อกซอยด์ คือ วัคซีนที่ผลิตด้วยการนำพิษของเชื้อโรคหรือแบคทีเรียมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิได้มาฉีดเข้าร่างกาย ร่างกายจะมุ่งตอบสนองต่อพิษของโรค ข้อดี คือ เทคโนโลยีวัคซีนท็อกซอยด์สามารถนำมาผลิตวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยักได้ แต่ข้อเสียของวัคซีนประเภทนี้ คือ จำเป็นต้องฉีดซ้ำบ่อยเช่นกัน

  • วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines)

วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ คือ วัคซีนที่มีการนำไวรัสของโรคมาทำให้อ่อนแรง จากนั้นตัดต่อสารพันธุกรรมของไวรัสไปใส่ใน Viral vector ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อฉีดเข้าร่างกายจึงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ข้อดีของเทคโนโลยีวัคซีนนี้ คือ ได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย เนื่องจากร่างกายเรียนรู้การติดเชื้อครบขั้นตอนและไม่ทำให้ป่วยและยังจัดเก็บง่าย ข้อเสียก็คือสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันกับตัว Viral vector อาจกำจัดวัคซีนทิ้งก่อนเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่เป็นโรคอุบัติใหม่ขั้นตอนหา Viral vector ที่สามารถเข้ากับไวรัสที่ต้องการป้องกันอาจทำได้ล่าช้าและมีข้อจำกัดในการผลิตปริมาณมากโดยโรคส่วนใหญ่ที่ใช่วัคซีนพาหะจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โรคอีโบล่า และไวรัสโควิด-19

  • วัคซีน mRNA (Messenger RNA vaccines)

วัคซีน mRNA คือ วัคซีนที่นำส่วน mRNA ของไวรัสหุ้มด้วยเซลล์ไขมันฉีดเข้าไปในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสได้โดยที่ร่างกายไม่ต้องติดเชื้อก่อน ข้อดี คือ เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ทำให้ร่างกายเสี่ยงติดเชื้อ พัฒนาได้ไว และยังสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วหลังถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสได้ ข้อเสียของวัคซีน mRNA คือ ความไม่เสถียรของโปรตีน mRNA อาจทำให้เสื่อมประสิทธิภาพถ้าขาดการเก็บรักษาที่ดีและเป็นเทคโนโลยีใหม่ทำให้ต้องสร้างความเชื่อมั่นจากผู้คนเป็นวัคซีนที่นำมาใช้กับโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรก

  • วัคซีน DNA Plasmid (DNA plasmid vaccines)

วัคซีน DNA คือ วัคซีนที่ใช้สารพันธุกรรมเช่นเดียวกันกับ mRNA แต่วัคซีนตัวนี้จะใช้ส่วนของสารพันธุกรรมหลัก​ DNA ข้อดีก็คือ สามารถผลิตได้ง่าย แม่นยำ แต่ข้อเสียคือยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก วัคซีนนี้อาจทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ไม่สูงเท่าวัคซีนอื่นๆ นอกจากนี้ ขั้นตอนการฉีดยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าการฉีดวัคซีนทั่วไปเนื่องจากต้องใช้ไฟฟ้าเป็นตัวนำพาเข้าสู่เซลล์ร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีการใช้กับโรคไหนอย่างเป็นทางการและอยู่ในขั้นตอนศึกษาและวิจัยอยู่

วัคซีน mRNA ดีกว่าเทคโนโลยีวัคซีนอื่นอย่างไร

บทความ mRNA

ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ดีกว่าสามารถวัดได้จากความปลอดภัยหลังจากฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส รวมถึงประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สูงกว่า

ข้อดีของวัคซีน mRNA คือ การทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสได้โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญกับไวรัสจริงและเกิดการติดเชื้อก่อน ประกอบกับมีการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้แม่นยำสูงเนื่องจากถอดรหัสหน้าตาของไวรัสจากพันธุกรรมโดยตรง นอกจากนี้ วัคซีน mRNA ยังเป็นวัคซีนที่สามารถผลิตได้ง่ายและรวดเร็วหลังจากถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสชนิดนั้นได้ ในกรณีที่เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้นก็ยังสามารถตอบสนองต่อเชื้อไวรัสได้

วัคซีน mRNA จะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตอย่างไร?

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เทคโนโลยีวัคซีน mRNA ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ชี้ให้เห็นว่า นี่อาจเป็นโอกาสใหม่ในวงการแพทย์และเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยชีวิตคนได้อีกมากมายหากสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้รักษาโรคอื่นๆ นอกจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งเบื้องต้นได้มีนักวิจัยหลายทีมและบริษัทยาอีกหลายแห่งที่กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีนนี้อย่างต่อเนื่อง

จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี mRNA นั้นได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการส่งยาเข้าไปรักษาส่วนต่างๆ ภายในร่างกายถึงระดับเซลล์ แต่ในปี 2020 กลับพบว่าเทคโนโลยีนี้เหมาะที่จะนำมาใช้ผลิตวัคซีนด้วยเช่นกัน

เทคโนโลยี mRNA ในการรักษาโรคอุบัติใหม่
หลังจากการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี mRNA เพื่อใช้เป็นวัคซีนได้สำเร็จแล้ว ศักยภาพของเทคโนโลยี mRNA ยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคระบาดใหม่ที่อาจอุบัติขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย โดยสามารถใช้การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนี้เพื่อนำมาผลิตวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีรหัสพันธุกรรมในวัคซีนจะช่วยรักษาโรคทางพันธุกรรมที่หายยากได้
มีการศึกษาเรื่องการใช้เทคโนโลยี mRNA เพื่อนำมาใช้ทำร่วมกับระบบ CRISPR ในร่างกาย ความพิเศษของ 2 สิ่งนี้คือทั้งสองเป็นระบบที่มีอยู่แล้วภายในร่างกายและสามารถนำมาใช้เป็นเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคได้ถึงระดับเซลล์ 

CRISPR/cas9 คือ  คือระบบภูมิคุ้มกันแบคทีเรียในร่างกายที่มีหน้าที่กำจัด DNA แปลกปลอมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยการทำงานของ CRISPR จะเข้าไปทำให้ลำดับเบสของ DNA กลายเป็นปกติ  การศึกษาเรื่องคริสเปอร์ (CRISPR) นั้นมีมานานแล้วโดยจุดประสงค์ของการศึกษาสิ่งนี้ คือ การดัดแปลงสาย DNA ให้มีลำดับเบสที่ถูกต้องในระดับเซลล์ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม ลบ หรือเปลี่ยนแปลง ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ

นักวิจัยได้ค้นพบแล้วนำ mRNA มาเป็นตัวส่งมอบคำสั่งเพื่อแก้ไขยีน CRISPR ให้สามารถช่วยรักษาและแก้ไขในระดับเซลล์ ซึ่งหากทำได้สำเร็จเทคโนโลยี mRNA จะเข้ามาช่วยรักษาโรคทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีโอกาสหายยากหรือไม่มีโอกาสหายได้ให้เป็นจริง

โรคทางพันธุกรรมต่างๆ ที่อาจรักษาได้ด้วยเทคโนโลยี mRNA และ CRISPR เช่น 

  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell disease)
  • โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
  • ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome)
  • โรคตาบอดสี (Color Blindness)
  • โรคความผิดปกติของยีน (Cystic Fibrosis)
  • โรคประสาทชักกระตุก (Huntington’s Disease)
  • โรคถุงน้ำในไต (Polycystic Kidney Disease)
  • โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)

เทคโนโลยี mRNA ในการใช้กับโรคที่รักษาไม่หาย

ในวารสารการแพทย์ New England ฉบับเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมามีการกล่าวถึงงานวิจัยที่ทดลองใช้เทคโนโลยี mRNA เข้ารหัสและ CRISPR ในการรักษาโรคพันธุกรรมเพื่อให้ยากับมนุษย์ เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ได้ทั้งกับการส่งคำสั่งแก้ไขระดับเซลล์และส่งมอบยาในระดับเซลล์ได้  ซึ่งหมายความว่าสามารถนำไปใช้รักษาถึงต้นตอของสาเหตุโรคได้นั่นเอง

เคสตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ทีมวิจัยที่นำโดย Dr.Julian Gillmore ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอะไมลอยโดซิส จากโรงพยาบาล Royal Free แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ทดลองใช้โปรแกรม mRNA ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเซลล์ในการการผลิตโปรตีนพิษซึ่งไปสะสมที่ตับ โดยใช้ mRNA ส่งคำสั่งการแก้ไขยีนให้ลดการผลิตโปรตีนที่เป็นพิษหลังทดลองฉีดยา ทั้งนี้ 3 ใน 6 ของผู้ทดลองพบว่า ร่างกายตอบสนองต่อคำสั่งได้ดีและผลิตโปรตีนพิษลดลง แม้การทดลองระยะแรกได้ผลดี แต่ยังคงต้องติดตามอาการในระยะยาวต่อไป

การศึกษาเทคโนโลยี mRNA ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นทำให้เรามองเห็นอนาคตในวงการแพทย์ว่า อาจนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้รักษาโรคทางกรรมพันธุ์อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากยีนอย่างโรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเพื่อนำไปใช้กับโรคที่รักษายากอย่างโรคไขกระดูก ระบบประสาท และกล้ามเนื้ออีกด้วย ซึ่งสามารถลดขั้นตอนการรักษาที่เจ็บปวดลงได้

บทความ mRNA

สรุป

mRNA เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นได้ ด้วยคุณสมบัติของ mRNA ประกอบกับเทคโนโลยีในการสร้างวัคซีนจึงทำให้วัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนอื่นและประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีการรักษาที่แน่นอน  ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้เป็นการสร้างความหวังในวงการแพทย์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนต่อเทคโนโลยี mRNA     

นอกจากความสำเร็จในการผลิตวัคซีนแล้ว เทคโนโลยี mRNA ยังสามารถนำมาใช้ได้อีกหลายทาง โดยเฉพาะในทางการแพทย์ที่นำ mRNA มาใช้รักษาโรคในระดับเซลล์ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์อีกหลายพันล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้การเดินทางของเทคโนโลยี mRNA ยังสามารถต่อยอดไปได้อีกไกลนำไปสู่การรักษาโรคหลากหลายแนวทางมากขึ้น โดยถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ก้าวต่อไปของ mRNA จะเป็นอย่างไรเรามาคอยติดตามการพัฒนาของเทคโนโลยีนี้ไปพร้อมกัน

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo