ปัจจุบัน ผู้นำธุรกิจและรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งมั่นวางแผนกำหนดนโยบาย Net Zero ให้เป็นเป้าหมายระดับชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน นักลงทุนและผู้บริโภคต่างก็ตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าว และเริ่มให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบรรดาธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่ต้องการตอบสนองความต้องการของผู้คนในทศวรรษต่อไป จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เป็น Net Zero เพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศด้วยแผนการที่มีความชัดเจนและน่าเชื่อถือในทางปฏิบัติ
บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักว่า Net Zero คืออะไร? และมีธุรกิจใดบ้างที่ควรปรับตัว?
Net Zero คืออะไร?
Net Zero คือ การสร้างสมดุลให้สภาพภูมิอากาศของโลกด้วยการ “จำกัด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับการ “กำจัด” ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศไปแล้ว สมมติว่าโลกของเราเป็นตาชั่งและทุกครั้งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้ตาชั่งลาดเอียงมากขึ้น ดังนั้น หากเราต้องการให้ตาชั่งกลับคืนสู่สมดุล จึงต้องหาวิธีลดและป้องกันไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับการหาวิธีบรรเทาความเสียหายในอดีตจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ Net Zero ไม่ใช่การห้ามปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษต่างๆ แบบ 100% ธุรกิจบางอย่างที่จำเป็นยังคงปล่อยมลพิษบางส่วนได้ ตราบใดที่บริษัทสามารถชดเชยด้วยกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ เช่น การปลูกป่า หรือเทคโนโลยีการดักจับมลพิษในอากาศโดยตรง เพราะยิ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากเท่าไร ก็ยิ่งต้องกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้มากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับจากนี้จะต้องมีปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ Net Zero อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องลด-ละ-เลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เพื่อเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เร็วที่สุด
ธุรกิจใดบ้างควรปรับตัว?
ในปี 2018 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เตือนว่า ภาวะโลกร้อนจะต้องมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีอยู่ในระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อจำกัดผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การจะบรรลุเป้าหมายนั้น ธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และลดระดับจนเป็นศูนย์ภายในปี 2593
ต่อไปนี้ คือ กลุ่มธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูงที่จำเป็นต้องปรับตัวและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ไม่ไกลเกินจริง
ธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า
เงินลงทุนกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกในช่วงสามทศวรรษข้างหน้าจะย้ายไปสู่ภาคการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสสำหรับเอกชนที่จะมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจโครงข่ายไฟฟ้า ปัจจุบัน บางรัฐในสหรัฐอเมริกามีข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero รวมทั้งนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับการผลิตไฟฟ้าซึ่งได้รับการรับรองมากกว่า 60% ของรัฐในสหรัฐอเมริกา
ธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก
บริษัทผู้ผลิตเหล็กในยุโรปได้เริ่มปรับกระบวนการผลิตเหล็กให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเตาหลอมไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนและพลังงานหมุนเวียน แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่สามารถกำจัดการปล่อยคาร์บอนได้ดี ด้วยเหตุนี้ นอกจากการหาวิธีเพิ่มเงินลงทุน ยังจำเป็นต้องกำหนดค่าห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีใช้ไฮโดรเจนและพลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
ธุรกิจปูนซีเมนต์
กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์มีความเข้มข้นของคาร์บอนสูงโดยคิดเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ปัจจุบัน จึงมีการพัฒนากระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ด้วยการดักจับและจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เพื่อไม่ให้ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น บริษัท Heidelberg Cement กำลังสร้างโรงงานแบบ CCS ในเมือง Brevik ประเทศนอร์เวย์ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 โดยจะช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการผลิตปูนซีเมนต์ในโรงงานได้มากถึง 50%
ธุรกิจยานพาหนะและการขนส่ง
การปล่อยมลพิษในภาคการขนส่งคิดเป็น 16% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของภาคพลังงาน ซึ่งเกิดจากการใช้ยานพาหนะสันดาปภายในที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มสนใจและพร้อมเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจยานยนต์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต เช่น
- เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 Ford ประกาศว่าจะหยุดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในทุกรูปแบบในสหราชอาณาจักรและยุโรปภายในปี 2573
- General Motors ประกาศแผนการที่จะจำหน่ายรถยนต์และรถบรรทุกที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2578
- ส่วน Volvo ประกาศว่าจะเปลี่ยนรถยนต์ทุกคันเป็นระบบไฟฟ้าภายในปี 2573
- ในขณะเดียวกัน Volkswagen ก็วางแผนที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริดให้ได้ 1 ล้านคันภายในปีนี้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่านับตั้งแต่ปี 2562
สำหรับธุรกิจการขนส่งทางไกล เช่น รถบรรทุกและการบินซึ่งไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนได้ อาจต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อเป็นหนทางไปสู่เป้าหมายของการกำจัดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้ในอนาคต
ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ
จากข้อมูลของ IEA พบว่า 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าซจากพื้นดินและขนส่งไปยังผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซจึงจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน เพื่อหาวิธีลดคาร์บอนในการผลิตและขนส่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้มากที่สุด เช่น การพัฒนาสารละลายคาร์บอนต่ำ การดักจับและจัดเก็บคาร์บอน (CCS) การใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันและก๊าซในอนาคตด้วย
- บริษัท BP วางแผนที่จะลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 40% ภายในปี 2573 และจะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำไปพร้อมกัน คาดว่าผลจากความพยายามเหล่านี้จะช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ BP ลดลงถึง 30%
สรุป
แม้ว่าธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า ธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจยานพาหนะและการขนส่ง ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ จะถูกจับตามองว่าเป็นภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และต้องการพันธมิตรที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยสนับสนุนให้พวกเขาเริ่มต้นวางแผนเส้นทางสู่การกำจัดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จ
เนื่องจากในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ เริ่มเข้าใจแล้วว่าการลดคาร์บอนในธุรกิจของตนเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าที่นักลงทุนและผู้บริโภคคาดหวัง ด้วยเหตุนี้ Net Zero จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจแตกต่างเหนือคู่แข่ง มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวย่อมมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและผู้บริโภค
เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกทุกวันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่มีเวลาให้รอคอยอีกต่อไปแล้ว
