Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ขยะทะเลไทย สร้างโอกาสในวิกฤตสิ่งแวดล้อม

25 ก.ย. 2019
SHARE

ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย และหนึ่งในปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังผลักดันในปัจจุบันคือปัญหาของขยะทะเลไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่หมักหมมมานานแสนนาน และไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็เข้าขั้นวิกฤต

บทความนี้จะมาหาคำตอบว่าภายใต้แพขยะอันหนาแน่นนั้นซ่อนอะไรไว้ และประเทศไทยต้องทำอย่างไรจึงสามารถแปรเปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในท้ายที่สุด

ขยะทะเล สิ่งที่อยู่เหนือวาระแห่งชาติ 

พื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกเราคือผืนน้ำ ซึ่งแต่เดิมเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ส่งผลให้เกิดความสมดุลของสรรพชีวิต 

ทว่าปัจจุบันสมดุลดังกล่าวเริ่มพังทลายจากการมาของมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นเป็นอย่างแรกคือมันทำลายความงดงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเศษขยะทั้งหลาย ก้นบุหรี่ตามชายหาด หรือแม้แต่พลาสติกในแหล่งน้ำ ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่ที่ตามเก็บกันอย่างไรก็ไม่หมด 

ขยะทะเลทั้งหลายรวมตัวกันมากมายจนกลายเป็นแพขนาดใหญ่ ซึ่งแพขยะที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า

ขยะทะเล

และเป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ว่าประเทศเล็กๆ อย่างไทย สร้างขยะลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และขยะกว่า 80% มาจากบนบก ผู้คนทิ้งขยะลงแม่น้ำ และมันก็ถูกพัดพาออกไปในทะเล และไม่ว่าจะสร้างจิตสำนึกอย่างไรปริมาณขยะนี้ก็ยังไม่ลดลง

นี่เป็นสิ่งที่อยู่เหนือวาระแห่งชาติ

ผลกระทบมหาศาลภายใต้ขยะในทะเล

หลายคนเห็นกองขยะ เห็นแพขยะ รวมถึงเศษพลาสติกต่างๆ แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่านั่นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมาเท่านั้น 

สัตว์น้ำหลายตัวเดือดร้อนจากขยะในรูปแบบแห เชือก อวน ที่ติดเป็นบ่วงรัดจนตาย บางตัวถูกหลอดพลาสติกธรรมดาเสียบเข้าจมูก แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือพฤติกรรมการกินของเหล่าสัตว์น้ำ คนอาจจะแยกขยะกับพลาสติกได้ แต่สัตว์นั้นไม่ใช่ โดยเฉพาะสัตว์ในทะเลที่เข้าใจว่าขยะบางส่วนเป็นอาหารของมันจริงๆ ตั้งแต่วาฬตัวมหึมาไปจนถึงแพลงตอนตัวจิ๋ว ก็มีการกินไมโครพลาสติกเข้าไป

กฏของปลาใหญ่กินปลาเล็กในธรรมชาติยังคงเป็นนิรันดร์ เมื่อปลากินแพลงตอน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก มันก็ยิ่งเพิ่ม สุดท้ายสิ่งที่มนุษย์ทิ้งก็หวนกลับเข้ามาหาตัวเราเองในรูปแบบของอาหาร ที่หลายคนไม่รู้ตัวเลยว่ามันมีตัวตนอยู่

โอกาสในวิกฤต เพื่อพิชิตปัญหา

ถ้าถามว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้สายเกินไปหรือไม่ คงต้องยอมรับว่า ใช่ สายไปมาก แต่ทะเลไทยไม่มีเวลาให้หมดหวัง 

ขยะทะเล

ด้วยการตายของสัตว์น้ำที่มากขึ้น ไปจนถึงสัตว์สงวนอย่างพะยูนที่เสียชีวิตจากขยะทะเล เป็นแรงกระเพื่อมให้กับภาคประชาชนเข้ามาสนใจในปัญหานี้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับภาครัฐและเอกชนบางส่วนที่มีการทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับขยะทะเลและพลาสติกอยู่แล้ว ปี 2562 จึงเป็นปีที่หลายสิ่งหลายอย่างก่อร่างสร้างตัวขึ้นจนเห็นภาพชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็น 

  • ปฏิญญากรุงเทพฯ ที่ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
  • มาเรียมโปรเจ็ค สร้างโรงพยาบาลสัตว์และศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์น้ำในประเทศไทยเพิ่มเติม 
  • โมเดลจัดการขยะ ที่หลายคนอาจไม่สังเกต ว่าประเทศไทยเริ่มการลดใช้พลาสติกบางประเภทลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ฝาห่วงขวดน้ำ พลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่ม โดยมีแผนจะแบนถุงพลาสติกในช่วงปี 2564-2565 

ไทยยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากที่แม้จะมีการทำงานอย่างขะมักเขม้นแต่ไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์เท่าที่ควรแน่นอนว่าทุกโครงการมีทั้งแผนการระยะสั้นและระยะยาวในการจัดการขยะทะเล แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อทำให้โครงการเหล่านั้นประสบความสำเร็จ

นอกเหนือจากการทำงานแล้วสิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาขยะทะเล

ปัญหาขยะคือปัญหาระดับสากลที่ต้องได้รับการแก้ไขจากคนทั้งโลก ดังนั้นเราจึงเห็นความพยายามจากทุกภาคส่วนในการหาไอเดีย รวมถึงเทคโนโลยีจากหลายฝ่ายในการแก้ปัญหา บางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ บางอย่างถูกใช้อย่างแพร่หลาย มาดูกันครับว่ามีเทคโนโลยีใดบ้างที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลได้

  • Ocean Cleanup : การสร้างแนวตาข่ายขนาดใหญ่เพื่อทำการรวบรวมขยะในทะเล ที่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
  • Seabin : ทุ่นลอยแบบเดี่ยวรูปร่างคล้ายถังขยะ ที่คอยเก็บขยะชิ้นเล็กในแม่น้ำลำคลอง
  • ตาข่ายดักขยะ : การนำตาข่ายดักขยะเข้าคลุมบริเวณปลายท่อน้ำ เพื่อดักขยะก่อนจะออกไปสู่ทะเล นวัตกรรมนี้มีใช้แล้วในไทย
  • เรือดักขยะ : Mr.trash wheel เรือขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยด้านหน้าจะเป็นปากตะแกรงสำหรับดักขยะ

นอกจากเทคโนโลยีการจัดการขยะภายในท้องทะเลแล้ว เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องยังรวมไปถึงการจัดการขยะในต้นทางด้วย เช่น 

  • การรีไซเคิลถุงพลาสติกให้กลับเป็นน้ำมัน 
  • พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) หรือ พลาสติกที่สามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และสามารถดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ

แน่นอนว่าต่อให้เทคโนโลยีก้าวล้ำแค่ไหน แต่ก็คงทำงานไม่ได้เต็มที่หากภาคประชาชนคนธรรมดาไม่ได้ใส่ใจ การจะพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้ต้องอาศัยแรงของทุกคนช่วยกัน อย่างน้อยถ้าหากลดขยะจากต้นทางได้บ้าง การจัดการขยะปลายทางก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น

ขึ้นอยู่กับทุกๆ คนแล้วล่ะครับว่าจะทำให้กระแส หรือเทรนด์ในตอนนี้นั้นเป็น “โอกาส” อันดีของประเทศในการจัดการปัญหาขยะเรื้อรังนี้ หรือจะปล่อยให้มันเป็นไฟไหม้ฟาง จมหายไปท่ามกลางปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

 

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo