ทำไมเราจึงต้องยกเรื่องปัญหาขยะขึ้นมามากมาย ? เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและสะสมมาช้านาน และไม่ใช่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนเพียงกลุ่มเดียวที่จะสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือของมนุษยชาติทุกคน ตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาขยะคือ พลาสติก ที่ผู้ริเริ่มต้องการใช้มันเพื่อเป็นตัวช่วยสิ่งแวดล้อม แต่มนุษย์กลับใช้มันในการสร้างขยะขึ้นมาเพิ่มจนบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อมแทน และแม้ว่าจะมีคนกลุ่มใหญ่คอยช่วยเหลือด้านนี้ แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
ปัญหานี้จะคงอยู่ต่อไปหากโลกยังดำเนินไปแบบนี้ แต่ในปี 2020 เองก็ยังมีนวัตกรรม ที่หลายฝ่ายยกมาให้เป็นความหวังในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้ ทั้งของใหม่และการต่อยอดจากของเดิม มาดูกันเลยว่าตอนนี้มีนวัตกรรมใดบ้างที่น่าสนใจ
นวัตกรรมที่น่าจับตา
พลาสติกย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง
แม้ว่าไบโอพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้แสดงศักยภาพของมันอย่างเต็มที่ และดูเหมือนเป็นพลาสติกเทียมที่พังง่ายขึ้นเสียมากกว่า แต่แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่หยุดพัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่าย และไม่เป็นมลพิษต่อโลก
ในปี 2562 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้ทำพลาสติกขึ้นจากเกล็ดปลา ที่สามารถย่อยสลายได้ใน 6 สัปดาห์ และยังถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบันในชื่อของ Marina Tex
นอกเหนือจากนั้นเราน่าจะเห็นข่าวการใช้ถุงพลาสติกจากมันสำปะหลังภายในประเทศไทย ที่มีทีมวิจัยหลายทีมศึกษาค้นคว้า แต่แม้จะมีการโปรโมทแต่ก็ยังเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ได้เห็นการผลักดันสู่ท้องตลาดได้ไกลเท่าที่ควร
คุณสามารถอ่านแง่มุมอื่นๆ ของ ไบโอพลาสติกได้ที่บทความ ไบโอพลาสติก ตัวช่วยใหม่หรือปัญหาใหม่ในสิ่งแวดล้อม เพื่อความหลากหลายมากขึ้น
หนอนกินพลาสติก
ช่วงปี 2560 มีการตรวจพบหนอนของผีเสื้อกลางคืนพันธุ์หนึ่งที่สามารถกัดกินถุงพลาสติกเพื่อหลบหนีออกมาจากการถูกจับ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทราบเรื่องได้ทำการทดลองเพิ่มเติม จนพบว่าหนอน 100 ตัว สามารถย่อยพลาสติกได้ถึง 92 มิลลิกรัม
จำนวนดังกล่าวอาจดูเหมือนน้อย แต่อย่าลืมว่าการย่อยสลายแบบนี้เป็นการย่อยแบบธรรมชาติล้วนๆ กับสิ่งที่อาจยืนยงคงอยู่ได้เป็นร้อยปีอย่างพลาสติก ทำให้มีแนวคิดการเลี้ยงเจ้าหนอนตัวนี้เพื่อกำจัดพลาสติกขนาดเล็กบางประเภท และต่อยอดไปจนถึงการทดลองจำลองเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยของหนอน เพื่อนำมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์การทำลายพลาสติกในอนาคต
แบคทีเรียกำจัดพลาสติก
หนอนผ่านไปแล้ว ก็มาถึงคิวของแบคทีเรียกำจัดพลาสติก โดยนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการย่อยสลายของแบคทีเรีย โดยพบว่ามีแบคทีเรียหลายชนิดที่สามารถย่อยสลายพลาสติกได้ หนึ่งในนั้นคือแบคทีเรีย Ideonella Sakaiensis ที่สามารถย่อยพลาสติกประเภท PET ได้
โดยผลที่ได้จากการย่อยสลายนั้นไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความสามารถในการย่อยได้ยังมีจำกัดมาก การต่อยอดต่อมาคือการทดลองว่าเราจะสามารถเลี้ยงแบคทีเรียที่โตไวชนิดอื่นๆ แล้วทำการถ่ายเอนไซม์ของ Ideonella Sakaiensis เข้าไปให้แบคทีเรียประเภทนั้นได้หรือไม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยพลาสติกให้มากขึ้นไปอีก
แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวก็ยังต้องอยู่ในขั้นตอนทดสอบและการทำงานในระบบปิด เพราะหากประสบความสำเร็จในการเลี้ยงแบคทีเรียทีกำจัดพลาสติกความเร็วสูง แต่มีการหลุดรอดออกมาข้างนอกโดยไม่ได้ตั้งใจ คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก
รีไซเคิลพลาสติกด้วยการผลิตเป็นน้ำมัน
ถ้าพลาสติกเกิดจากน้ำมัน ทำไมเราจะทำให้มันกลับเป็นน้ำมันไม่ได้ แน่นอนว่ามีคนคิดแบบนี้ไม่น้อย และนั่นทำให้เกิดเรื่องราวของการรีไซเคิลพลาสติกให้มันกลับกลายเป็นน้ำมันทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งการวิจัยและพัฒนาน้ำมันจากพลาสติกในอังกฤษ หรือโรงงานผลิตน้ำมันจากบ่อขยะในประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือกรรมวิธีการทำนั้นมีความเข้มงวดสูง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดสารพิษจากการรีไซเคิล อีกทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต้องเพิ่มขั้นตอนการทำความสะอาดมีการใช้น้ำจำนวนมากที่ยังเป็นข้อจำกัด ดังนั้นปัจจุบันจึงต้องมีการศึกษาอีกพอสมควรจึงจะทำการรีไซเคิลได้ในระยะยาว
อุปสรรคของการจัดการพลาสติกในไทย
การแยกขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ในส่วนนี้อาจต้องแยกออกเป็นสองมุม เชื่อว่าหลายต่อหลายคนที่เคยคิดแยกขยะต้องผิดหวังเมื่อพบว่ารถขยะที่เก็บขยะของตัวเองนั้นไม่ได้มีการใส่ใจการแยกขยะของเราเลย ทุกอย่างโดนจับรวมในรถขยะเหมือนเดิม เว้นแต่ขยะพลาสติกมีราคาบางส่วนเท่านั้นที่ถูกแยกไว้ในถุงข้างรถ
นอกจากประชาชนจะเสียน้ำใจในส่วนนี้แล้ว ยังทำให้เห็นเลยว่าในเชิงการปฏิบัติจริงในพื้นที่ การแยกขยะเพื่อจัดการขยะพลาสติก ‘แทบเป็นไปไม่ได้’ เลยนอกจากการกำจัดที่ต้นตอเท่านั้น ดังนั้นควรมีการติดตามในส่วนนี้ เพื่อให้การทำงานของทุกฝ่ายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการจัดการแบบหัวไปทางหางไปทาง
ภาครัฐที่ไม่มีนโยบายดำเนินการชัดเจน
นโยบายจากทางภาครัฐมักมีการเปลี่ยนแปลงและบางส่วนทำอะไรขัดแย้งกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดการขยะพลาสติกในปัจจุบันที่พยายามให้ประชาชนลดปริมาณขยะที่ทิ้ง รวมถึงแยกขยะเพื่อทิ้งหรือขายเป็นรายได้ แต่ในทางกลับกันกลับมีการนำเข้าขยะจากต่างประเทศหลายชนิด ทำให้ขยะที่ถูกแยก ถูกคัด ราคาตก จนทำให้โรงงานขยะไปจนถึงซาเล้งได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนหลายคนคิดว่า “ในเมื่อไม่ได้ประโยชน์ชัดเจน แล้วจะทำไปทำไม”
แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะเป็นเรื่องดี ตั้งแต่การจัดการปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองจนถึงทะเล ที่เน้นหนักไปในด้านขยะพลาสติก แต่หากไม่มีการติดตามประเมินผลและใส่ใจนโยบายที่ออกมา ท้ายสุดแล้วก็จะกลายเป็นเพียงหยดหมึกในหน้ากระดาษที่ไม่ส่งผลใดๆ ให้เกิดผลดีในระยะยาวเลย
ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม
ปัญหาแรกแก้ได้ ปัญหาที่สองก็ตามมาติดๆ โดยเฉพาะเรื่องขยะพลาสติก ที่แม้ว่าจะมีกระแสมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว แต่สังเกตได้ชัดเลยว่าเสียงต่อต้านจากภาคประชาชน ทำให้ฝ่ายรัฐต้องดำเนินนโยบายกลับมาตามใจคนอีกครั้ง แทนที่จะมีการคิดหาวิธีการรองรับเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมเสียแต่แรก
เตรียมรับมือถุงพลาสติกอาจกลับมา
ถุงพลาสติกอย่างหนามีโอกาสจะกลับมาอีกครั้งตามข่าวนโยบายรัฐบาลในวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าอาศัยพื้นฐานนิสัยเดิมๆ ของคนในสังคมแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการกลับมานี้จะก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหนในอนาคต
นั่นจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะรัฐ เอกชน ประชาชน ในวันที่ยังมีเวลาที่ต้องคิด วางแผน ให้ความร่วมมือในการใช้อย่างถูกวิธี ไปจนถึงการปลูกฝังจิตสำนึก ให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อการกำจัดเจ้าถุงพลาสติกและขยะพลาสติกอื่นๆ นี้ให้ถูกต้องตามกรรมวิธีที่ควร ทั้งการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่ให้แก่ประชาชนทุกคน เพื่อไม่ให้ประเทศของเรา โลกของเรา ต้องจมอยู่ในกองถุงพลาสติกที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอมันจมอยู่ในดินทั่วบริเวณอย่างทุกๆ วันนี้
เพราะสุดท้ายแล้วในสังคมหมู่มากที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลาย แค่คำว่า ‘จิตสำนึก’ นั้นอาจไม่ได้ช่วยโอบอุ้มโลกใบนี้ไว้ได้ แต่เป็นการทำความเข้าใจและปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเองในฐานะพลเมืองของโลกต่างหาก ที่ช่วยให้โลกของเราสามารถคงอยู่ต่อไปได้
