ปฏิเสธไม่ได้ว่า Covid-19 เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนทางธรรมชาติและสังคมที่เห็นได้ชัดมากบนโลกของเรา หลากหลายคอมเมนต์ในอินเทอร์เน็ตบอกว่า Covid – 19 ทำให้สัตว์ป่าออกมาเยอะขึ้นแทบทุกแห่งทั้งจากเขตอุทยานและป่าใกล้ชุมชนเพราะมนุษย์ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ลดน้อยลง โลกกำลังเยียวยาตัวเอง แต่กลับไม่ได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการรักษาและการเอาตัวรอดของมนุษย์ นั่นคือ ‘การกำจัดขยะ’ ที่จะกลายเป็นปัญหาระยะยาวของทุกประเทศบนโลกในเวลาอันใกล้นี้
ขยะติดเชื้อ ความอันตรายที่อยู่รอบตัว
Covid-19 ได้เพิ่มขยะอันตรายขึ้นมาจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่พุ่งขึ้นสูงตามปริมาณของผู้ที่ป่วยและผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารบ้านเรือน ขยะชนิดนี้มีตั้งแต่อุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ผ้าเช็ดปาก ทิชชู่ ไปจนถึงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ
ยกตัวอย่างเช่นหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นราว 1.5 ถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งหลายคนทิ้งหน้ากากอนามัยรวมกับขยะทั่วไป ทำให้พนักงานขนขยะได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ยังไม่นับว่าศักยภาพของศูนย์กำจัดและคัดแยกขยะในพื้นที่ต่างๆ ไม่พอเพียงต่อปริมาณขยะที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ท้ายที่สุดแล้วขยะปริมาณมหาศาลจะกระจุกตัว จนกลายเป็นปัญหาที่เราแก้ไขไม่ได้ในท้ายที่สุด
แน่นอนว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้ด้วยวิธีการดังนี้
- คัดแยกขยะติดเชื้อ หน้ากากอนามัย ใส่ถุงให้โดดเด่นจากขยะประเภทอื่นหรือมีการเขียนกำกับก่อนทิ้งลงถังขยะเพื่อนำไปสู่การกำจัดขยะต่อไป
- หากไม่มีถุงพลาสติก สามารถใช้ขวดพลาสติกหรือหีบห่ออื่นๆ โดยระบุว่าเป็นขยะติดเชื้อ เพื่อให้คนเก็บขยะสามารถรับรู้ได้
- สิ่งที่ดีที่สุดคือมีการแยกขยะตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะใบมีดโกน (เก็บใส่ขวด) ทิชชู่ใช้แล้ว และหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ผ้าอนามัยใช้แล้ว โดยรวบรวมเป็นถังขยะแยกหรือถุงขยะแยก ก่อนนำไปทิ้งในถังขยะส่วนรวมให้คนเก็บขยะนำไปดำเนินการกำจัดขยะต่อไป
Work From Home กับปริมาณขยะที่สูงขึ้น
หลายคนกังวลกับขยะติดเชื้อเช่นหน้ากากอนามัย แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในปริมาณที่เหนือกว่ามากคือขยะที่เกิดจากผู้คนซึ่งทำงานอยู่กับบ้าน หรือ Work From Home นั่นเอง โดยการทำงานรูปแบบนี้กระตุ้นให้ธุรกิจเกี่ยวกับการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นว่าขยะพลาสติกที่เกิดจากบริการเดลิเวอรี่นั่นเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าปริมาณขยะโดยรวมในบางพื้นที่จะลดลง สิ่งที่เราต้องเผชิญคือ ขยะที่จัดการยากมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูง และที่สำคัญคือการกำจัดขยะชนิดนี้ยังทำได้ไม่ดีเพียงพอ รวมไปถึงการแยกขยะที่ทำได้ยากเพราะมีการปนเปื้อนอาหารและสารอินทรีย์อยู่ด้วย
สิ่งที่เราต้องจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบายจึงกลายเป็นการใช้เงินภาษีเพื่อกำจัดขยะที่พวกเราก่อขึ้นมาเองเพิ่มมากขึ้น และสร้างมลพิษมากขึ้น และสิ่งที่น่าเศร้าคือเรื่องนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่มันจะเป็นการผลักต้นทุนไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันทุกฝ่ายต้องเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนเรื่องโรคภัยอยู่แล้ว
ซึ่งไม่ว่าคุณจะทำอาหารเอง สั่งอาหาร แวะซื้ออาหารข้างทาง สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการคำนวณว่า สิ่งที่ซื้อมานั้นมากหรือน้อยเกินไปไหม ถ้าซื้อเยอะเกินเราเก็บได้นานขนาดไหน มีคนไม่น้อยที่คิดว่าอาหารที่ทานสามารถเก็บได้นาน แล้วเผลอเก็บในตู้เย็นจนเกินขีดจำกัดของอาหารชนิดนั้นๆ แล้วนำมารับประทานจนพาลให้ท้องเสียแทนเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยพร้อมขนาดไหนกับวิกฤตที่ต้องเจอ
นอกเหนือจากวิกฤตการทิ้งขยะและการแยกขยะแล้ว สิ่งที่ไทยได้เผชิญอีกเรื่องคือปัญหาของ ‘ราคาขยะ’ ที่ลดต่ำลงอย่างมหาศาล ทั้งจากปัจจัยความไม่คุ้มค่าในการจัดการ การนำเข้าขยะ และปัจจัยอื่นๆ ทำให้คุณค่าของขยะในสายตาคนธรรมดาและซาเล้งลดลงจนแทบไม่เหลือ
ซึ่งหากกล่าวตามตรง ในการปฏิบัติจริงเราแทบจะไม่พร้อมเลยหากเจอปัญหาวิกฤตการณ์ที่ต้องกำจัดขยะที่ถาโถมเข้าใส่แบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นขยะติดเชื้อ ขยะอาหาร หรือขยะพลาสติก
เรื่องนี้ต่อให้ภาคประชาชนมีบทบาทขนาดไหนก็ไม่อาจจัดการได้ดีเท่าผู้รับผิดชอบโดยตรง
จึงเป็นการบ้านให้ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องหาทางรับมือ ทั้งการสร้างความเชื่อถือในการจัดการคัดแยกขยะ ว่าถ้าชาวบ้านทั่วไปทำการคัดแยกแล้ว สิ่งที่พวกเขาคัดแยกจะไม่ถูกนำไปรวมกันจนเกิดการปนเปื้อนที่ไม่ควรเกิดขึ้น รวมทั้งเอาใจใส่ด้านราคาขยะ ลดหรืองดการนำเข้าขยะจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดราคาขยะผันผวน จนแม้แต่ลุงซาเล้งต้องส่ายหน้า
หากภาครัฐไม่มีมาตรการที่แน่นอนใดๆ ออกมา ไม่ว่าประชาชนจะช่วยเหลือกันขนาดไหนพวกเขาก็จะไม่เห็นประโยชน์จากการร่วมมือกัน และในะระยะยาว เราก็ไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้แม้แต่อย่างเดียว ไม่เพียงแค่เรื่องขยะเท่านั้น
บทบาทของคนในประเทศต่อการกำจัดขยะยุคใหม่
ในปีก่อนเราเห็นการจัดการปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเลที่เรียกได้ว่าเป็นภาพจำชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในปีนี้จากวิกฤตการณ์และความมักง่ายของคนบางกลุ่ม ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาพิจารณาเรื่องขยะใหม่อีกครั้ง และการกลับมาของปัญหาการกำจัดขยะอาจมากกว่าเดิมหลายเท่า
ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทดสอบคนไทยทุกคนเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะ ว่าแม้ภาครัฐจะผ่อนปรนโยบายบางอย่างลง เรายังคงมีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะช่วงหลัง Covid-19 ไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจได้ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมตามมา นั่นคือการกำจัดขยะที่ล้นประเทศ
เราเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยตัวเราเองโดยการแยกขยะก่อนทิ้ง มีการทำจุดสังเกตที่ชัดเจนในภาชนะที่เก็บ สิ่งใดที่รีไซเคิลได้อาจส่งให้หน่วยงานหรือทีมงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การนำขวดน้ำ PET ไปทำเสื้อ การนำกล่องนมไปทำเก้าอี้ให้น้อง ๆ การนำถุงพลาสติกไปทำถนน เป็นต้น
