แม้ไม่อยากยอมรับ แต่ทว่ามลพิษก็ได้ถูกหลอมรวมเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม และยังมีทีท่าว่ามลพิษเหล่านั้นจะกระจายไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในเมืองใกล้เคียงด้วย การควบคุมมลพิษจึงกลายเป็นหัวข้อหลักที่ถกเถียงกันในสังคมทั้งภาครัฐและประชาชน
สังคมจะสามารถแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร มีทางไหนที่ยังทำได้อีกบ้างนอกจากการ จับ ปรับ ผู้ปล่อยมลพิษ ประเด็นปัญหาถูกชักนำเข้าสู่จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งนั่นคือการ “เปลี่ยนแปลงการสร้างมลพิษตั้งแต่ฐานราก”
นั่นคือจุดเริ่มต้นแนวคิดของ Green Economy หรือระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่จะเปลี่ยนเมืองทุกแห่งบนโลกให้กลายเป็นเมืองไร้มลพิษในอนาคต
การควบคุมมลพิษ ปัญหา(ไม่)เล็กในเมืองใหญ่
ในช่วงต้นปี 2562 คนไทยตื่นมาเผชิญหน้ากับฝุ่นควันหนาทึบแทนที่จะเป็นแสงแดดเช่นทุกที ภาพที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นกลายเป็นเรื่องชินตา และจากวันนั้นหลายคนก็ได้รู้ว่าปัญหามลพิษไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาสะสมที่เกิดมานานหลายปี
นั่นเป็นเพียงหนึ่งในสารพัดปัญหาที่เกิดในเมืองใหญ่ ยังมีปัญหากลิ่นเหม็นเน่าจากน้ำเสีย ขยะในคลองที่ถูกทิ้งเพิ่มขึ้นทุกวันแม้ว่าจะมีการเก็บอย่างสม่ำเสมอ ปัญหามลพิษทางเสียงจากรถยนต์ และล่าสุด ปัญหาการปล่อยน้ำเน่าเสียลงทะเลที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนใกล้เคียง ลามไปจนถึงการท่องเที่ยวและการซื้อขายสินค้าในบริเวณนั้น
ทุกๆ จังหวัดต่างประสบปัญหาทางมลพิษไม่ต่างกันแต่อาจแตกต่างกันในบางแง่มุม เช่น จังหวัดติดทะเลจะประสบปัญหาด้านน้ำเสียมากกว่า จังหวัดที่มีการท่องเที่ยวอาจเผชิญปัญหาขยะมากกว่า เป็นต้น
แม้แต่ในระดับสากลเองปัญหามลพิษก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่เมืองอื่นๆ ท้องทะเล ไปจนถึงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) อย่างสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือเย็นจัดกระทันหัน มีความผันผวนเกินกว่าจะคำนวณได้ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น ทอร์นาโดหรือดินถล่ม
มนุษย์ต้องเลือก ว่าจะเปลี่ยนตัวเอง…หรือตายไปอย่างช้าๆ จากสิ่งที่ตัวเองทำ
แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้คนไม่ตื่นตัว แต่ความตื่นตัวของคนกลุ่มเดียวไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทั้งโลกได้ ก่อนจะกล่าวถึงการแก้ปัญหาในขั้นถัดไป มาดูก่อนดีกว่าว่าในปัจจุบันมีจัดการกับปัญหามลพิษกันอย่างไรบ้าง
การแก้ปัญหามลพิษในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการจัดการมลพิษรองรับอยู่แล้ว เช่น กรมควบคุมมลพิษ ทว่าแม้จะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ในหลายๆ ครั้งปัญหาที่เรื้อรังมานานก็เกินกำลังกรมมลพิษส่วนเดียวจะแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ปัญหาด้านฝุ่นควัน: ดำเนินการฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่นละออง ทำโครงการฝนเทียมเพื่อลดค่าฝุ่นชั่วคราว รณรงค์ลดการเผาป่า ลดการใช้รถส่วนตัว เพื่อลดการเพิ่มฝุ่นละออง
- ปัญหาการจัดการน้ำเสีย: ดำเนินการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย ขอความร่วมมือภาคประชาชนไม่ถ่ายเทน้ำเสียที่ไม่ผ่านการกรองไขมันลงท่อระบายน้ำ ตรวจสอบโรงงานที่มีการปล่อยน้ำเสีย
- ปัญหาการจัดการขยะ: รณรงค์แยกขยะชนิดต่างๆ ตรวจสอบการลักลอบเผาขยะ มีการเก็บขยะตามแม่น้ำลำคลองทุกอาทิตย์
- ปัญหาด้านมลพิษจากพลังงาน: ตรวจสอบโรงงานว่ามีการจัดการมลพิษและขยะสารพิษอย่างเป็นระบบหรือไม่ อย่างไร
จะได้เห็นว่าทั้งหมดนั้นยังทำได้แค่บรรเทาปัญหาบางส่วน แม้จะมีการแก้ไขปัญหาทั้งต้นเหตุและปลายเหตุ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการแก้ไขที่คลุมเครือและไม่ต่อเนื่อง รวมถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาวกลับไม่ได้รับความใส่ใจจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชนบางส่วนเท่าที่ควร ทำให้ปัญหามลพิษลุกลามต่อไปเรื่อยๆ
หากการออกนโยบายไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากพอ สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือการปรับ “ฐาน” ของประเทศให้เท่ากัน โดยเฉพาะทัศนคติในการจัดการมลพิษ
ปรับพื้นฐานการควบคุมมลพิษด้วย Green Economy
“ทำไมต้อง Economy ? ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องอะไรกับการควบคุมมลพิษ”
หากจะบอกว่าสองสิ่งนี้เป็นเหมือนสองด้านของเหรียญที่แยกกันไม่ออกเลยก็คงไม่ผิดนัก แล้วแต่ว่าผู้มองจะมองไปด้านไหน ยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจและผู้คนมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่กลายเป็นมลพิษก็เยอะขึ้นตามมา
Green Economy คือ รูปแบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในการยกระดับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความเท่าเทียมในสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่สูญเปล่า เช่น การใช้พลังงานสะอาดเพื่อควบคุมระบบก่อมลพิษในอาคารตั้งแต่วันแรกที่ออกแบบ และลดการเกิดขยะภายในอาคารให้มากที่สุด
สิ่งที่ Green Economy ต้องการไปให้ถึงคือการบรรเทาปัญหามลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ด้วยการเปลี่ยนระบบการทำงานต่างๆ ให้เป็นระบบที่สะอาด ไม่ก่อมลพิษ และทำให้มลพิษนั้นหายไปในที่สุด
เศรษฐกิจสีเขียวไม่ได้เกี่ยวเนื่องแค่การเกษตร
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นมากมาย ทั้งการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบางครั้งส่งผลกระทบต่อชุมชนและผู้คนบริเวณใกล้เคียง
“หลักการของเศรษฐกิจสีเขียวคือการมุ่งพัฒนาฐานรากและความเท่าเทียมเป็นหลัก”
ซึ่งสามารถพัฒนาได้โดยการบรรจุมาตรการทางสิ่งแวดล้อมแฝงเข้าไปในระบบเศรษฐกิจและนโยบายต่างๆ รวมถึงแนวคิดตั้งต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยเช่น
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวรอบนอกมากกว่าพื้นที่ในเมือง มีกิจกรรมร่วมกันพัฒนาธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ การให้ความรู้เกี่ยวกับท้องทะเล การให้ชุมชนพัฒนาตนเองร่วมกับอุตสาหกรรม
- อุตสาหกรรมการผลิต ทำงานควบคู่กับกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานอื่นๆ ในการตรวจสอบ อธิบายการลดมลพิษในโรงงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น ไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวมวล และแก๊ส
- อุตสาหกรรมการเกษตร สนับสนุนการจัดการและอนุรักษ์ที่ดิน รวมถึงฟื้นฟูสภาพพื้นดินหลังจากการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ
- การจัดการภายในสังคม ลดภาษีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้โซล่าเซลล์และพลังงานทดแทนอื่นๆ ลดการใช้พลาสติกในสังคมไทย ขอความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการมลพิษส่วนต่างๆ ให้เป็นระบบ
ซึ่งหากพัฒนาฐานรากอุตสาหกรรมการจัดการทั้งหมดให้เป็นไปในแนวทางนี้ได้แล้ว มลพิษต่างๆก็จะลดลงและส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย
หากมองบางส่วนว่าคุ้นตาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศไทยมีการปรับใช้ Green Economy ร่วมกับแผนงานการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลาพักใหญ่แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ตามที่ควร
ในตอนนี้จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนที่ต้องร่วมมือกันคนละไม้คนละมือ เพื่อพัฒนาแนวทางของ “เศรษฐกิจสีเขียว” ให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นรากฐานในการดำเนินงาน เพื่อให้เราและลูกหลานของเราไม่ต้องเผชิญมลพิษอย่างที่เผชิญกันอีกในอนาคต
