โรงไฟฟ้า เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความมั่นคงทางพลังงานสมัยใหม่ที่แทบทุกประเทศจำเป็นต้องมี ทว่าในหลายประเทศกลับมีปริมาณโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่มากขึ้นของประชาชนและปริมาณสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญที่สวนทางกันในปัจจุบัน
พลังงานไฟฟ้ากับการเติบโตของประเทศไทย
แม้ว่าอัตราการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยจะลดลงจากปีก่อนด้วยผลกระทบจาก Covid-19 แต่โดยรวมแล้วความต้องการไฟฟ้าในประเทศไทยก็ยังมีเติบโตมากขึ้นในทุกๆ ปี สอดคล้องกับการเติบโตของประชากรและการใช้เทคโนโลยี
การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นย่อมเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แต่ด้วยขีดจำกัดของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทางบริษัทผลิตไฟฟ้าของเอกชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยพึ่งพากำลังของเอกชนกว่า 50% และมีการนำเข้าไฟฟ้าบางส่วนเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน
ซึ่งแน่นอนว่าด้วยเหตุผลทั้งหมดส่งผลให้ค่าไฟของประชาชนมีการขยับขึ้นลง และจะได้รับผลกระทบทันทีหากการผลิตไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหา เหมือนดังเช่นที่เคยเกิดเหตุไฟดับครั้งใหญ่เมื่อปี 2561 เนื่องจากโรงไฟฟ้าในประเทศลาวขัดข้อง
แล้วประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นลองมาดูโรงไฟฟ้าในประเทศไทยก่อนว่าจริงๆ บ้านเรามีโรงไฟฟ้ามากขนาดไหน
รู้จักกับการผลิตไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าในไทย
รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วไทยใช้การผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าทั้งจากกฟผ.และเอกชนรวมกันมากกว่า 100 โรง ทั้งจากเขื่อน โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ไปจนถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- เอกชน 24,556.82 เมกะวัตต์
- กฟผ. 14.565.58 เมกะวัตต์
- ต่างประเทศ 3,877.60 เมกะวัตต์
โดยมีโรงไฟฟ้าหลักๆ จากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 9 แห่ง ดังนี้
- โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
- โรงไฟฟ้าบางปะกง
- โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
- โรงไฟฟ้าพระนครใต้
- โรงไฟฟ้ากระบี่
- โรงไฟฟ้าจะนะ
- โรงไฟฟ้าวังน้อย
- โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา
- โรงไฟฟ้าน้ำพอง
ส่วนที่เหลือจะเป็นเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน ซึ่งแน่นอนว่าจากสัดส่วนและปริมาณโรงไฟฟ้าของภาครัฐที่ยังต่ำกว่าเอกชนอยู่พอสมควร และมีการใช้ไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ทำให้มีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไม่น้อย
โดยทางกฟผ.มีแผนการจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าทดแทนจนถึงปี 2578 โดยเริ่มจากโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกงเครื่องที่ 1-2 ที่คาดว่าจะเปิดใช้งานปี 2563
แน่นอนว่าหากพูดถึงการสร้างโรงไฟฟ้า ย่อมนึกถึงข่าวการคัดค้านที่มีประเด็นกันอยู่เนืองๆ มาดูกันว่าสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เปิดสาเหตุ ทำไมโรงไฟฟ้าจึงกลายเป็นประเด็นในสายตาผู้คน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทัศนคติคนทั่วไปเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นค่อนข้างเป็นไปในทางลบมากกว่าบวก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีต ไปจนถึงความเข้าใจผิดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทั่วถึง
ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าที่สังคมยังกังขา
“แม่เมาะ” คือโรงไฟฟ้าชื่อดังของทางกฟผ.ที่เคยมีคดีความยาวนานกว่า 10 ปี เนื่องจากการปล่อยมลพิษและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมากจนมีการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญถึงการลุกขึ้นยืนของชาวบ้าน และเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คนเป็นอันดับแรก ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นการสร้างภาพจำในทางลบให้กับประชาชนจำนวนมาก ถึงความคิดเกี่ยวกับความน่ากลัวของโรงไฟฟ้าไปแล้ว และภาพจำดังกล่าวก็ถูกยกขึ้นมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในทุกๆ ปี
แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะถูกปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเฉกเช่นสมัยก่อน รวมถึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่อาจลบสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตให้หายไปได้ และการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อาจได้กระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ด้วยเหตุผลนี้ด้วย
ความ “ไม่คุ้ม” ของอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า
มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าในประเทศไทยหลายแห่ง ถูกระบุว่าจะปลดระวางในระยะเวลา 25 ปี ซึ่งผิดกับโรงไฟฟ้าจากฝั่งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งมีอายุยาวนานกว่านั้นพอสมควร โดยบางแห่งอายุถึง 50 ปี+
ทางผู้เกี่ยวข้องจึงอาจต้องออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ให้ชัดแจ้งว่าสาเหตุใดจึงเป็นแบบนั้น และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟของภาคประชาชนมากพอสมควร
ผลกระทบที่เกิดกับธรรมชาติซึ่งไม่อาจเลี่ยง
เป็นที่รู้กันว่าการสร้างโรงไฟฟ้าบางประเภท รวมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ในหลายๆ ครั้งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากธรรมชาติและป่าต้นน้ำได้ นั่นทำให้นักสิ่งแวดล้อมและประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับผลกระทบนี้
แม้ว่าหลายครั้งจะมีการทำ EIA (Environmental Impact Assessment) Report เพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีความกังขาจากภาคประชาชนถึงความโปร่งใสและผลกระทบที่แท้จริง
ทางเลือกอื่นเพื่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย
โรงไฟฟ้าอาจเป็นตัวเลือกหลักสำหรับการผลิตพลังงานที่มั่นคงสำหรับคนในประเทศ แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากกว่าเดิม ทำให้มีตัวเลือกด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้นอกจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม เช่นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เน้นไปในการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพราะมีตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ เช่นสหราชอาณาจักร ที่ปิดการทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินบางแห่งเพื่อเน้นการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
นอกเหนือจากนั้น ยังมีแนวคิดการกระจายการผลิตไปที่ภาคประชาชนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาดเล็ก ไปจนถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามบ้าน ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากภาคประชาชน ที่อาจเข้ามาอุดช่องว่างการผลิตให้ประเทศไทยสามารถใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศโดยไม่ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกต่อไป
เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าท้ายสุดแล้วประเทศไทยจะมีการจัดการพลังงานต่อไปอย่างไร หรือประเทศไทยจะยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจนเกิดเป็นวิกฤตพลังงาน ในอนาคต
