โลกคือสิ่งที่ทุกๆ คนร่วมกันสร้าง ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยล้วนมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม สำหรับประเด็นหลักในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงาน ทั้งในแง่เสถียรภาพ ราคา ผลกระทบ พลังงานทดแทนจึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกยกมาพูดมากที่สุดประเด็นหนึ่งในขณะนี้
พลังงานทดแทนในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ในระดับสากลมีระดับการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มีความพยายามในการลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มพลังงานทดแทนขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีอัตราส่วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
หนึ่งในประเทศที่ถือเป็นผู้นำในด้านพลังงานทดแทนและพยายามส่งเสริมให้ประชาคมโลกหันมาสนใจประเด็นนี้มากขึ้น คือประเทศไอซ์แลนด์ ที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อให้ประชาชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีรถยนต์พลังงานทดแทน เปลี่ยนขนส่งสาธารณะเป็นแบบใช้พลังงานทดแทน
ไอซ์แลนด์หมายมั่นจะลดการใช้พลังงานฟอสซิลให้เหลือ 0% เฉกเช่นเดียวกับสวีเดน และคอสตาริก้าที่แข่งขันกันใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงลงทุนในพลังงานสะอาดต่างๆ
โดยในแง่การพัฒนาจริงนั้น นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศแล้ว การทำงานอย่างสอดประสานของภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สำเร็จได้
และที่ขาดไม่ได้เลยคือเทคโนโลยีที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
นวัตกรรมพลังงานทดแทนในอนาคตที่เป็นไปได้
แน่นอนว่าหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทโฮม สมาร์ซิตี้ ที่มีความใกล้ตัวระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังมีนวัตกรรมอีกหลายอย่างที่ไม่ค่อยได้ออกสื่อ แต่กำลังมีการพัฒนาอย่างเข้มข้นเพื่ออนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน
- Electric tires : แม้ว่าจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแต่ทว่าพลังงานที่ใช้ก็ยังจำกัด จะดีกว่ามั้ยถ้าเกิดเราสามารถชาร์จไฟจากการวิ่งด้วยยางตรงๆ ได้เลย
บริษัทยางอย่าง Goodyear เองก็คิดถึงเรื่องนี้ จึงคิดค้นยางที่ติดตั้งระบบการสร้างกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อนในตัว และใส่อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ ตัวประมวลผลที่ใช้งานยางร่วมกับรถยนต์ เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด แม้ว่าตอนนี้ยังเป็นเพียงต้นแบบ แต่ก็นับว่ามีความเป็นไปได้มากทีเดียว
- Solar powered trains : เราพัฒนาก้าวไกลจากรถไฟพลังงานไอน้ำรุ่นแรกมามาก และล่าสุดก็ถึงคราวการพัฒนารถไฟรุ่นใหม่ ที่ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
โดยรถไฟพลังงานแสงอาทิตย์นี้มีการพัฒนาอยู่ทั้งในประเทศออสเตรเลีย อินเดีย และอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันก็มีตัวต้นแบบออกมาแล้ว และกำลังมีการปรับปรุงด้านความเสถียร ความเร็ว รวมถึงปัจจัยอื่นๆเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงในอนาคต
- การใช้ AI ร่วมกับ Microgrid : ไมโครกริดหรือระบบไฟฟ้าความดันต่ำ ที่ทำงานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อทำให้ชุมชนห่างไกลใช้พลังงานได้แม้อยู่ในพื้นที่จำกัดอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่การให้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาควบคุมนั้นต่างออกไป
เมื่อ AI เข้ามามีส่วนร่วม จะสามารถทำให้คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในระบบได้ง่ายขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสม ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ร่วมกับพลังงานทดแทนในระบบเป็นอย่างมาก ซึ่งมีการทดลองแล้วในแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อควบคุมระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
- Energy Storage : แหล่งกักเก็บพลังงาน ตัวช่วยเพิ่มความเสถียรของพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม นอกจาก Tesla Powerwall ระบบเก็บกักพลังงาน ที่ได้รับการยืนยันความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว ยังมีสตาร์ทอัพอื่นๆ อีกมากมายที่ทำงานรูปแบบคล้ายคลึงกัน
ยกตัวอย่างเช่น H2GO Power ที่ทำหน้าที่เก็บพลังงานไฮโดรเจน และ Solid Power สตาร์ทอัพเก็บกักพลังงานในรูปแบบแบตเตอร์รี่ Solid State
ภาพรวมของสังคมและพลังงานทดแทน
การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนเลยมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมหรือไม่ ? คงต้องกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่ามีมากพอสมควร
การพัฒนาเข้าสู่พลังงานทดแทนจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบ ทำการศึกษาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากพลังงานทดแทนบางส่วนนับเป็น “สิ่งใหม่” ในสายตาประชาชน ทางภาครัฐและเอกชนจำต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็น อธิบายถึงผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ไปจนถึงการ “ทำเป็นตัวอย่าง” แสดงให้เห็นว่า เรื่องพลังงานทดแทนนั้นเป็นวาระแห่งชาติ
ประชาชนในประเทศก็ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจว่าพลังงานทดแทนในปัจจุบันถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ส่งผลกระทบไปจนถึงลูกหลานของเรา ดังนั้นไม่ใช่แค่ในไทยแต่เป็นทั้งโลกที่ต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว
พลังงานทดแทนไทยต่อยอดอย่างไรให้ก้าวหน้า
มลภาวะที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์เกี่ยวกับฝุ่นควัน เสียงรบกวน ไปจนถึงความเสถียรของพลังงานทำให้เกิดความตื่นตัวในภาคประชาชนมากระดับหนึ่ง แต่จะทำให้มันก้าวหน้าไปถึงที่สุดได้อย่างไร ?
ดังที่บอกว่านอกจากจะต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติและทำความเข้าใจกับภาคประชาชนอย่างจริงจัง ยังต้องมีการอธิบายแผนพัฒนาปัจจุบันออกมาให้ชัดเจน ซึ่งแท้จริงนั้นมีมากมายแต่ไม่ได้มีการแถลงออกมาอย่างทั่วถึงเช่น
- การลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและใช้พลังงานทดแทนอื่น
- ปรับปรุงระบบโครงสร้างพลังงาน พัฒนาเข้าสู่ระบบ Smart Grid
- แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงานทดแทน
- สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
- ส่งเสริมงานวิจัย และประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักลงทุนให้ลงทุนด้านพลังงาน
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ไม่มีใครจะทราบว่าอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด แต่จะดีกว่ามากถ้ามีการสนับสนุนภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านพลังงานมาพัฒนาเทคโนโลยีดีๆ ให้มากขึ้น
เราควรร่วมสร้าง “อนาคต” ที่ต่างจากปัจจุบัน อนาคตที่ไม่มีมลพิษ อนาคตที่เน้นใช้พลังงานสะอาด แต่มันคงไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าหากขาดแรงผลักดันที่เพียงพอ
เพราะเรื่องพลังงาน ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงคนเดียว
