Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เมื่อธรรมชาติหวนคืน: การฟื้นฟูของทะเลไทยภายใต้ Covid-19

12 มิ.ย. 2020
SHARE

ภาพความสวยงามของทะเลไทยในอดีตเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในระดับสากลที่ยกทะเลบ้านเราเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องแวะเวียนมา แต่ความสวยงามที่เห็นนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของผืนทะเลบ้านเรา หากหลายคนลงพื้นที่จริงๆ จะพบว่าทะเลไทยมีสภาพแย่ลงหากเทียบกับเมื่อก่อน

แม้จะยังมีความสวยสะอาดตาของท้องทะเลอยู่บ้างในบางพื้นที่ แต่พื้นที่สวยๆ ไร้ซึ่งขยะ นั้นลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด น้ำสีคล้ำ ลงทะเลแล้วรู้สึกคัน ซากปลาตายเกลื่อนกลายเป็นภาพที่ปรากฎให้เห็นถี่บ่อยขึ้นเรื่อยๆ  ยิ่งลงลึกไปยังใต้น้ำยิ่งพบกับความเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจ 

หลายคนมองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แต่การเข้ามาของ Covid-19 เปรียบเสมือนการตบหน้าเรียกสติผู้คน เมื่อมนุษย์ถูกกีดกันให้ออกจากหาดจนมันกลับสู่ความเป็นธรรมชาติด้วยตัวมันเอง และแสดงภาพให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ “ธรรมชาติ” บันดาล แต่เป็น “มนุษย์” ลงมือ 

แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในทะเลกันแน่

ทะเลไทยท่ามกลางวิกฤต

มีช่วงเวลาหนึ่งที่พาดหัวข่าวรวมถึงคอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างประโคมข่าวเกี่ยวกับการฟื้นตัวของท้องทะเลไทย ที่ถูกเปรียบกับ “การชุบชีวิต” ทะเลที่ตายไปแล้วให้กลับคืนมา ทำให้เกิดความสงสัยว่าทะเลในปัจจุบันมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ ?

คงได้แต่ให้คำตอบสั้นๆ ว่า ใช่ และอาจแย่กว่าที่คิด ซึ่งจะขอยกตัวอย่างสิ่งที่ทะเลไทยได้เผชิญมาดังนี้

ประมงผิดกฎหมาย ทะเลไทยเป็นหัวข้อทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการพูดถึงอยู่ตลอด ทั้งจากการทำงานของภาครัฐและเอกชน โดยหัวเรื่องใหญ่ที่ถูกถกกันมาตลอดคือเรื่องของการทำประมงผิดกฎหมาย 

ไทยเคยมีการทำประมงผิดกฎหมายที่ผลาญทรัพยากรทะเลกันอย่างย่อยยับจนโดนใบเหลืองด้านการทำประมงผิดกฎหมายจากสหภาพยุโรปมาแล้วในช่วงปี 2558 และเพิ่งมีการปลดใบเหลืองดังกล่าวช่วงไม่นานมานี้ แต่ทว่าธรรมชาติที่ถูกทำลายก็ไม่อาจฟื้นคืนได้โดยง่าย โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอนุบาลที่เคยโดนจับไปจนเกือบหมด  รวมถึงความเสียหายจากอุปกรณ์จับสัตว์น้ำผิดกฎหมายที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน

น้ำเสีย ปัญหาแก้ไม่ตกที่เกิดจากเหล่าผู้เห็นแก่ตัวที่ปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือน โรงแรม และ สถานที่ต่างๆ ลงในท้องทะเล จนเกิดปรากฎการณ์ทะเลดำและสัตว์น้ำตายเป็นฝูง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่าที่ควร ทำให้ในปัจจุบันทะเลหลายๆ จุดหากสังเกตดีๆ เราก็สามารถสังเกตปลายท่อที่ค่อยๆ บรรจงรินน้ำเสียเข้ามาผสมกับน้ำใสได้ 

ขยะทะเล 

ประเทศไทยมีการปล่อยขยะทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และแม้ว่าสถิตินั้นจะดีขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ผลกระทบของการปล่อยขยะลงทะเลนั้นยังคงอยู่ 

นอกจากสารพิษที่ขยะส่งออกมาจากขยะแล้ว เศษขยะบางประเภทยังส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลไม่น้อย เช่น ขวดพลาสติก ลูกปัด ฝาขวด ที่นอกจากสัตว์ทะเลจะกลืนสิ่งเหล่านี้ลงไปสะสมจนทำให้เสียชีวีต มันยังมีโอกาสแปรสภาพเป็นขยะไมโครพลาสติก แทรกซึมลงไปในตัวปลาที่กิน แล้วมนุษย์ที่กินปลาเหล่านั้นก็จะได้รับไมโครพลาสติกเหล่านั้นกลับคืนมา

วิกฤตของทะเลไทยยังมีอีกมาก ทั้งเรื่องของการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความสนใจของคนที่มาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแทนที่จะเป็นระยะยาว ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน   ฟื้นฟูทะเลไทย
การเข้ามาของ Covid ส่งผลกระทบอย่างไรกับทะเลไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก Covid-19 คือผู้คนถูกกันให้ห่างออกจากกันผ่าน Social Distancing รวมถึงการจำกัดการอยู่ด้วยกันในสถานที่ต่างๆ นั่นส่งผลให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะจากผู้คนลดลง ทั้งควันเสียจากรถยนต์ ที่เกิดทั้งพื้นที่ป่า เมือง และทะเล การทิ้งขยะจากการท่องเที่ยว ไปจนถึงการรบกวนสัตว์ต่างๆ เนื่องจากจุดที่มีการดูแลเข้มงวดที่สุดจุดหนึ่งคือส่วนของอุทยาน

ข่าวใหญ่ที่ปรากฎขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศคือข่าวของเหล่าสัตว์ ที่แสดงอาการ “เริงร่า” อย่างเห็นได้ชัดเมื่อป่าและทะเลที่พวกเขาอาศัยอยู่ไร้ซึ่งมนุษย์เข้าไปรบกวน มีการแผ่ขยายอาณาเขตของสัตว์บางชนิดมากขึ้น รวมถึงการผสมพันธ์และการขึ้นวางไข่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น 

  • เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ร่วม 11 รัง ภายในเขตหาดของไทย จากเดิมที่ลดลงไปเหลือ 3 รังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการปิดอุทยานและการดูแลการควบคุมเรือประมงอย่างเข้มข้นด้วย นอกจากเต่ามะเฟืองแล้ว เต่าชนิดอื่นๆ เองก็มีอัตราวางไข่มากขึ้นเช่นเดียวกัน  
  • นากทะเลออกมาเดินเล่นมากขึ้น ทั้งในเขตบางขุนเทียนที่ติดชายทะเล พบภาพของฝูงนากออกมาว่ายน้ำเล่นบ่อยครั้ง ในจังหวัดภูเก็ตเองก็มีเหล่านากขึ้นมาอาบแดด นอนเล่นเมื่อไม่มีมนุษย์อยู่รอบข้างด้วยเช่นกัน
  • สัตว์ทะเลเข้ามาในเขตชายหาดมากขึ้น ประเทศไทยเคยมีเรือท่องเที่ยวปริมาณนับหมื่นๆ ลำวิ่งกันในแต่ละวัน ทำให้สัตว์ทะเลไม่กล้าเข้ามาใกล้ๆ แต่เมื่อ Covid-19 เข้ามา ปรากฎภาพของสัตว์ทะเลหลากชนิดเพิ่มมากขึ้น ทั้งพะยูน วาฬเพชรฆาตดำ ฉลามหูดำ โลมา นกและสัตว์ทะเลอื่นๆ โดยเฉพาะวาฬเพชรฆาตดำที่แทบไม่มีโอกาสปรากฎให้เห็นเลย

การปรากฎกายของสัตว์เหล่านี้ทำให้นักวิชาการทางทะเลให้ความเห็นว่าหลังจากช่วงเวลานี้ผ่านไป เราอาจต้องมีการปรับพื้นที่อุทยานเพื่อสัตว์มากขึ้น เพราะเราเข้าใจพฤติกรรมเหล่าสัตว์มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นการ “อยู่ร่วมกัน” ให้ปลอดภัยและยั่งยืน ทั้งคนและสัตว์ทะเล 

  • ธรรมชาติใต้ทะเลฟื้นฟู เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลระบุว่าทะเลไทยมีการฟื้นฟูอย่างสวยงามชัดเจนมาก เนื่องจากไม่มีการรบกวนจากนักท่องเที่ยวและเรือท่องเที่ยว ปะการัง ดอกไม้ทะเล มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางธรรมชาติ

โอกาสภายใต้วิกฤต พลิกฟื้นทะเลไทยอย่างยั่งยืน

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยืนยันได้ดีว่าปัญหาของทะเลไทยส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์ และมันไม่ได้มีปัญหาเดียวแต่เป็นหลายปัญหาสะสมกัน 

ช่วงเวลาหลังโควิดนี่เองเป็นเวลาที่ทุกหน่วยงานรู้ชัดแล้วว่า การปฏิบัติงานส่วนไหนนั้นดี ส่วนไหนที่ยังต้องปรับปรุง เราควรใช้โอกาสที่คนยังไม่เริ่มท่องเที่ยวไปในอุทยานหรือหาดต่างๆ เพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เหมาะกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงการจำกัดพื้นที่บางส่วนเพิ่มเติมเนื่องจากมีสัตว์หลายประเภทขยายพื้นที่หากินมากขึ้น ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาดีกว่าเดิม

เรื่องขยะเองก็เป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นในการทิ้งขยะจากบนบกลงแม่น้ำ และไหลลงสู่ท้องทะเล ภาครัฐและภาคเอกชนอาจต้องมีการร่วมมือกันเพื่อประเมินและป้องกันผลกระทบจากขยะช่วง Covid-19 และมาตรการป้องกันนับต่อจากนี้  เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบในระยะยาว

สรุป

ทะเลไทยอาจเคยตายหรือเกือบตายไปแล้ว แต่เราสามารถใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส พลิกฟื้นผืนน้ำและผืนทรายที่เคยสวยงามให้กลับมาเป็นดังเดิม หรืองดงามกว่าที่มันเคยเป็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน มีการสนับสนุนและเยียวยาที่ชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือกันดูแลธรรมชาตินั้น คุ้มค่าสำหรับทุกฝ่าย 

หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็อาจเดินวนกลับเข้ามาที่เดิม แล้วทุกสิ่งที่ทำมาก็กลับกลายเป็นสูญเปล่า ผืนทะเลไทยที่เรารักอาจได้ตายไปจริงๆ ในอนาคต

 

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo