Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Sharing Economy: แนวทางการแชร์สินทรัพย์ต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ

3 พ.ค. 2022
SHARE

Sharing Economy: แนวทางการแชร์สินทรัพย์ต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ

PwC หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจแบบ Sharing Economy จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 15,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2014 เป็น 33,500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 เนื่องจากทั่วโลกมีสินทรัพย์และสินค้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่มากมาย การแบ่งปันสินทรัพย์เหล่านั้นเพื่อใช้ร่วมกันจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ ลดภาระต้นทุนในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย

บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จักว่า Sharing Economy คืออะไร? พร้อม 5 ตัวอย่างโมเดลธุรกิจ Sharing Economy ที่น่าสนใจ

Sharing Economy

Sharing Economy คืออะไร?

Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปัน คือ ระบบเศรษฐกิจที่นำสินทรัพย์ สินค้า หรือบริการมาแบ่งปันและใช้งานร่วมกัน เช่น การให้เช่าหรือยืมสินค้าแทนการซื้อและเป็นเจ้าของ จึงถือเป็นช่องทางสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ถูกเก็บไว้ให้มีการใช้งานที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น

จริงๆ แล้วการแบ่งปันหรือให้เช่าสินทรัพย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้คนในอดีตใช้วิธีการค้นหาและประกาศให้เช่าผ่านโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การแจกใบปลิวหรือบอกกันแบบปากต่อปาก จนกระทั่งในปัจจุบันเทคโนโลยีและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย ทำให้เกิดแพลตฟอร์มของธุรกิจ Sharing Economy ขึ้นมากมาย ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงและเชื่อมโยงผู้คนที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์กับผู้ที่ต้องการเช่าสินทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

5 ตัวอย่างโมเดลธุรกิจ Sharing Economy

ปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ใช้แนวคิด Sharing Economy โดยมีการประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ต่อไปนี้ คือ 5 ตัวอย่างโมเดลธุรกิจ Sharing Economy ที่น่าสนใจ

1. ธุรกิจเรียกรถและใช้บริการรถยนต์ร่วมกัน

เป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้เจ้าของนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้เหมือนรถแท็กซี่ ส่วนผู้โดยสารก็เสียค่าใช้จ่ายตามระยะทางเป็นครั้งๆ ไป ช่วยตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่มองว่าการซื้อรถยนต์เป็นภาระที่มาพร้อมดอกเบี้ย ค่าประกันภัย และค่าซ่อมบำรุงต่างๆ ซึ่งอาจเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการใช้บริการเครือข่ายเรียกรถ การขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่การเช่ารถยนต์ขับเป็นครั้งคราว ในขณะเดียวกัน เจ้าของรถยนต์ก็มีช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแทนการจอดรถทิ้งไว้ที่บ้านโดยเปล่าประโยชน์

UBER APP

2. ธุรกิจ Co-Working Space

เป็นธุรกิจให้บริการพื้นที่ทำงานร่วมกันซึ่งได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ฟรีแลนซ์ และสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีเงินทุนมากพอในการสร้างออฟฟิศเป็นของตนเอง เนื่องจาก Co-Working Space เปิดให้เช่าพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายก้อนโตเหมือนการเช่าอาคารหรือสำนักงานทั้งหลังเป็นของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การใช้ห้องประชุม อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ หรือเครื่องชงกาแฟฟรี เป็นต้น

3. ธุรกิจให้เช่าอพาร์ทเมนต์และบ้าน

เป็นธุรกิจให้จองที่พักแบบ Sharing Economy ผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงเจ้าของห้องในอพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม หรือบ้านพักทั้งหลังกับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่าที่พักในราคาไม่แพงเท่ากับโรงแรม รวมถึงประสบการณ์แปลกใหม่ที่อาจได้พูดคุยทำความรู้จักกับเจ้าของห้อง ในขณะเดียวกันเจ้าของห้องก็จะได้รับค่าเช่าเป็นรายได้เสริมดีกว่าการปล่อยห้องว่างทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

airbnb

4. ธุรกิจให้เช่าสินค้าและสินทรัพย์ราคาสูง

ปัจจุบันบริษัทต่างๆ มีสินค้ารอการขายจำนวนมาก รวมถึงเจ้าของสินทรัพย์อีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า แนวคิด Sharing Economy จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหากคุณเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือทำธุรกิจที่ขายสินค้าราคาสูง

เนื่องจากในบางอาชีพและบางธุรกิจ เช่น ฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจ SME หรือสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นอาจต้องการใช้อุปกรณ์บางอย่างที่มีราคาแพง เช่น กล้องและเลนส์ระดับมืออาชีพสำหรับถ่ายทำวิดีโอ หรือคอมพิวเตอร์สเปกสูงสำหรับใช้ตัดต่อภาพและวิดีโอที่มีความละเอียดมาก แต่ลองประเมินเบื้องต้นแล้วพบว่ายังไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้บ่อยนักในระยะยาว การเช่าอุปกรณ์เพื่อใช้งานชั่วคราวจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนและคุ้มค่ากว่า โดยที่เจ้าของสินทรัพย์หรือบริษัทที่ขายสินค้าก็จะได้รับผลตอบแทนจากการให้เช่าแทนที่จะเก็บเอาไว้เฉยๆ จนกลายเป็นของเก่าตกรุ่น

5. ธุรกิจจ้างงานฟรีแลนซ์

แนวคิด Sharing Economy ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การแชร์สินทรัพย์หรือสินค้าที่จับต้องได้ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแบ่งปันทักษะและความเชี่ยวชาญบางอย่างเพื่อให้บริการแลกกับค่าจ้าง โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางเชื่อมโยงฟรีแลนซ์ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น โปรแกรมเมอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ นักเขียน นักแปล เหมาะกับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการว่าจ้างคนทำงานเป็นรายครั้งหรือรายโปรเจกต์

สรุป

Sharing Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้แนวคิดการนำสินทรัพย์ สินค้า และบริการต่างๆ มาหมุนเวียน ใช้ซ้ำ หรือแบ่งปันระหว่างบุคคลและธุรกิจ ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มมองหาทางเลือกที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการซื้อสินทรัพย์มาครอบครองโดยไม่จำเป็นกันมากขึ้น

นอกจากนี้ เทคโนโลยีก็เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Sharing Economy เพราะเมื่อผู้คนเชื่อมต่อกันผ่านโลกดิจิทัลได้อย่างสะดวกและไร้พรมแดน ระบบนิเวศของ Sharing Economy ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo