หลายๆ คนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองนั้น ต่างก็มี Passion และไอเดียมากมายที่อยากจะต่อยอดให้งอกเงย ประสบผลสำเร็จ
สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง บทความนี้จะขอแนะนำ 5 ความรู้พื้นฐานที่คุณควรทราบ ก่อนเริ่มทำธุรกิจของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ
5 ข้อควรรู้พื้นฐานก่อนเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง
ปัจจุบัน การเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่จะประคับประคองธุรกิจนั้นให้ประสบความสำเร็จได้เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
ซึ่ง Passion นั้นไม่อาจเป็นจริงได้ หากขาดการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนลงมือทำ เพราะฉะนั้น มาดูกันว่า 5 ข้อควรรู้พื้นฐานที่ควรทราบก่อนเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองนั้นมีอะไรบ้าง
1. Passion และไอเดียที่มี ตอบโจทย์ตลาดอย่างไรบ้าง
หลายๆ คนต่างก็มี Passion และไอเดียธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกไอเดียที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
อันที่จริงแล้วทุกๆ ไอเดียธุรกิจนั้นมีค่าเสมอ ฉะนั้น จะต้องมองจุดเด่น และหาโอกาสในสินค้าของตัวเองให้เจอ เพราะถ้าหากไอเดียนั้นไม่สามารถขายได้ อาจทำให้ขาดเม็ดเงินมาบริหาร และประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ยาก
2. ศึกษาข้อมูลและวางแผน
การที่จะมองหาโอกาสเพื่อต่อยอดไอเดียให้งอกเงยได้นั้น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ การศึกษาข้อมูล เพื่อให้มองเห็นว่า ตลาดของธุรกิจที่กำลังจะเข้าไปแข่งขันนั้นมีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง มีแบรนด์ไหนที่กำลังเป็นผู้นำในตลาดนี้อยู่ และคำถามอีกมากมายที่คุณต้องหาคำตอบมาให้ได้เพื่อธุรกิจของคุณ
โดยในปัจจุบัน หนึ่งในเทคนิคที่ใช้วางโมเดลก่อนเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเอง คือ Business Model Canvas หรือ ผ้าใบธุรกิจ ซึ่งจะรวมองค์ประกอบด้วยกัน 9 ข้อที่คุณจะต้องหาคำตอบ เพื่อให้มองเห็นภาพรวม และเข้าใจในธุรกิจของตัวเองได้มากขึ้น ดังนี้
- Value Propositions – จุดแข็งของสินค้าคืออะไร
- Customer Segment – กลุ่มเป้าหมายคือใครบ้าง
- Channels – สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางใดได้บ้าง
- Customer Relationships – วิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
- Revenue Streams – รายได้จะเข้ามาจากไหน
- Key Resource – ทรัพยากรหลักที่ต้องใช้
- Key Activities – สิ่งที่ธุรกิจต้องทำเป็นหลัก
- Key Partners – พาร์ทเนอร์สำคัญทางธุรกิจคือใครบ้าง
- Cost Structure – ต้นทุนสำหรับส่วนต่างๆ เป็นอย่างไร
3. ทำความเข้าใจ Pain Point และสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
ลูกค้า คือตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ธุรกิจใดที่ไม่มีลูกค้ามาซื้อสินค้า ธุรกิจนั้นก็ย่อมอยู่ได้ไม่นาน
เพราะฉะนั้น คุณจึงต้องทำความเข้าใจถึง Pain Point ของลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปปรับให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้สินค้าของคุณนั้นเป็นที่สนใจ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายดายขึ้นนั่นเอง
4. ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด และคู่แข่งเสมอ
ไม่มีกลยุทธ์ทางการตลาดใดที่ใช้ได้ผลไปตลอดกาล ธุรกิจเองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในปัจจุบัน อิทธิพลของ Social Media ส่งผลให้ทิศทางการตลาด และพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด และปรับตัวตามให้ทัน
ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพื่อให้ทันต่อกระแสของตลาดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณเพียงรายเดียว แต่คู่แข่งรายอื่นภายในแวดวงเดียวกันก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลที่คุณต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางการตลาดอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงคอยศึกษากลยุทธ์ของคู่แข่งอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจของคุณสามารถปรับตัวตามกระแสได้ทัน มิฉะนั้นคุณอาจจะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังได้
5. Risk Mangement ประเมินความเสี่ยงให้รอบคอบ
การลงทุนมีความเสี่ยง สำหรับใครที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองมักจะคุ้นเคยกับคำๆ นี้ดี ซึ่งความเสี่ยงทางธุรกิจนั้นไม่มีใครบอกได้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และมาในรูปแบบไหน แต่ถ้าหากไม่ได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าเอาไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็อาจจะรับมือได้ไม่ทัน และสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้
โดยเราสามารถประเมินความเสี่ยงเอาไว้ด้วยกัน 2 รูปแบบเพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิด และจัดการกับสภาพคล่องทางการเงินได้ ดังนี้
-
Worst Case Scenario – เมื่อธุรกิจเข้าสู่วิกฤตร้ายแรง
Worst Case Scenario คือ การประเมินถึงสถานการณ์ร้ายแรงที่ธุรกิจจะต้องเผชิญในอนาคต โดยทดลองวางแผนด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในรูปแบบต่างๆ ว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เช่น ยอดขายไม่ได้ตามเป้า จำนวนทรัพยากรที่มีต่อการผลิตไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ฯลฯ
ซึ่งการประเมิน Worst Case Scenario นั้นจะช่วยให้คุณเตรียมรับมือก่อนที่สถานการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในสถานการณ์จริงนั้นจะไม่ได้ตรงกับที่คาดการณ์ไว้ 100% แต่ก็ช่วยให้มองเห็นภาพรวมในแก้ปัญหาได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
-
Best Case Scenario – เมื่อธุรกิจทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์
Best Case Scenario คือ การประเมินสถานการณ์ที่ธุรกิจสามารถทำได้ดีเกินความคาดหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลวิธีที่จะเป็นตัวช่วยสำรองฉุกเฉินยามเกิดเหตุ Worst Case Scenario
ยกตัวอย่างเช่น ยอดขายในเดือนที่ผ่านมาเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้หลายเท่าตัว หากเป็นสถานการณ์ดังนี้จะต้องนำเงินที่ได้ไปต่อยอดอย่างไร พัฒนาองค์กรในส่วนไหน เพื่อให้มีแหล่งเงินทุนสำรอง และกลบจุดด้อยของบริษัทที่อาจส่งผลให้เกิด Worst Case Scenario ในอนาคต
สรุป
ปัจจุบันมีผู้ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเองมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้จะช่วยปูพื้นฐานก่อนก้าวแรก เพราะธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เพราะการวางแผนเตรียมพร้อมอย่างรอบคอบ และหมั่นพัฒนาศักยภาพของธุรกิจอยู่เสมอ
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
