ตั้งแต่วินาทีที่คุณตัดสินใจก่อตั้ง Startup หมายถึงการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่วงจร Startup Stages ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาหรือเอาชนะได้ยาก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะมีธุรกิจ Startup จำนวนมากที่ล้มเหลวภายในช่วงไม่กี่ปีแรกของการก่อตั้ง
รายงานของ Startup Genome ปี 2019 ระบุว่า 90% ของ Startup ที่ล้มเหลวไม่ได้เป็นเพราะความโชคร้ายหรือปัจจัยของสภาวะตลาดที่อยู่เหนือการควบคุมแต่มักเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด การขาดความพร้อมและไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าธุรกิจของตนเองอยู่จุดไหนและจะต้องเดินหน้าต่อไปทางใด
บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จัก Startup Stages ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องรู้ เพื่อเริ่มต้นขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปในแต่ละขั้นได้อย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จ
มาสำรวจกันว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณกำลังอยู่จุดไหนใน Startup Stages ทั้ง 5 ขั้น ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1: Seed Stage
เป็นระยะเริ่มต้นของวงจรธุรกิจ ก่อนที่ Startup จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ คุณจำเป็นต้องมีแนวคิดทางธุรกิจและความพร้อมที่จะลงมือทำ ซึ่งควรนำแนวคิดนั้นมาประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้ด้วยการรวบรวมคำแนะนำและความคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น เพื่อนฝูง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมธุรกิจ หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่คุณสามารถเข้าถึงได้ เพราะความสำเร็จของธุรกิจมักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของคุณ สภาวะของตลาดที่ต้องการจะแข่งขัน และความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนในระยะเริ่มต้น
โดยสรุป นี่คือระยะที่เปิดโอกาสให้คุณพิจารณาความเป็นไปได้ของแนวคิดทางธุรกิจและถามตัวเองว่าคุณมีศักยภาพที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จได้หรือไม่ก่อนจะก้าวสู่ขั้นต่อไป
ขั้นที่ 2: Startup Stage
เมื่อคุณได้ตรวจสอบและปรับปรุงแนวคิดทางธุรกิจอย่างละเอียดทุกแง่มุมจนมั่นใจว่าพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงมือทำธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่าง หลายคนเชื่อว่านี่เป็นระยะที่เสี่ยงที่สุดของวงจรธุรกิจทั้งหมด เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทในปีต่อๆ ไป และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Startup จำนวนมากต้องล้มเหลว
ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในขั้นตอนนี้ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณให้ตอบโจทย์และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าตั้งแต่รายแรก อาจมีปัญหาและข้อเสนอแนะมากมายที่ทำให้คุณรู้สึกสับสน การวางแผนล่วงหน้าที่ดีและฝึกพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบจนได้คำตอบที่ชัดเจนจะช่วยป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้น
ขั้นที่ 3: Growth & Established Stage
ธุรกิจที่อยู่ในขั้นนี้จะเริ่มมีการเติบโตทั้งด้านรายได้และจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้น มีรายได้ประจำที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง มองเห็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้นอย่างช้าๆ แต่สม่ำเสมอ
ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขั้นนี้ คือ การแบ่งเวลาให้กับบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ที่คุณต้องให้ความสนใจมากขึ้น เช่น การจัดการรายได้ที่เพิ่มขึ้น การวางระบบดูแลลูกค้า การรับมือคู่แข่งในตลาด การสรรหาบุคลากรเพิ่มขึ้น ฯลฯ
ทั้งนี้ การจ้างพนักงานที่มีศักยภาพสูงเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งทุกคนควรให้ความสำคัญกับกระบวนการสรรหา เพราะทีมงานที่มีความสามารถจะเข้ามารับช่วงต่อความรับผิดชอบที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพและไว้วางใจได้ ทำให้คุณมีเวลาเหลือไปทำงานส่วนอื่นที่จำเป็นกว่าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ขั้นที่ 4: Expansion Stage
ธุรกิจในระยะนี้มักจะเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในด้านรายได้และกระแสเงินสด เนื่องจากมีการวางรากฐานและสร้างระบบธุรกิจจนมีสถานะที่มั่นคงในอุตสาหกรรมแล้ว แต่ในการทำธุรกิจ หากคุณไม่ก้าวไปข้างหน้า แปลว่าคุณกำลังถอยหลังและอาจถูกคู่แข่งแซงโดยไม่ทันตั้งตัว
ดังนั้น คุณจึงต้องเริ่มคิดถึงการขยายขอบเขตธุรกิจออกไปให้กว้างขึ้น โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจที่รวดเร็วหรือใหญ่โตเกินไปด้วย เนื่องจากการมีโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่เบื้องหลังไม่ได้รับประกันว่าจะได้ผลเช่นเดิมในตลาดอื่นๆ เห็นได้จาก Startup จำนวนมากที่ขยายตัวแล้วล้มเหลว
สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ คือ การวางแผนอย่างรอบคอบ พิจารณาทรัพยากรทั้งหมดที่คุณมีอยู่เพื่อประเมินต้นทุนและผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพสินค้าและบริการที่คุณเคยมอบให้กับลูกค้าในปัจจุบันด้วย
ขั้นที่ 5: Maturity & Exit Stage
เมื่อผ่านขั้นตอนการขยายตัวของธุรกิจแล้ว บริษัทของคุณควรเห็นผลกำไรที่มั่นคงแบบปีต่อปีหรือยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าเจ้าของธุรกิจในขั้นนี้จะต้องเผชิญกับสองทางเลือก คือ ผลักดันให้ธุรกิจขยายตัวต่อไปหรือออกจากวงจรธุรกิจ
หากคุณตัดสินใจที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติม ต้องถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าธุรกิจจะเติบโตต่อไปได้หรือไม่? มีโอกาสเพียงพอสำหรับการขยายตัวหรือเปล่า? ธุรกิจของคุณมีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะรองรับการขยายธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จแค่ไหน? และคำถามที่สำคัญที่สุด คือ คุณมีความเป็นผู้นำที่พร้อมจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในระดับนี้จริงหรือไม่? เพราะมีหลายบริษัทที่เจ้าของตัดสินใจจ้าง CEO มืออาชีพขึ้นมา บริหารงานแทนเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ
ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Startup อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะมองหาโอกาสขายกิจการในขั้นนี้แทนการขยายธุรกิจด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นการขายหุ้นบางส่วนหรือขายทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับมูลค่าบริษัทและการเจรจาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
สรุป
การเข้าใจ Startup Stages จะช่วยให้คุณสามารถเดินเกมธุรกิจได้อย่างมั่นคงท่ามกลางความท้าทายและโอกาส รวมทั้งสามารถคาดการณ์ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นที่ธุรกิจของคุณดำเนินอยู่หรือกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ขั้นต่อไป
ยิ่งธุรกิจ Startup ของคุณเติบโตขึ้นมากเท่าไร การพัฒนาเป้าหมายของธุรกิจ วัตถุประสงค์ การลำดับความสำคัญและวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากขึ้นตามไปด้วย และนั่นคือเหตุผลที่การตระหนักรู้ถึงขั้นตอนของ Startup Stages จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT Express
