SDG Goals คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังเผชิญอยู่อย่างเร่งด่วนที่สุด ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงจะสำเร็จ
บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จัก SDG Goals ให้มากขึ้นพร้อมแนวทางและขั้นตอนการประยุกต์ใช้เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
SDG Goals คืออะไร?
SDG Goals (Sustainable Development Goals) คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ซึ่งผ่านการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2015 โดยมุ่งระดมความพยายามและเรียกร้องให้มีการดำเนินการระหว่างรัฐบาล ธุรกิจ และภาคประชาสังคมทั่วโลก เพื่อจัดการกับปัญหาสำคัญที่มีความท้าทาย เช่น การยุติความยากจน การต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรม รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2030
หลังจากก่อนหน้านี้ ในระหว่างปี 2000 ถึง 2015 ได้มีการจัดทำ Millennium Development Goals (MDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่สำคัญและประสบความสำเร็จในหลายด้าน จึงต่อยอดสู่การจัดทำ SDG Goals เพื่อเพิ่มความท้าทายของเป้าหมายในการขจัดปัญหาที่เชื่อมโยงกันทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Goals 17 ประการ ได้แก่
1. No Poverty : ความยากจนต้องหมดไป
2. Zero Hunger : ความอดอยากต้องหมดไป
3. Good Health and Well-Being : สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
4. Quality Education : การศึกษาที่มีคุณภาพ
5. Gender Equality : ความเท่าเทียมทางเพศ
6. Clean Water and Sanitation : น้ำสะอาดและสุขอนามัย
7. Affordable and Clean Energy : พลังงานสะอาดราคาถูก
8. Decent Work and Economic Growth : งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต
9. Industry Innovation and Infrastructure : อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
10. Reduced Inequalities : ลดความเหลื่อมล้ำ
11. Sustainable Cities and Communities : เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
12. Responsible Consumption and Production : บริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ
13. Climate Action : แก้ปัญหาโลกร้อน
14. Life Below Water : ชีวิตในน้ำ
15. Life on Land : ชีวิตบนบก
16. Peace and Justice Strong Institutions : สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
17. Partnerships for the Goals : ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Goals จึงถือเป็นแผนงานที่ครอบคลุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ โดยระดมข้อมูลสำคัญจากทุกภาคส่วนของประชาคมโลกผ่าน UN Global Compact รวมทั้งมีการนำเป้าหมายนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว โดยรัฐบาลแต่ละประเทศได้รับการคาดหวังให้ประยุกต์ใช้ SDG Goals เป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาตามความเป็นจริงและศักยภาพในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ
5 ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ SDG Goals เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
แม้ว่า SDG Goals จะมุ่งเน้นเป้าหมายที่รัฐบาลเป็นหลัก แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรและธุรกิจได้หลากหลาย เพื่อสร้างกรอบการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจยุคใหม่จึงควรคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและตระหนักถึงบทบาทของภาคธุรกิจที่จะช่วยให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
ต่อไปนี้ คือ 6 ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ SDG Goals เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
1. ระบุเป้าหมายและวางแผนเชิงกลยุทธ์
ขั้นตอนสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ คือ การระบุว่า SDG Goals เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมกับธุรกิจของตนเองอย่างไร เป้าหมายใดมีผลกระทบมากที่สุดในแง่ของความเสี่ยงและโอกาสในระยะยาว พร้อมวางแผนเชิงกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDG ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นจริง
2. พัฒนาเป้าหมายและ KPI
เมื่อบริษัทมีเป้าหมาย SDG ที่สำคัญพร้อมแผนเชิงกลยุทธ์แล้ว ควรพัฒนาเป้าหมายให้มีความชัดเจนและกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (KPI) เพื่อติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงาน ทั้งนี้ บริษัทควรพิจารณาเป้าหมายและ KPI ให้สอดคล้องกับ SDG ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดวิธีการติดตามและวัดผลที่เหมาะสม
3. สร้างโอกาสทางธุรกิจ
นอกจาก SDG Goals จะช่วยกำหนดกรอบการทำงานแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้และเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจจากการส่งเสริมนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย SDG ตามที่วางไว้ อาทิ
- ระบุพื้นที่และกลุ่มชุมชนด้อยโอกาสที่อาจได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อความยั่งยืน
- ลงทุนด้านการศึกษาพร้อมส่งเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่คนในชุมชน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
- สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
4. สร้างความร่วมมือระหว่างกัน
บริษัทเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้เพียงลำพัง ดังนั้น การสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและการทำงานร่วมกันข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมและประเภทธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การประยุกต์ใช้ SDG Goals ประสบความสำเร็จ โดยมีประเด็นที่บริษัทควรพิจารณา อาทิ
- ระบุโอกาสในการทำงานร่วมกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตลอดจนบริษัทต่างๆ ที่สามารถประสานความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายและแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน
- สร้างความร่วมมือกับรัฐบาลและภาคประชาสังคม ด้วยการปรับใช้รูปแบบธุรกิจ เทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการสร้างเสถียรภาพทางการค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจ
5. ประเมินผลและจัดทำรายงาน
ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของตน รวมถึงการรายงานความคืบหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับ SDG Goals โดยมีประเด็นที่บริษัทควรพิจารณาในการประเมินผลและจัดทำรายงาน อาทิ
- การสื่อสารเกี่ยวกับประสิทธิภาพการดำเนินงานในบริบทของ SDG Goals อย่างเปิดเผย และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- การประเมินผลในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาและบูรณาการประเด็น SDG Goals เข้ากับการตัดสินใจทางธุรกิจในอนาคต
สรุป
SDG Goals ยังคงต้องการวิธีคิดใหม่และเป้าหมายที่เชื่อมโยงถึงกัน เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างภาคธุรกิจ รัฐบาล และภาคประชาสังคม ปัจจุบัน มีการจัดทำกรอบแนวทางการประยุกต์ใช้เพื่อให้บริษัทต่างๆ เข้าใจมากขึ้นว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมใน SDG Goals ได้อย่างไร รวมทั้งการนำเสนอแผนงานสำหรับบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรเกี่ยวกับวิธีการสร้างกลยุทธ์ที่ยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนที่พวกเขาดำเนินการอยู่ด้วย
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
